'สตง.'ยื่นกฤษฎีกาชี้ขาดโอนท่อก๊าซ

'สตง.'ยื่นกฤษฎีกาชี้ขาดโอนท่อก๊าซ

สตง.ส่งเรื่องกฤษฎีกาชี้ขาด ตีความคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เรื่องโอนท่อก๊าซ 3.2 หมื่นล้าน

สตง.ส่งเรื่องกฤษฎีกาชี้ขาด ตีความคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เรื่องโอนท่อก๊าซ 3.2 หมื่นล้าน ยันความเห็นเดิม ยังโอนท่อคืนคลังไม่หมด ขณะผู้บริหารปตท.ยันเรื่องยุติแล้ว หลังทำตามคำสั่งศาลครบถ้วนตั้งแค่ปี 2551

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม) เพื่อให้ตีความคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้กับกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 14 ต.ค. และได้เข้าไปชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สตง.ยืนยันความเห็นไปว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล ควรจะมีการโอนคืนให้กระทรวงการคลังด้วย เนื่องจากมองว่าท่อส่งก๊าซ และสิ่งปลูกสร้างในทะเล ไม่ใช่สิ่งที่เอกชนรายใดก็สามารถทำได้ ต้องอาศัยอำนาจรัฐเพื่ออนุมัติให้สิทธิ หรือสัมปทานถึงจะวางท่อได้

"ผมรู้สึกสบายใจที่ได้บอกจุดยืนของเราให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีการับทราบ เพื่อจะได้นำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของอีกฝ่ายที่มีความเห็นไปอีกอย่าง ส่วนคำตอบสุดท้ายจะเป็นอย่างไรต้องรอผลสรุปจากกฤษฎีกา ไม่ใช่ว่าเราไม่เคารพในคำวินิจฉัยของศาล แต่ยังมีข้อเท็จจริงอีกส่วนที่ต้องรู้ คาดว่าผลการพิจารณาของกฤษฎีกาจะออกมาในเร็วนี้" นายพิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับหนังสือที่ส่งถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ใจความว่า สตง. ได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง ตามนัยคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐ ออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท.

สตง. เห็นว่า ท่อก๊าซธรรมชาติไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือในทะเล หรือหน่วยงานใดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการวางท่อก็ตาม ในการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับสิทธิในแนวท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมด รวมถึงการกำกับและควบคุมดูแล ต้องใช้อำนาจมหาชนในการควบคุมกำกับ ตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 จึงถือว่าแนวท่อก๊าซทั้งหมด รวมถึงอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบก และในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินที่ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะ

จากผลการตรวจสอบของ สตง. พบว่า ทรัพย์สินที่ ปตท. แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง มูลค่ารวม 16,176 ล้านบาท เป็นแนวท่อเฉพาะที่อยู่บนบกเท่านั้น ยังมีแนวท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเลที่ ปตท. ยังไม่ได้แบ่งแยก และส่งมอบให้กระทรวงการคลัง รวมมูลค่า 32,613 ล้านบาท จึงถือไม่ได้ว่าปตท.ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ถูกต้องตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

สำนักงาน สตง. จึงได้แจ้งผลการตรวจสอบไปให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองสูงสุด และบริษัท ปตท. เพื่อให้ดำเนินการบังคับคดีในส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สิน แต่บริษัท ปตท. อ้างความเห็นศาลปกครองสูงสุดโต้แย้งกับความเห็นของสตง. ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุดและกระทรวงการคลังได้ยืนยันว่า การแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินของปตท.ให้กระทรวงคลังเสร็จสิ้นและครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว

ขณะเดียวกัน ครม. ได้กำหนดไว้ว่า กรณีที่มีข้อโต้แย้งด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาศาลฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อหาข้อยุติ สตง.จึงส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลังให้ทบทวนความเห็นอีกครั้ง และส่งหนังสือถึงกฤษฎีกาพิจารณาหาข้อยุติเพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส ให้ สตง. ใช้เป็นแนวทางในการรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สินต่อไป

ด้าน นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวยินยันว่าปตท. ได้ส่งคืนทรัพย์สินท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองครบถ้วนเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2551

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาขอให้ ปตท. ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐและของบมจ.ปตท. ซึ่งหลังจากดำเนินการแล้ว โดยศาลปกครองสูงสุด ได้บันทึกในคำร้องรายงานสรุปว่า ปตท. ดำเนินการโอนทรัพย์สินทั้งหมดตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ วันที่ 26 ธ.ค. 2551

ต่อมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นคำร้องทั้งต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากเคยมีคำพิพากษาว่า ปตท. ได้ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ศาลปกครองได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ถึง 3 ครั้งและยืนยันมาโดยตลอดว่าปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว