สนพ.ยันไม่ต่ออายุสัมปทานเอสพีพีในนิคมฯ

สนพ.ยันไม่ต่ออายุสัมปทานเอสพีพีในนิคมฯ

สนพ.ยืนมติกพช.ไม่ต่ออายุสัมปทานโรงไฟฟ้าเอสพีพี ในนิคมอุตสาหกรรมที่หมดอายุ

ชี้วงเจรจาร่วมระหว่าง สนพ.,เรคกูเลเตอร์และสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไร้ข้อสรุป เอกชนยังยื้อขอขายไฟให้กฟผ.

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.),คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)หรือเรคกูเลเตอร์ และสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปในทางออก ที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือเอสพีพี ที่จะหมดอายุสัมปทานในการขายไฟฟ้า ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในปี 2560

สนพ.ยังยืนยันในมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาไม่ให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า ทั้งในส่วนของไอพีพีและเอสพีพี ที่จะหมดสัญญาสัมปทาน 25 ปี ยกเว้นจะมีเหตุผลความจำเป็นเรื่องของความต้องการใช้ไฟฟ้าหรือการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งในกรณีของเอสพีพี จำนวน 25 ราย ในปริมาณ 1,787 เมกะวัตต์ ที่จะหมดสัญญาในปี2560 นั้น ทางสนพ.เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะให้กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบต่อไปอีก เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้านอกนิคมอุตสาหกรรมมีปริมาณที่ลดลง การรับซื้อไฟฟ้าโดยให้อัตราค่าไฟฟ้าพิเศษเหมือนช่วงที่ผ่านมา จะเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนผู้บริโภค

ข้อมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอสพีพี นั้น กลุ่มแรกที่จะเริ่มหมดสัญญาในปี 2560 มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 2,908 เมกะวัตต์ โดยส่งขายให้โรงงานต่างๆ 1,121 เมกะวัตต์ และส่งขายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 1,787 เมกะวัตต์ ส่วนเอสพีพีสัญญากลุ่มที่ 2 จะเริ่มหมดอายุในปี 2573 มีกำลังการผลิตที่ขายให้ กฟผ. 1,700 เมกะวัตต์ และสัญญาฉบับที่ 3 ขนาด 3,500 เมกะวัตต์ จะเริ่มเข้าระบบในปี 2573 เป็นต้นไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายใดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD )

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม ซึ่งมีโรงไฟฟ้าเอสพีพีในนิคมอุตสาหกรรม อมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่เดินทางเข้าพบนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวระบุถึงความจำเป็นที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอสพีพี จะต้องดำเนินการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไอน้ำให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่องว่า ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้า มีความกังวล และต้องการความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะมีนโยบายอย่างไรในเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับความต่อเนื่องในระบบการผลิต จึงอยากให้ภาครัฐมองถึงความจำเป็น ของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ