จับตาสงคราม'ค่าเงิน'ปะทุ

จับตาสงคราม'ค่าเงิน'ปะทุ

ธปท.จับตาสวิสช็อกตลาดเงินทั่วโลก ประกาศลอยตัวเงินฟรังก์สวิส คาดกระทบระยะสั้นจากความกังวลนักลงทุน

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ คาดทุนเคลื่อนย้ายส่อไหลเข้าไทย พร้อมประเมิน 2 สกุลเงินโลก “เยน-ยูโร” จ่อทำคิวอีเพิ่ม เปิดศึกสงครามค่าเงิน ขณะหลายประเทศเริ่มทยอยลดดอกเบี้ย

ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ช็อกตลาดเงินด้วยการยกเลิกการผูกติดเงินฟรังก์กับยูโรที่ระดับ 1.2 ฟรังก์ต่อยูโร ซึ่งใช้มา 3 ปีตั้งแต่เกิดวิกฤติหนี้ยุโรป ส่งผลให้เงินฟรังก์พุ่งขึ้นทันทีเกือบ 30% ไปอยู่ที่ 0.8517 ฟรังก์ต่อยูโรเมื่อวันพฤหัสบดี (15 ม.ค.) และปรับตัวลงหลังจากนั้นที่ 1.0199 ฟรังก์ต่อยูโรเมื่อวานนี้ (16 ม.ค.)

นายโธมัส จอร์แดน ประธานธนาคารกลาง กล่าวว่าเหตุที่ยกเลิกการผูกติดเพราะไม่จำเป็นต้องใช้ระบบดังกล่าวอีกต่อไป อีกทั้งระบบดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินไปได้ในระยะยาว พร้อมระบุว่าไม่ได้เคลื่อนไหวเพราะแตกตื่นเกี่ยวกับการคาดหมายล่วงหน้าว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

"หากคุณต้องการยุติมาตรการทำนองนี้ คุณต้องทำให้ตลาดประหลาดใจ" นายจอร์แดนอธิบาย โดยนอกจากยกเลิกการผูกติดแล้ว ธนาคารกลางยังพยายามสกัดกระแสการเข้าถือครองเงินฟรังก์สวิสด้วยการลดดอกเบี้ยเงินที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ฝากไว้กับธนาคารกลางลงอีก 0.5% เป็นติดลบ 0.75% หลังจากเมื่อเดือนที่แล้วได้กำหนดดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษ 70

การที่นักลงทุนหันถือครองเงินฟรังก์สวิสมีขึ้นในช่วงที่อีซีบีกำลังพิจารณาว่าจะออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) หรือไม่ ประกอบกับการเผชิญหน้าระหว่างยุโรปกับรัสเซีย ได้สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินยูโร

"อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวถูกนำมาใช้ในช่วงที่เงินฟรังก์สวิสมีค่าสูงเกินไป ประกอบกับมีความไม่แน่นอนระดับสูงในตลาดการเงิน ขณะนี้แม้ฟรังก์สวิสยังอยู่ในระดับสูง แต่ไม่สูงเกินปัจจัยพื้นฐานมากนัก ขณะที่เศรษฐกิจขณะนี้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้" ธนาคารกลางระบุ

การเลิกการผูกติดมีขึ้นทั้งที่นายจอร์แดนเพิ่งกล่าวเมื่อต้นเดือนว่าระบบนี้เป็นกลางมาก ส่วนรองประธานธนาคารกลางก็กล่าวว่าระบบนี้จะยังเป็นเสาหลักในนโยบายของธนาคาร

ธปท.ชี้สร้างความกังวลระยะสั้น

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนขั้นต่ำของค่าเงินฟรังก์สวิสกับค่าเงินยูโรในครั้งนี้ ไม่น่ากระทบต่อตลาดเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากนัก เนื่องจากเงินฟรังก์สวิสไม่ใช่สกุลเงินที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพียงแต่ระยะสั้น อาจสร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุน

ส่วนค่าเงินบาทไทยนั้น แข็งค่าขึ้นบ้างตามทิศทางของค่าเงินเยนที่มีลักษณะเป็น safe haven อย่างไรก็ตาม ธปท. จะเฝ้าติดตามพัฒนาการของตลาดเงินอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาดการเงินต่อไป

ธนาคารกลางสวิส (เอสเอ็นบี) เริ่มกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของเงินฟรังก์สวิสกับค่าเงินยูโรไว้โดยกำหนดเพดานไม่ให้แข็งค่าไปกว่า 1.2 ฟรังก์ ต่อ 1 ยูโร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.2554 ด้วยเหตุผลว่าขณะนั้นเงินฟรังก์สวิสแข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรมาก ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของสวิส

อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และส่งผลให้ค่าเงินฟรังก์สวิสอ่อนค่าลงตามไปด้วย ประกอบกับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) กำลังเตรียมการเข้าซื้อพันธบัตร(Public QE) ซึ่งอาจทำให้เงินยูโร อ่อนค่าลงต่อไปอีก ซึ่งการผูกค่าเงินไว้นานเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นเมื่อภาวะที่ค่าเงินฟรังก์สวิสไม่ได้โอเวอร์แวลูมากเท่ากับเมื่อปี 2554 เอสเอ็นบี จึงเห็นว่า น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่จะยกเลิกเพดานดังกล่าว

การยกเลิกเพดานขั้นต่ำทำให้กลไกตลาดสามารถหาอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ ที่สะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริงซึ่งระยะแรก อัตราแลกเปลี่ยนอาจผันผวนมากจนเกินไป(overshoot) ไปบ้าง แต่ก็กลับมาอยู่ที่ประมาณ 1 ฟรังก์ต่อ 1 ยูโร ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนก่อนที่จะมีการนำอัตรา 1.2 มาใช้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ชี้สวิสรับผลกระทบอียูทำคิวอี

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การตัดสินใจยกเลิกเพดานค่าเงินฟรังก์สวิสของ เอสเอ็นบี น่าจะเป็นเพราะเอสเอ็นบีต้องการเลี่ยงผลกระทบหาก อีซีบี ตัดสินใจใช้มาตรการคิวอี

“เอสเอ็นบีคงไม่อยากรับผลกระทบจากคิวอีของอีซีบี เพราะรู้ว่าอีกไม่นานอีซีบีคงพิมพ์เงินออกมาแน่ๆ ดังนั้นถ้าเงินฟรังก์ยังยึดติดกับยูโรอยู่ ผลที่เกิดขึ้นจะต้องมีเงินทุนไหลเข้าสวิสฯ จำนวนมาก เป็นภาระของเอสเอ็นบีที่ต้องคอยปกป้องค่าเงิน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เอสเอ็นบีมองว่าไม่ไหว เขาจึงต้องตัดสินใจปล่อยค่าเงินลอยตัว”นายพิพัฒน์ กล่าว

การที่เอสเอ็นบีปล่อยให้ค่าเงินฟรังก์สวิสลอยตัว น่าจะส่งผลดีใน 2 ด้าน คือ ช่วยชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และชะลอการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะที่ผ่านมาค่าเงินฟรังก์สวิสไม่ต่างจากฟรีมันนี่ คือ เงินไหลเข้ามาเท่าไรก็มีคนรับซื้อในอัตราเท่าเดิม

จับตาเงินไหลเข้าไทย

สำหรับผลกระทบต่อเงินบาทไทยนั้น นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นชัดจากการลอยค่าเงินฟรังก์ คือ เงินเยนแข็งค่าขึ้น เพราะเวลาที่มีความผันผวนในตลาดเงิน คนมักกลับไปหาเงินเยน แต่ในระยะข้างหน้าทั้งญี่ปุ่นและยูโร มีแนวโน้มว่าจะทำคิวอีเพิ่ม ซึ่งเกรงว่ากรณีนี้จะนำไปสู่สงครามค่าเงินได้

“ดูเหมือนว่า 2 เงินสกุลหลักของโลก กำลังเข้าสู่ภาวะสงครามค่าเงิน พยายามทำให้เงินตัวเองอ่อนค่าลง ขณะที่ประเทศอื่น เริ่มตั้งคำถามว่า จะทำยังไงต่อไป ซึ่งแนวโน้มจากนี้ไปเชื่อว่าเงินคงจะไหลเข้าในสกุลเงินที่แข็งค่า หรือสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ยสูงอยู่ โอกาสที่เงินจะไหลเข้าไทยจึงมีความเป็นไปได้”นายพิพัฒน์กล่าว

"เรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลยแนวโน้มเงินบาทก็คงแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วบางแห่งเริ่มลดดอกเบี้ยลง เพื่อลดแรงจูงใจการไหลเข้าของเงินทุน ทำให้ต้องโดดร่วมสงครามค่าเงินไปโดยปริยาย"

อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทย การลดดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องคิดกันอย่างรอบคอบ เพราะยังมีความเสี่ยงในเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมทั้งราคาสินทรัพย์บางชนิดอาจเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ นำไปสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพการเงิน จึงเป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

หวั่นเกิดสงครามค่าเงิน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ระบุว่ามาตรการดังกล่าว อาจทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Currency War) เพื่อทำให้ค่าเงินอ่อน และเป็นการรักษาความได้เปรียบทางด้านการส่งออก ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลงได้

สำหรับค่าเงินฟรังก์ที่แข็งค่าขึ้น อีไอซี ประเมินว่า ไม่ได้ช่วยการส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากการส่งออกของไทยไปสวิสฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.6% ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามผลกระทบกับผู้นำเข้าคงมีบ้างในกลุ่มสินค้าหรูหรา เช่น เครื่องประดับ และนาฬิกา โดยการนำเข้าจากสวิสฯ คิดเป็นเพียง 3% ของนำเข้าทั้งหมด

อีซีบีเล็งตัดสินใจปริมาณคิวอี

นักลงทุนในตลาดมองว่าธนาคารกลางสวิสเคลื่อนไหวเช่นนี้เพราะคาดว่าหมายว่าในการประชุมในวันที่ 22 ม.ค. อีซีบีอาจเผยแผนการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในรูปของคิวอีปริมาณมหาศาลเพื่อต้านทานแรงกดดันเงินฝืด อันจะทำให้การผูกติดเงินฟรังก์ไว้กับยูโรต้องใช้เงินมากขึ้น

นายเบอนัวต์ คูเร ซึ่งเป็นหนึ่งในบอร์ดอีซีบี กล่าวว่าในการประชุมสัปดาห์หน้า อีซีบีจะนำประสบการณ์ของสหรัฐและอังกฤษมาพิจารณา ในการตัดสินใจเกี่ยวกับปริมาณการทำคิวอี เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและดันเงินเฟ้อให้ใกล้ระดับ 2%

"เราจะพิจารณาด้วยว่าการทำคิวอีจะสร้างผลถึงหนี้สินของบางประเทศหรือไม่ หรือควรกระจายให้ทั่วยูโรโซน" นายคูเรระบุ ซึ่งคำพูดนี้นับเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดว่าอีซีบีจะทำคิวอี

ส่งออก-ท่องเที่ยวสวิสอ่วม

บริษัททั่วสวิตเซอร์แลนด์เตือนว่าการเลิกผูกติดค่าเงิน จะทำให้กำไรลดลงเพราะเงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้น โดยอุตสาหกรรมสินค้าหรูหราและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งนี้ สินค้าส่งออกกว่า 40% ของสวิส เป็นการส่งออกไปยังยูโรโซน

นายนิค เฮเยก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทนาฬิกา สวอทช์ กล่าวว่าการเคลื่อนไหวของธนาคารเป็นเหมือนสึนามิสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกและท่องเที่ยว รวมถึงสำหรับทั้งประเทศ ด้านธนาคารยูบีเอสระบุว่าการยกเลิกการผูกติดจะทำให้การส่งออกลดลง 5,000 ล้านฟรังก์ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหายไป 0.7%

หุ้นสวิสดิ่งลงทันทีกว่า 10% เมื่อวันพฤหัสบดี (15 ม.ค.) ถือเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 25 ปีเป็นอย่างน้อย และปิดตลาดร่วงลงไป 8.7% ส่วนวานนี้ (16 ม.ค.) หุ้นลดลงกว่า 3% ในช่วงแรกของการซื้อขาย นายไอเพค ออซคาร์เดสคายา นักวิเคราะห์แห่งสวิสโควต กล่าวว่าการเข้าแทรกแซงอย่างหนักเพื่อปกป้องการผูกติดค่าเงิน น่าจะเป็นสาเหตุให้ธนาคารกลางต้องยกเลิกการผูกติดในที่สุด

นายเอด พาร์คเกอร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฟิทช์ กล่าวว่าแม้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินเป็นเหตุการณ์สำคัญ เพราะบ่งบอกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสวิส แต่การยกเลิกการผูกติดไม่กระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสวิตเซอร์แลนด์ในขณะนี้

ด้านนางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่านายจอร์แดนไม่ได้ติดต่อเพื่อแจ้งว่าจะยกเลิกการผูกติด ดังนั้นเธอจึงรู้สึกประหลาดใจเล็กน้อยที่นายจอร์แดนไม่ได้ติดต่อไป แต่ไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจยกเลิกการผูกติดของธนาคารกลางสวิส

หุ้นร่วง-ทองพุ่งรอบ4เดือน

ดัชนีนิกเคอิในตลาดโตเกียวปิดตลาดวานนี้ ร่วงลง 1.43% หรือ 244.54 จุด ดัชนีหั่งเส็งในตลาดฮ่องกงร่วงลง 1.02% หรือ 247.39 จุด อันเป็นการปรับตัวลงตามตลาดอื่นในภูมิภาค เพราะนักลงทุนแตกตื่นกับการเลิกผูกติดเงินฟรังก์ของสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดหุ้นสิงคโปร์ร่วงลง 1.14% หรือ 38.16 จุด หุ้นจาการ์ตาลดลง 0.78% หรือ 4.33 จุด หุ้นมาเลเซียลดลง 0.08% หรือ 1.43 จุด

ส่วนราคาทองคำในตลาดสิงคโปร์อยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 เดือน โดยราคาทองคำซื้อขายทันทีอยู่ที่ 1,259 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพราะนักลงทุนหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน นักวิเคราะห์ของเอชเอสบีซีมองว่าราคาทองคำอาจสูงขึ้นอีก อันเป็นผลพวงต่อเนื่องจากกรณีของสวิตเซอร์แลนด์

เฮดจ์ฟันด์-เก็งกำไรขาดทุนหนัก

นักเก็งกำไรค่าเงินและกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) ที่ถือครองเงินฟรังก์ไว้ในระยะสั้น ขาดทุนอย่างหนักท่ามกลางการเก็งกำไรกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์ว่าเงินฟรังก์จะอ่อนค่าลง นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวของสวิตเซอร์แลนด์ยังส่งผลให้บริษัทแลกเปลี่ยนเงินตราแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ประกาศปิดทำการวานนี้ หลังจากขาดทุนอย่างหนัก ด้านบริษัทเอฟเอกซ์ซีเอ็ม ซึ่งซื้อขายเงินตราในนิวยอร์ก กล่าวว่าอาจมีเงินทุนไม่ถึงตามกฎที่วางไว้ เพราะอาจขาดทุนถึง 225 ล้านดอลลาร์

ส่วนบริษัทโบรกเกอร์แลกเปลี่ยนเงิน อัลพารี ยูเค ในกรุงลอนดอน ประกาศล้มละลาย หลังจากลูกค้าหลายรายขาดทุนสืบเนื่องจากการพุ่งขึ้นของเงินฟรังก์