วอน'คนสื่อ-นักธุรกิจสื่อฯ'ให้ความสำคัญปฏิรูป

วอน'คนสื่อ-นักธุรกิจสื่อฯ'ให้ความสำคัญปฏิรูป

สมาคมนักข่าวฯ วอน “คนสื่อ-นักธุรกิจสื่อฯ” ให้ความสำคัญปฏิรูป วางเป้าสื่อต้องไม่ถูกแทรกแซง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อประจำปี 2557 ในหัวข้อ "ก้าวสู่ปีการปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ" โดยมีสาระสำคัญ คือ ปี 2557 ที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้ทำงานภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมทางการเมืองที่มีการก่อเหตุร้ายรายวันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยมีสื่อมวลชน ช่างภาพที่เข้าไปทำหน้าที่รายงานสถานการณ์เพื่อนำข้อมูลข้อเท็จจริงและภาพข่าวนำเสนอต่อประชาชน รวม 9 คน ได้รับบาดเจ็บแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้กระทำดังกล่าวได้ นอกจากนั้นยังพบว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนยังถูกกดดันการทำงาน ที่นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิและการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

นอกจากนั้นสื่อมวลชนยังถูกวิจารณ์ว่าทำหน้าที่ไม่สร้างสรรค์ เสนอข่าวไม่รอบด้าน ไม่เป็นธรรมและเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นความโกลาหลในแวดวงสื่อ เนื่องจากมีคนและกลุ่มคนเข้าใช้สื่อเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและประโยชน์อื่น ทำให้สื่อมวลชนไม่ได้ทำหน้าที่ตามหลักการวิชาชีพที่ควรจะเป็น ขณะที่ กสทช. มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงก็ไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อไม่สามารถกำกับดูแลด้านจริยธรรมได้ นอกจากนั้นการทำหน้าที่สื่อฯ ยังได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97 และ 103 ที่ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อทุกประเภท รวมทั้งตัวแทน คสช. กองทัพและรัฐบาลยังเชิญบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว เจ้าของสื่อไปพบอยู่เป็นระยะๆ ส่งผลกระทบให้เกิดข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการทำหน้าที่ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและการแลกเปลี่ยนความเห็น

รายงานสถานการณ์สื่อประจำปี 2557 ระบุถึงประเด็นปฏิรูปสื่อมวลชน ด้วยว่า การปฏิรูปสื่อสู่การปฏิวัติคนข่าว-อภิวัฒน์สื่อ ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ถือเป็นประเด็นที่คนในวงการวิชาชีพสื่อมวลชนต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายและทิศทางการปฏิรูปสื่อ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ เสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน สื่อมวลชน และสื่ออื่นที่ต้องไม่ถูกแทรกแซงภายใต้การรับประกันจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนั้นประชาชนและนักสื่อสารมวลชนสามารถต้องมีสิทธิ์เขาถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่ไม่ถูกปิดกั้นโดยมการบัญญัติไว้ในกฎหมาย ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมวิชาชีพ มาตรฐานของการรายงานข่าวตามหลักการพื้นฐาน คือ ความถูกต้อง รอบด้านและแม่นยำในข้อเท็จจริง มีความสมดุลในเนื้อหา ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ครอบคลุมเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ ท้องถิ่น อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนความอิสระของกองบรรณาธิการสื่อฯ ต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ, ทุน หรืออิทธิพลใดๆ โดยเจ้าของสื่อต้องไม่ก้าวก่ายความเป็นอิสระขอกองบรรณาธิการ และต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจสื่อรวมตัวเพื่อสร้างข้อตกลงและหลักประกันเรื่องความเป็นอิสระ และรัฐบาลต้องไม่ใช้อำนาจในการซื้อสื่อโฆษณา หรือ ประชาสัมพันธ์มาเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงเนื้อหาและทำลายความเป็นอิสระของสื่อ

“ในยุคการถือครองสิทธิข้ามสื่อควรมีกฎหมาย หรือการกำกับดูแลเกี่ยวกับการแข่งขันอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการกระจุกตัวและผูกขาดของกลุ่มธุรกิจสื่อ และต้องมีมาตรการป้องกันมิให้มีการผูกขาด และครอบงำข่าวสาร ซึ่งจะมีผลต่อการขัดขวางสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน นอกจากนี้ เงินเดือน สวัสดิการของนักข่าวและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทุกประเภทต้องมีความเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีและสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมต่างๆ ที่เป็นหลักสูตรอย่างเป็นทางการ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาเพิ่มพูนทักษะอยู่ตลอดเวลา สำหรับสื่อภาคพลเมือง และสื่อชุมชนก็ต้องมีแนวปฏิบัติในการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ และแนวปฏิบัติตามหลักจริยธรรม มีการรวมกลุ่ม มีองค์กรเพื่อกำกับดูแลกันเองในด้านจริยธรรม ทั้งนี้ ต้องมีความเป็นอิสระและไม่ถูกแทรกแซง หรือคุกคามจากรัฐและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่นกัน” รายงานจากสมาคมนักข่าวฯ ระบุ

นอกจากนั้น สมาคมนักข่าวฯ ยังได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตระหนักถึงการทำหน้าที่ภายใต้หลักการ "เสรีภาพบนความรับผิดชอบ" เพื่อให้การทำหน้าที่สื่อที่มุ่งปกป้องผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ การวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ที่เป็นไปโดยสุจริต มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนต้องไม่ถูกแทรกแซงหรือกดดันจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง