'สุรินทร์'เปิดโครงการ'คิดสร้างชาติ'

'สุรินทร์'เปิดโครงการ'คิดสร้างชาติ'

“สุรินทร์” เปิดโครงการ "คิดสร้างชาติ" หวังดึงเยาวชนร่วมปฏิรูปประเทศ

“สุรินทร์” เปิดโครงการ "คิดสร้างชาติ" หวังดึงเยาวชนร่วมปฏิรูปประเทศแบ่ง 11 กลุ่ม ตามสปช. ชี้ต้องดูแลประเทศในอนาคต-รับภาระปัญหาบ้านเมือง ยัน ไม่เปิดโครงการล่าช้า แต่จังหวะเวลาเหมาะสม รัฐบาลกำลังปฏิรูป ลั่นหน้าที่ทุกคนต้องช่วยพัฒนาประเทศ

ที่อาคาร T Building นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (เอฟไอที) กล่าวเปิดตัวโครงการ“คิดสร้างชาติ”ว่า ขณะนี้เราอยู่ในช่วงของการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เราพยายามจะหาทิศทางและบทสรุปว่า เราจะประเทศในช่วงโหมดการปฏิรูปประเทศไปในทิศทางที่แตกต่างจากเดิม มีประสิทธิภาพจากเดิมและการที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าเดิม มีความโปร่งใสในการบริหารและแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไป

สำหรับโครงการ“คิดสร้างชาตินั้น”จะต้องอาศัยประชาชนจากทุกรุ่น ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ โดยขอเน้นไปที่เยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยม ไปจนถึงระดับปริญญาเอก อายุไม่เกิน 27 ปีรวมทีมละ 3 คน เข้ามาร่วมแข่งขัน เสนอความคิดในการปฏิรูปประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 11 กลุ่ม ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับไปดำเนินการตามแนวของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้ในปัจจุบัน โดยค้นหาความคิดที่ดีที่สุดในแต่ละด้าน โดยมีคณะกรรมการเป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ

“กลุ่มเยาวชนควรจะให้ความสนใจ กับทิศทางของประเทศไทย เพราะจะเป็นผู้ดูแลประเทศต่อไปในอนาคต และจะต้องรับภาระต่าง ๆ หากบ้านเมือง ไม่ได้รับการบริหารจัดการดูแลอย่างดีและมีประสิทธิภาพ ความมีส่วนร่วม โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะกระตุ้นประชาชน นิศิต นักศึกษา ที่สนใจการบ้านการเมือง เข้ามาสู่กระบวนการแข่งขันเสนอความคิดที่ดีเลิศเพื่อนำไปสู่การเสนอไปยัง สปช. ให้รับพิจารณาแนวความคิดต่าง ๆ ของเยาวชน ซึ่งตื่นตัวและมีความรับผิดชอบ” นายสุรินทร์ กล่าว

นายสุรินทร์ กล่าวว่า ทางสถาบันจะคัดสรรผู้สมัครที่เข้ามาใน 11 กลุ่ม ให้เหลือกลุ่มละ 8 ชุด และจะให้มีการแข่งขันกันเป็นรอบ ซึ่งทางสถาบันได้เชิญบุคลากรชั้นนำที่มีความรู้ด้านต่างๆมาเป็นกรรมการคัดสรรทีมที่ชนะเลิศ อาทิ นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ,นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) , นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ. , นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี , พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์,นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด , นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน , นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น , นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) , นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดยทีมที่ชนะเลิศในแต่ละด้านทั้ง 11 ด้าน จะได้รับเงินรางวัลเป็นเงินสดจำนวน 1 แสนบาท และจะมีการแข่งขันรอบสุดท้าย เพื่อหาทีมที่ชนะเลิศ 1 ทีม จำนวน 3 คน เพื่อรับรางวัลพิเศษ เดินทางพร้อมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ไปทัศนศึกษาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา การจัดการ ที่สหราชอาณาจักร พร้อมเยี่ยมชม สถาบันทางด้านการปกครอง เช่น รัฐสภาและมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ในช่วงเดือน พ.ค. 2558

ประธานสถาบันเอฟไอที กล่าวว่า กระบวนการที่ทำมาทั้งหมดนี้ จะกระตุ้นให้คนไทยทั้งประเทศ ได้ตื่นตัวกับแนวความคิดของเยาวชน เพื่อจะปฏิรูปประเทศ เพราะการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องใหญ่เพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่สถาบันทำนั้นถือได้ว่าเป็นการนำเสนอ เป็นโครงการทางวิชาการ เป็นโครงการสื่อมวลชนและเป็นโครงการของภาคประชาชน ” โดยโครงการดังกล่าวนี้จะเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ตนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2557 และจะประกาศทีมที่เข้ารอบแรกในวันที่ 27 ธ.ค. 2557 ซึ่งสถาบันเน้นยำถึงความจำเป็นด้านการปฏิรูปการศึกษา โดยเสนอให้หาวิธีการที่จะทำให้เยาวชนที่จะทำให้ไปแข่งขันกับนานาประเทศได้

“การเสนอโครงการ “คิดสร้างชาติ” ถือว่าไม่ช้าเกินไป เพราะสถาบันต้องคิดอย่างรอบคอบและรัดกุม ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะมีส่วนช่วยกันในการพัฒนาประเทศ และที่ทำในขณะนี้ ก็เพราะรัฐบาลกำลังมีการปฏิรูป ซึ่งเหมาะสมกับช่วงจังหวะเวลา โดยไม่ถือว่าช้าหรือเร็วจนเกินไป” ประธานสถาบันเอฟไอที กล่าว

นายสุรินทร์ กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทุกระดับ ทุกภาคส่วนในสังคมตื่นตัวกันอย่างกว้างขวาง และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปในเวลา 7-8 เดือนที่ผ่านมา มีการแสดงความเห็นในเวทีสาธารณะ และนำไปสู่จุดที่จะต้องมีการปฏิรูปกันอย่างจริงจัง มีผู้รับอาสาที่จะเข้ามาถือธงในการปฏิรูป แต่ทั้งนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

สำหรับประเด็นไหนใน 11 ประเด็นที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปนั้น คงต้องรอให้ 11 ทีมที่จะเข้าไปแข่งขันในโครงการ “คิดสร้างชาติ” ไปดำเนินการ ที่ผ่านมา มีการหารือในประเด็นการปฏิรูปกันบ่อยครั้งในสถาบันเอฟไอที ซึ่งตนคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ควรทำให้ได้ก็คือเรื่องของการกระจายอำนาจ ที่ต้องเกิดขึ้นโดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนรับผิดชอบชีวิตและความเป็นอยู่ส่วนตัวมากขึ้นในทุกท้องถิ่น ความพยายามที่จะเสริมสร้างระบบราชการให้นำไปสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้นและเป็นอิสระจากการถูกก้าวก่ายทางการเมือง นี่ก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน

นายสุรินทร์ กล่าวว่า สถาบันได้หารือถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมาตลอด ว่าจะต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และจะต้องประกันความยุติธรรมให้กับประชาชนในสังคมด้วยความมั่นใจ เพราะหากกระบวนการยุติธรรมไขว้เขว ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นกลาง ก็จะทำให้ความยุติธรรมในสังคมไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

อีกประเด็นที่ทางสถาบันได้มีการหารือกันก็คือเรื่องของการกระจายรายได้ โดยพยายามเสนอมาตลอดว่าให้การลดช่องว่างผู้มีรายได้สูงและมีรายได้น้อยไม่ให้มากเกินไปและนานเกิน ประเทศอื่นที่พัฒนาหลังประเทศไทยสามารถจะปิดช่องว่างตรงนี้ได้ แต่ตอนนี้ประเทศไทยยังทำไม่ได้ หากปล่อยให้มีปัญหานี้ต่อไปก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้

“ผมคิดว่าคนในสังคมจะให้เท่าเทียมกัน คงเป็นไปไม่ได้ รวยเท่ากัน จนเท่ากันก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งคนจนและคนรวย มีโอกาสเท่าเทียมกัน อยู่ภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน ได้รับการดูแลและคุ้มครองจากกลไกของรัฐ เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่าคนจนไม่ได้อะไร สิ่งนี้ทำให้สังคมอ่อนแอ” นายสุรินทร์กล่าว