ศาลสั่งส่งตัว'หนุ่มปากีฯ'กลับอินเดียดำเนินคดี

ศาลสั่งส่งตัว'หนุ่มปากีฯ'กลับอินเดียดำเนินคดี

ศาลอาญาสั่งส่งตัว"หนุ่มปากีฯ" ผู้ต้องหา บงการวางบึ้ม-ลอบฆ่ารมต.อินเดีย-พลเรือนดับ18ศพ กลับอินเดียดำเนินคดี

พนักงานสอบสวน สภ.หนองปรือ จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยหน่วยปฏิบัติการพิเศษภูธรจังหวัดชลบุรี ได้ควบคุมตัว นายแจ็คตาร์ ซิงห์ หรือซาดุห์ ซิงห์ หรือทาร่าสิงห์ หรือเกอร์มีท ซิงห์ (Jagtar หรือ Sadhu หรือ Tara หรือ Gurmeet Singh) อายุ 37 ปี ชาวปากีสถาน ผู้ต้องหาตามหมายจับประเทศอินเดีย มาเพื่อให้ พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ยื่นคำร้องขอให้ศาลตรวจสอบความยินยอมของผู้ต้องหาและคุมขังตัว เพื่อจะส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน กลับไปดำเนินคดีที่ ประเทศสาธารณรัฐอินเดีย รวม 6 คดี

โดยคำร้องพนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค.57 อัยการผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญา ออกหมายจับชั่วคราว ผู้ต้องหา ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 มาตรา 15 เพื่อนำตัวผู้ต้องหา ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดีย รวม 6 คดี ประกอบด้วย 1. คดี FIR 39 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มี.ค.34 ที่ร่วมกับพวกรวม 4 คน วางแผนซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่หมู่บ้านปาเทอรี จัตตัน อ.รูปนาการ์ โดยศาลแขวงท้องที่ อ.รูปนาการ์ ออกหมายจับผู้ต้องหา ฐานพยายามฆ่า ก่อเหตุจลาจลโดยใช้อาวุธร้ายแรง และเป็นสมาชิกของกลุ่มบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย

2.คดี FIR NO.96 เหตุเกิดมื่อวันที่ 31 ส.ค. 38 ผู้ต้องหาซึ่งเป็นตัวการสำคัญกับพวก ร่วมกันวางแผนลอบสังหารนายบีนต์ ซิงห์ ( Beant Singh) หัวหน้าคณะรัฐมนตรี ของแคว้น Panjab ด้วยระเบิดพลีชีพทำลายล้างสูง ทำให้รัฐมนตรีและผู้อื่นเสียชีวิตรวม 18 คน และได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 20 คน ซึ่งระหว่างพิจารณาคดีในศาล ผู้ต้องหาได้หลบหนีออกจากเรือนจำบุเรล ด้วยการร่วมกับพวกขุดอุโมงค์หลบหนีออกจากเรือนจำดังกล่าวไปได้เมื่อปี 2547 แต่ต่อมาพวกของผู้ต้องหาถูกจับกุมได้ที่กรุงเดลี แต่ตัวผู้ต้องหาได้หลบหนีไปประเทศปากีสถาน โดยคดีดังกล่าว พวกของผู้ต้องหารวม 8 คน ถูกศาลตัดสินให้ประหารประชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุก 10 ปี

3.คดี FIR 17 เหตุเกิดวันที่ 22 ม.ค.47 ระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำบุเรลในคดีอื่น ได้ร่วมกับพวกขุดอุโมงค์หลบหนีออกจากเรือนจำ ต่อมาศาลแขวงประเทศอินเดีย จึงได้ออกหมายจับผู้ต้องหาลงวันที่ 26 ก.ย.57

4.คดี FIR NO. 279 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 ก.ค.52 ระหว่างผู้ต้องหาหลบหนีไปประเทศปากีสถาน ได้บงการและร่วมกับพวก ฆ่านายรุลดา ซิงห์ ( Rulda Singh) ประธาน Rashtriya Sikh Sangat ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล และได้ระดมทุนเพื่อก่อการร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ต่อมาศาลแอลดี เอสเอช จักมีต ซิงห์ พีซีเอส ( Sh. Jagmeet Singh PCS)ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 23 ก.ย.56

5.คดี FIR 103 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 ก.ย.52 สืบเนื่องจากที่มีการนายมันจิต ซิงห์ @ จีตาดอน ( Manjit Singh @ Jeeta Don) ผู้ต้องหาชาวปากีสถาน ที่ให้การว่าผู้ต้องหาคดีนี้ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการฝึกยุทธวิธีก่อการร้าย วางแผนสังหารบุคคลระดับสูงและผู้นำศาสนาสำคัญของประเทศอินเดีย โดยได้รับเงินสนับสนุนจากผู้ร่วมขบวนการที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย

6.คดี FIR No.137 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ก.ย.55 สืบเนื่องจากมีการจับกุมนายกุลบิร ซิงห์ บาราปินด์ ( Kulbir Singh Bardping ) หลังจากที่มีการก่อการร้ายขึ้นหลายครั้ง ซึ่งพวกของผู้ต้องหาได้หลบหนีไปประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังอินเดีย และจากการสืบสวนพบว่า ผู้ต้องหาเป็นหนึ่งตัวการสำคัญร่วมกระทำการมุ่งประสงค์ต่อบุคคลสูงสุด โดยใช้วัตถุระเบิดและอาวุธซับซ้อนซึ่งศาลประเทศอินเดียได้ออกหมายจับผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 26 ก.ย.57

โดยความผิดทั้ง 6 คดี มีอัตราโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี และรัฐบาลอินเดียให้การรับรองว่า คดียังไม่หมดอายุความ ซึ่งวันที่ 3 ต.ค.57 ศาลอาญา ได้ออกหมายจับผู้ต้องหา แล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค.58 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ จึงนำส่งพนักงานอัยการตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ ม.27 และเจ้าพนักงาน ได้สอบถามผู้ต้องหาแล้ว ปรากฏว่าผู้ต้องหาแสดงความยินยอมให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดียเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยความสมัครใจ อัยการผู้ร้อง จึงขอให้ศาลตรวจสอบความยินยอมดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขังผู้ต้องหาไว้เพื่อส่งตัวข้ามแดน กลับไปดำเนินคดีตามคำร้องของประเทศอินเดีย ขณะที่ท้ายคำร้อง อัยการก็ได้คัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องห้ด้วย เนื่องจากเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหากได้รับการปล่อยตัว และจะกระทบกระเทือนต่อความสำคัญระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงด้วย

ขณะที่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วเป็นคดีหมายเลขดำ อผ.1/2558 ต่อมาเวลา 17.00 น. ศาลได้สอบถามผู้ต้องหา ผ่านล่ามภาษาอังกฤษโดยอ่านและอธิบายคำร้องให้ฟัง ซึ่ง ผู้ต้องหาไม่คัดค้านและขอให้ความยินยอมส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนและไม่ติดใจจะยื่นอุทธรณ์

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นบุคคลตามคำร้องขอเป็นผู้ร้ายข้ามแดนและต้องการเดินทางไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดียตามคำยินยอมและยืนยันในความต้องการดังกล่าวโดยสมัครใจจริงจึงมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดียและให้ขังไว้เพื่อรอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตาม มาตรา 22 พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551

ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การยื่นคำร้องในวันนี้เพื่อให้ศาลสอบถามใน 2 ประเด็นคือ 1.เป็นบุคคลคนเดียวกับที่ศาลออกหมายจับหรือไม่ และ2.บุคคลนั้นยินยอมที่จะกลับไปดำเนินคดีในประเทศที่ร้องขอตัวมาหรือไม่ หากผู้ต้องหานั้นยอมรับและยินยอมพร้อมจะกลับประเทศ ศาลก็จะมีคำสั่งให้ส่งตัวกลับได้ทันที ซึ่งระยะเวลาในการส่งตัวก็จะต้องเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย แต่หากผู้ต้องหานั้นปฏิเสธตามกฎหมายไทยศาลก็จะต้องดำเนินการนัดไต่สวนพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาในประเด็นที่ว่าเป็นบุคคลตามหมายจับหรือไม่และมีพฤติการณ์ที่กระทำผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาปฏิเสธดังกล่าวก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีในการไต่สวนพยานหลักฐาน โดยศาลจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ซึ่งจะคล้ายกับกรณีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของนายวิคเตอร์ บูท ที่ประเทศสหรัฐ ฯ เคยขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งอัยการจะรวบรวมพยานหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้มีการประสานขอส่งตัวผู้ต้องหาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากได้กระทำผิดในประเทศต้นทางนั้นๆไว้ รวมทั้งจะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าวอยู่ในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่ร้องขอ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมืองและไม่เกี่ยวข้องกับทางทหารแต่อย่างใด