กลต.ตีกรอบ6ประเด็น คุมรัฐวิสาหกิจตลาดหุ้น

กลต.ตีกรอบ6ประเด็น คุมรัฐวิสาหกิจตลาดหุ้น

กลต.แนะรัฐสร้างความชัดเจน 6 ประเด็น คุมรัฐวิสาหกิจในตลาดหุ้น ชี้บทบาทขัดแย้งกัน

ระหว่างเดินตามนโยบายรัฐกับผลตอบแทนผู้ถือหุ้น แนะควรเลิกให้บริษัทแม่ส่งคนมานั่งเป็นซีโอโอในบริษัทลูก จี้รัฐเลิกสิทธิพิเศษหนุนแข่งขันเอกชน ด้านสคร.ดึงรายงานซีจีเวิลด์แบงก์ ระดมความเห็นทำร่างพ.ร.บ.สคร. คาดเริ่มใช้ปีหน้า

วานนี้ (20 พ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการนโนบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จัดสัมมนาเรื่อง"การปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการที่ดีของรัฐวิสาหกิจไทย" เพื่อระดมความเห็น มาใช้ในการวางกรอบทำร่างกฎหมายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า สคร.อยู่ระหว่างร่างกฎหมายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการที่ดีของรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดในเดือนธ.ค. โดยจะนำโครงร่างพ.ร.บ.สคร.เดิมที่ทำไว้เมื่อปี 2554 มาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมระดมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำแนวทางการกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจทั่วโลกที่เวิลด์แบงก์ได้รวบรวมไว้มาเป็นแนวทางด้วย

โดยสคร.จะนำเสนอกรอบกฎหมายเบื้องต้น ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดในเดือนธ.ค.นี้ คาดว่าจะนำเสนอร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์ต่อ คนร. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือนก.พ.-มี.ค.2558 เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ได้ในปี 2558

“ ซีจีเป็นหลักการกำกับดูแลที่สำคัญ ช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ปลอดจากการแทรกแซงจากการเมือง หรือการแทรกแซงอันไม่พึงประสงค์ แผนงานสำคัญในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้ปลอดจากการแทรกแซงไม่พึงประสงค์”

วางกรอบลดซ้ำซ้อน-ล้วงลูก

สำหรับกรอบ ที่สคร.จะนำเสนอให้เป็นตุ๊กตาสำหรับทำร่างกฎหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย การสร้างองค์กรกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพรวม การแยกภารกิจในการเป็นเจ้าของ ผู้ถือหุ้น ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรการกำกับดูแล (เรคกูเลเตอร์)ให้ชัดเจน มีการกำกับการแต่งตั้งกรรมการ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ แบ่งแยกภารกิจของบอร์ดกับฝ่ายบริหารไม่ให้มีการล้วงลูก หรือซ้ำซ้อนกัน จากปัจจุบันที่บางครั้งคลังก็คุยกับผู้บริหารโดยตรง โดยที่บอร์ดไม่รับรู้

นอกจากนี้ยังต้องกำกับการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามพันธกิจ ทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส มีแผนบริหารความเสี่ยง วางระบบประเมินผลการดำเนินงาน หรือ เคพีไอ ให้สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริง สร้างระบบจูงใจให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน แม้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน แต่หากตั้งใจทำงานได้ตามแผน ก็มีสิทธิได้รับผลตอบแทน และมีบทลงโทษหากทำงานไม่ได้ตามแผน

ขณะเดียวกันต้องมีการทำบันทึกข้อตกลงกันระหว่างกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น บอร์ด และฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจเพื่อเชื่อมโยงการทำงาน และร่วมกันรับผิดชอบ และแบ่งบทบาทหน้าที่กันให้ชัดเจน พร้อมกับอนุญาตให้รัฐวิสาหกิจสามารถจ้างผู้สอบบัญชีอิสระ หรือหน่วยงานอิสระที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ความเห็นชอบมาช่วยตรวจสอบงบรัฐวิสาหกิจอีกทางหนึ่ง

ก.ล.ต.จี้รัฐ 6ประเด็นดูแลรสก.

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ อยากให้รัฐบาลสร้างความชัดเจนใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. รัฐบาลควรจะกำหนดบทบาทของรัฐวิสาหกิจโดยคำนึงถึงบทบาทของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ด้วย เพราะบางครั้งบทบาทขัดแย้งกัน เพราะต้องดำเนินงานตามบทบาทของรัฐวิสาหกิจ และ ต้องทำตามกฎของการเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ต้องดูแลผู้ถือหุ้นด้วย

2. การแต่งตั้งซีโอโอของรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียน โดยเฉพาะกรณีที่ส่งพนักงานของบริษัทแม่ไปนั่งเป็นซีโอโอในบริษัทลูกซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน ถือว่าไม่เหมาะสม ควรจะมีการทบทวน เพราะทำให้การทำงานของซีอีโอไม่ชัดเจน ว่าจะทำเพื่อบริษัทแม่ หรือบริษัทลูก

ชี้ต้องให้รสก.แข่งขันธุรกิจเอกชน

3.ต้องคำนึงถึงการแข่งขัน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ต้องทำธุรกิจแข่งกับเอกชน รัฐบาลไม่ควรอุดหนุน หรือให้สิทธิพิเศษมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เอกชนที่เป็นคู่แข่งฟ้องร้องได้ แม้รัฐจะมีหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ต้องดูแลเอกชนรายอื่นด้วย สร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน 4.กำหนดพันธกิจดูแลผู้ถือหุ้นรายย่อย สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียน 5. บทบาทความรับผิดชอบของกรรมการ และ6.การเปิดข้อมูลให้ครบถ้วน ลดปัญหาการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์)

“ การกำหนดนโยบายและแนวทางของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนทั้ง 6 แห่งจะต้องทำให้ชัดเจน คำนึงถึงการแข่งขันในตลาด ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกเอกชนรายอื่นฟ้องร้องได้”