เผยเกษตรกรเชื่อราคามันสำปะหลังแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เผยเกษตรกรเชื่อราคามันสำปะหลังแนวโน้มเพิ่มขึ้น

"แม่โจ้โพลล์" เผยเกษตรกร 43.42% เชื่อราคามันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

"แม่โจ้โพลล์" เผยเกษตรกร 43.42% เชื่อราคามันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังพื้นที่ปลูกลดลง ผลผลิตออกสู่ตลาดมีน้อย วอนภาครัฐช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตด้วยการชดเชยเงินต่อไร่ พร้อมหนุนให้นำมันสำปะหลังไปผลิตเป็นเอทานอล

ดร.พิมพ์ชนก สังข์แก้ว รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร ด้านวิชาการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร หรือแม่โจ้โพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จากภาคเหนือ ร้อยละ 48.64 ภาคกลางและภาคตะวันออก ร้อยละ 26.67 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 24.69 จำนวนทั้งสิ้น 853 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม 2557 ในหัวข้อ “อนาคตมันสำปะหลัง ในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจปัญหาและความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง แนวโน้มของราคาผลผลิตตามความคิดเห็นของเกษตรกร และ ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียนต่ออาชีพการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร

จากการสอบถามถึงแนวโน้มของราคามันสำปะหลังในปีการผลิต 2557/2558 เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.42 เห็นว่าราคาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากพื้นที่การผลิตลดลง ส่งผลให้มีผลผลิตในตลาดน้อย รองลงมา ร้อยละ 32.74 เห็นว่าราคาจะเท่ากับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ อีกร้อยละ 23.84 เห็นว่าราคาจะมีแนวโน้มลดลง โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากไม่มีการรับประกันราคา จึงอาจถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาได้ โดยเกษตรกรคาดหวังราคาหัวมันสด เชื้อแป้ง 30% อยู่ที่ 3.23 บาทต่อกิโลกรัม และคาดหวังราคาหัวมันสด เชื้อแป้ง 25% อยู่ที่ 2.76 บาทต่อกิโลกรัม

เมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดปัญหาต้นทุนการผลิตสูง พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 55.78 เห็นว่าค่าปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืชเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด รองลงมา ร้อยละ 40.21 คือค่าจ้างแรงงาน และ อีกร้อยละ 4.01 คือค่าพันธุ์ ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงรูปแบบของความต้องการในการช่วยเหลือจากรัฐบาล ต่อการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลัง พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 62.84 ต้องการความช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต เป็นเงินชดเชยต่อไร่ อันดับ 2 ร้อยละ 23.6 ต้องการการส่งเสริมสนับสนุนให้นำมันสำปะหลังไปผลิตเป็นเอทานอล และส่งเสริมการใช้เอทานอลอย่างจริงจัง

อันดับ 3 ร้อยละ 14.8 ต้องการการส่งเสริมความรู้ในการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น อันดับ 4 ร้อยละ 12.78 ต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อการลงทุน อันดับ 5 ร้อยละ 9.0 ต้องการให้ส่งเสริมให้มีลานตากมันชุมชนเพื่อลดความชื้นและเพิ่มปริมาณแป้งเพื่อให้ขายผลผลิตให้ได้ราคาสูง อันดับ 6 ร้อยละ 8.1 ต้องการการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มแปรรูปมันเส้นในระดับชุมชน และอันดับ 7 ร้อยละ 5.6 ต้องการเงินจูงใจเพื่อให้เกษตรกรชะลอการขุดหัวมันขาย เพื่อรอให้ราคาในท้องตลาดสูงขึ้น

และเมื่อถามถึงผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียนที่จะมีต่ออาชีพการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร พบว่า ร้อยละ 44.84 ยังไม่แน่ใจ เนื่องจากยังไม่ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 28.99 เชื่อว่าจะประสบกับปัญหา เนื่องจากจะทำให้มีผลผลิตเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาอาจลดลง รวมถึงไทย จะไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่งขัน ในขณะที่อีกร้อยละ 26.17 เชื่อว่าจะไม่ประสบปัญหา เนื่องจากจะทำให้มีตลาดกว้างขึ้น มีความต้องการผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และหากภาครัฐต้องการจะลดพื้นที่ การเพาะปลูกมันสำปะหลังลงในอนาคต พบว่าร้อยละ 76.00 เลือกที่จะปลูกพืชไร่ ได้แก่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย ทดแทนมากที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 24.00 เลือกที่จะปลูกพืชสวน ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลอื่น ๆ

จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มทางการตลาดของมันสำปะหลังในสายตาของเกษตรกรมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณความต้องการในตลาดโลกที่ยังคงมีสูง ภาครัฐจึงควรสนับสนุนการเพาะปลูกมันสำปะหลัง หรือกำหนดให้มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ควรได้รับการส่งเสริม อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรวางแผนแก้ไขปัญหาผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้น หลังการดำเนินนโยบายพืชเศรษฐกิจดังกล่าวอีกด้วย เช่น การส่งเสริมการผลิต เอทานอลอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับพืชชนิดอื่นที่เคยประสบมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ภาครัฐยังควรแนะนำและให้ความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

มันสำปะหลัง เป็นพืชที่เก็บสะสมอาหารในรูปของคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง ไว้ในราก หรือหัวมัน คิดเป็นอัตราส่วนประมาณร้อยละ 70 - 80 ของหัวมัน โดยทั่วไปหัวมันจะมีอายุ 12 เดือน มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกอยู่ในเขตร้อน เหมาะสมในดินร่วนปนทราย เป็นพืชทนแล้ง จึงสามารถทำการปลูกได้ในดินทุกชนิด แม้แต่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ประเทศไทยจึงสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ทุกภาค และปลูกได้ตลอดปี แต่เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) และช่วงปลายฤดูฝน (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) เนื่องจากจะทำให้ได้ผลผลิตสูงกว่าในช่วงอื่นๆ