"สุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์" โชว์ทางสร้างเงิน "พันล้าน"

"สุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์" โชว์ทางสร้างเงิน "พันล้าน"

14 ปีแห่งการลงทุน“สุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์”เปลี่ยนวิธีทำกินมาแล้วหลากหลายสินทรัพย์ก่อนจะเป็น“เจ้าของพอร์ตพันล.

“Turnaround” คือ รูปแบบบการลงทุนที่ถูกจริตของ “พจน์- สุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอฟ.จี.ซี.เฟอร์นิฟอร์ม จำกัด

ก่อน "เอฟ.จี.ซี" จะกลายเป็นบริษัทที่มียอดขายปีละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท กำไรสุทธิ 20 ล้านบาท และเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในปี 2559

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2525 ผู้เป็นพ่อบุกเบิกกิจการเฟอร์นิเจอร์ ด้วยการเปิดร้านค้าพื้นที่เล็กๆ ย่านแจ้งวัฒนะ ก่อนพ่อจะตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากผู้รับเหมาเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมากว่า 10 ปี มาเป็นเจ้าของโรงงานในปี 2539 ปัจจุบันโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ เอฟ.จ.ซี.ย้ายโรงงานจากแจ้งวัฒนะมาอยู่ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

ในฐานะลูกชายคนโตของตระกูลอริยสุทธิวงศ์ จากจำนวนพี่น้อง 3 คน เมื่อเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรโยธา รุ่น 77 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาตัดสินใจรับช่วงบริหารต่อจากคุณพ่อเต็มตัว หลังออกไปหาประสบการณ์ ด้วยการไปเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “ขาดทุนชีวิต” เพราะเงินเดือนต่ำเพียง 9,000 บาท ความรู้สึกนี้ ทำให้เขาลาออกจากอาชีพมนุษย์เงินเดือน

ก่อนจะเล่าความถนัดเกี่ยวกับการลงทุน “ชายวัย 38 ปี” ย้อนวันวานให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟังว่า ในปี 2540 ผู้เป็นพ่อกำลังอยู่ระหว่าง set up โรงงานเล็กๆ ที่มีพนักงาเพียง10 คน และมียอดขายเฉลี่ยปีละ 5-6 ล้านบาท ตอนนั้นเราขอให้พ่อย้ายไปดูแลเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ส่วนเรื่องโรงงานเราจะรับหน้าที่จัดการเองทั้งหมด ช่วงนั้นแทบไม่ได้ขอคำปรึกษาจากพ่อเลย อาจเป็นเพราะเราคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก

ปีแรกของการเข้าไปนั่งทำงาน ลูกน้องหลายคนไม่ค่อยเชื่อถือความคิดของเราเท่าไหร่ ตอนนั้นเพิ่งอายุแค่ 22 ปี แต่เมื่อลงมือทำงานให้ดู ทำให้เขาเริ่มเข้าใจ และยอมรับในการทำงานผลของการทำงานในปีแรก เราสามารถดันยอดขายเพิ่มเป็น 13-14 ล้านบาท ยอดขายที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากการหาลูกค้าใหม่ แต่เกิดจากการปรับระบบภายใน จากนั้นยอดขายก็ขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 10- 20 เปอร์เซ็นต์

ลูกค้าหลักของบริษัท คือ ร้านค้าทั่วประเทศตามจังหวัดต่างๆ สัดส่วนประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นลูกค้าตามโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เช่น บมจ.แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

ส่วนตลาดต่างประเทศ วันนี้มีสัดส่วนเพียง 3-5 เปอร์เซ็นต์ เน้นส่งออกไปประเทศอินเดีย ตะวันออกกลาง กัมพูชา และลาว อนาคตคงไม่เน้นเรื่องส่งออก เพราะค่าเงินมีผลต่องบการเงินค่อนข้างมาก ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 400 ล้านบาท ที่ผ่านมากำลังการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10-15 เปอร์เซ็นต์

นอกจากธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์แล้ว บริษัทยังมีคลังสินค้าแถวบางบัวทอง พื้นที่ 50 ไร่ มีพื้นที่เช่า 40,000 ตารางเมตร ถามถึงแผนอนาคต เขาบอกว่า บริษัทอาจหันไปทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม เพิ่งคิดได้เมื่อไม่กี่วันก่อน (หัวเราะ) เพราะเท่าที่ดูๆแล้ว พบว่าอัตรากำไรขั้นต้นพอๆกับธุรกิจคลังสินค้า แถมผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ IRR สูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำงานเหนื่อยน้อยกว่า เบื้องต้นอาจซื้อใบอนุญาตต่อจากเพื่อน หลังเขาได้ใบอนุญาตมาแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ถ้าทำจริงเบื้องต้นคงทำได้ประมาณ 4 เมกะวัตต์

“เราจะพยายามผลักดันผลประกอบการให้ขยายตัวปีละ 10-15 เอร์เซ็นต์ โดยก่อนปี 2559 เราต้องมียอดขายประมาณ 300 ล้านบาท ขณะที่จะรักษาอัตรากำไรสุทธิระดับ 10 เปอร์เซ็นต์

“พจน์” เล่าเรื่องการลงทุนให้ฟังว่า เริ่มเล่นหุ้นมาตั้งแต่ปี 2540 ออกสไตล์หน่อมแน้ม (หัวเราะ) ด้วยการเปิดพอร์ตลงทุนประมาณ 30,000-50,000 บาท กับบล.เอเซีย พลัส ซึ่งมีเพื่อนเป็นมาร์เก็ตติ้ง หุ้นตัวแรกของชีวิต คือ หุ้น บางจากปิโตรเลียม หรือ BCP ซึ่งเป็นการซื้อตามคนอื่น ตอนแรกก็ได้กำไรประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ยอมขาย

แต่มาเล่นหนักๆ ในปี 2543 หลังกิจการเริ่มเติบโต และตัวเองเริ่มมีตังค์ ตอนนั้นเกิดความรู้สึกทำอย่างไรจึงจะ “รวย” ด้วยวิธีที่ง่ายกว่าเดิม ทำให้ตัดสินใจถอนเงินมาเปิดพอร์ตลงทุนมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อลงทุน หุ้น ปตท.หรือ PTT และหุ้นขนาดใหญ่

ช่วงนั้นถือว่าเดินมาถูกทาง เพราะใช้เวลาเพียง 1 ปีกว่า พอร์ตลงทุนพุ่งทะยานเกือบแตะ 40 ล้านบาท หลังซื้อหุ้นปตท.จำนวน 1-2 ล้านบาท ต้นทุนประมาณ 60 บาท ก่อนจะปล่อยออกในราคา 100 บาท แล้วกลับไปซื้อใหม่ที่ 130 บาท ก่อนจะขายที่ระดับ 150 บาท

จากนั้นก็โยกเงินลงทุนไปเล่น หุ้น สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ต้นทุน 220 บาท ถือแค่ 1 เดือน ราคาหุ้นวิ่งไปเกือบ 300 บาท แต่มาขายตอน 260 บาท ตอนนั้นมีข่าวว่าบริษัทได้บ่อน้ำมันแห่งใหม่ ช่วงนั้นทุ่มเงินซื้อหุ้น PTTEP ประมาณ 100,000 หุ้น มูลค่า 20 ล้านบาท แต่ได้กำไรกลับมาประมาณ 4-5 ล้านบาท หุ้น ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ INTUCH ก็ถือเป็นตัวหนึ่งที่สร้างกำไรที่ดีให้กับพอร์ตลงทุน

“ตอนนั้นนั่งผิวปากเลย อาชีพนี้มันดีจริงๆ ทำเงินง่ายกว่าทำโรงงานเยอะ”

แต่หลังจากนั้นไม่นานตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมา ออกแนวขึ้นลงไม่มีนิวไฮ ทำให้ตอนนั้นจำเป็นต้อง “ตัดขาดทุน” จนพอร์ตเหลือ 23 ล้านบาท พอตลาดหุ้นดีดขึ้น เราคิดว่าคงไม่ลงแล้วจึงกลับไปซื้อใหม่ สุดท้ายตลาดหุ้นลงอีก สุดท้ายเหลือเงินติดพอร์ตต่ำกว่า 20 ล้านบาท ตอนนั้นรู้สึกทรมานใจมาก เพราะเดิมตลาดหุ้นเคยทำเงินง่าย แต่ทำไมเริ่มยากขึ้น จึงขายหุ้นที่มีอยู่ 4-5 ตัว ได้เงินกลับมา 18-19 ล้านบาท แล้วตัดสินใจเลิกเล่นหุ้น

ตอนนั้นรู้สึกว่า “ขาดทุนเวลา สุขภาพจิตเสีย” ทำให้ตัดสินใจใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำโรงงานของพ่อเหมือนเคย ช่วงเก็บตัว 1-2 ปี เราไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ใช้เวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เมื่อเริ่มอยู่ตัวจึงกลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้งในปี 2547

ด้วยการเปิดพอร์ตหุ้นไทยมูลค่าประมาณ 3-4 ล้านบาท ช่วงนั้นเริ่มศึกษา “ศาสตร์เทคนิค” มากขึ้น ด้วยการไปเรียนกับ “โฉลก สัมพันธารักษ์” หรือ ลุงโฉลก นักเทรดคอมมอดิตี้ ฟิวเจอร์รายแรกๆ ของเมืองไทย ช่วงนั้นกะว่าจะมา “เอาเงินคืน” แต่เมื่อไปทดลองวิชา ผลออกมาคือ “เจ๊ง” คงเป็นเพราะอ่านกราฟไม่ขาด และเรียนรู้แค่ผิวเผิน

ด้วยความที่เล่นแบบซี้ซั้ว ทำให้ค่อยๆปรับเทคนิค เพื่อให้เหมาะกับตัวเองมากขึ้น ครั้งหนึ่งเคยไปนั่งอยู่หลัง “เซียนหุ้นคนดัง” อย่าง “เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง” ไปดูวิธีการลงทุนบางอย่างของเขา จากนั้นก็นำมาทำตาม ออกแนว “ครูพักลักจำ” “พี่ป๋อง” ไม่รู้นะว่าผมไปแอบดูวิธีการของแกมา (หัวเราะ) ผลการเล่นหุ้นไทยด้วยแนวเทคนิคออกมาไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ เพราะข้อจำกัดมันเยอะ

เขา เล่าต่อว่า หลังจากนั้น 1-2 ปี เราตัดสินใจเปิดพอร์ตลงทุนต่างประเทศประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อทดลองเล่น “ฟิวเจอร์ส” (Futures) ลงทุนได้ 1 เดือน โกยกำไรกลับมา 600 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นฟิวเจอร์สทองคำ น้ำมัน และค่าเงิน อารมณ์ช่วงนั้น คือ “ข้าเก่ง แทง 10 ครั้ง ถูก 9 ครั้ง”

เมื่อลงทุนครึ่งปีแล้วได้กำไรมาก จึงเกิดอาการกร่าง (หัวเราะ) จึงเปลี่ยนการลงทุน จาก “ฟิวเจอร์ส” ไปลงทุน “ออปชั่น” (Options) ดอกแรกได้กำไรมาเป็นล้านบาท ใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน เพราะแทงถูกทาง แต่ผ่านมา 6 เดือน “เงินหมด” สุดท้ายจำเป็นต้องเลิกเล่นออปชั่นแล้วกลับไปเล่นฟิวเจอร์สเหมือนเดิม

ช่วงกลับไปเล่นฟิวเจอร์ส ตอนนั้นตลาดออกแนว “ไซด์เวย์” ทำให้ต้องดูแลการลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม แม้ผลตอบแทนในช่วงตลาดไซด์เวย์จะไม่สูง แต่ยังได้กำไรอยู่บ้าง เมื่อก่อนพอร์ตลงทุนฟิวเจอร์สค่อนข้างสูงถึง 10-20 ล้านบาท แต่ละคืนตลาดมักขึ้นลงประมาณ 5-10 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

วันหนึ่งเรากลับมานั่งคิดว่า พอร์ตฟิวเจอร์สก็สูงแล้ว ทำไมยังต้องมาเหนื่อยอีกจึงตัดสินใจลดการลงทุนฟิวเจอร์สแล้วหันกลับไปดูตลาดหุ้นไทยแทน ด้วยการเปิดพอร์ตประมาณ 2-3 ล้านบาท ในปี 2552 ตอนนั้นการเมืองไทยอยู่ในภาวะไม่สงบ ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลง เราจึงหาจังหวะซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ทำให้ได้กำไรกลับมา 50 เปอร์เซ็นต์

เมื่อลงทุนหุ้นแบบเทคนิคมา 5-6 เดือนแล้วได้กำไรเกือบทุกตัว เรียกว่า ได้กำไรคืนมา 7-8 เท่า จึงหันมาเล่นหุ้นไทยเต็มตัว จนหุ้นทุกตัวปรับตัวขึ้นหมดแล้ว ทำให้หาหุ้นเล่นยากจนพอร์ตลงทุนไม่ค่อยเติบโต ผลตอบแทนเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น

ครานั้นมีโอกาสเจอ “นักลงทุนวีไอตัวจริงคนหนึ่ง” (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) ซึ่งเขาเป็นเพื่อนของรุ่นพี่ เมื่อก่อนเขาเคยทำงานแบงก์ หุ้นเกือบทุกตัวของเขาปรับตัวขึ้นมา 1-2 เท่า โดยใช้เวลาไม่นาน ตอนนั้นเราขอให้พี่เขาช่วยสอนวิธีการดู “งบการเงิน” เมื่อพอรู้แนวทางจึงเริ่มนำวิธีการไปปรับใช้กับ “หุ้นต่างประเทศ” เพราะตอนโน้นหุ้นต่างประเทศบางตัวราคายังต่ำ และผลตอบแทนดีกว่าหุ้นไทย

เราตัดสินใจซื้อหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เน้นไซด์ไม่ใหญ่ เช่น หุ้นนู สกิน บริษัทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของสหรัฐอเมริก ,หุ้น เฮอร์บาไลฟ์ บริษัทผลิตอาหาร และหุ้น เทลซา มอเตอร์ส เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่หลายคนรู้จัก แรกเริ่มเราแบ่งเงินจากพอร์ตฟิวเจอร์สมาลงทุนในหุ้นต่างประเทศประมาณ 10 ล้านบาท ตอนนั้น ใส่ 10 ถูก 8 ถือว่า เดินมาถูกทาง

จากนั้นตัดสินใจขายหุ้นต่างประเทศทั้งหมดได้เงินมา 20 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อ “หุ้นเบียร์ช้าง” ต้นทุน 32 เซนต์สิงคโปร์ ก่อนจะขายในราคา 70 เซนต์สิงคโปร์ หลังบริษัทประกาศจะซื้อ F&N ใช้เวลาการถือหุ้นแค่ 3-4 เดือน ตอนนั้นทุ่มเงินเล่นหุ้นเบียร์ช้างหมดตัว เพราะเล่นทั้งมาร์จิ้น และกู้เงินมาลงทุนด้วย ทำแบบนั้นเพราะเรารู้จักแบรนด์เบียร์ช้างเป็นอย่างดี สุดท้ายได้เงินกลับมา 60-70 ล้านบาท ขายเสร็จหุ้นก็ลงมาเหลือ 50-60 เซนต์สิงคโปร์

ผ่า “สี่หุ้นสวย” ประจำพอร์ต

“สุทธิพจน์” เล่าเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นไทยว่า หลังกลับมาดูตลาดหุ้นเมืองไทย ทำให้เห็นว่า หุ้นดีๆยังมีอยู่เยอะ ทำให้ตัดสินใจทุ่มน้ำหนักไปในหุ้นไทยเกือบ “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ด้วยการโยกเงินลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในหุ้นขนาดกลาง และเล็ก ที่กำลังจะ Turnaround ด้วยวิธีการควบรวมหรือซื้อกิจการ หรือ M&A เพื่อให้บริษัทเดินหน้าเติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันมีหุ้นอยู่ในมือ 5-6 ตัว เช่น หุ้น แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น หรือ MAX ,หุ้น ทรัพย์ศรีไทย หรือ SST, หุ้นอีเอ็มซี หรือ EMC และหุ้น เอเซีย จอยท์ พาโนราม่า หรือ AJP เขา ยอมรับว่า จริงๆไม่ได้สนใจหุ้น MAX แต่บังเอิญ “ชำนิ จันทร์ฉาย” ซึ่งรู้จักกันมานานแล้ว ซึ่งเขาบอกว่า บริษัทอยากขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุน สุดท้ายตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 2,000 ล้านหุ้น คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ราคาหุ้นละ 0.05 บาท พาร์ 1 บาท ตอนนั้นราคาหุ้น MAX ซื้อขาย 0.15 บาท

ส่วนตัวมีมุมมองว่า เรื่องห่วยสุดๆของบริษัทกำลังจะผ่านพ้นไป เมื่อ MAX ได้เงินจากนักลงทุนคงเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปได้ ตอนนั้นบริษัทขายฝันอะไรไว้มากมาย ถามว่าเชื่อหรือไม่ ความรู้สึกคงไม่ต่างจากการลงทุนในหุ้นปกติมั้ง เรื่องน่ากลัวบางเรื่อง เราผ่านมาหมดแล้ว ที่สำคัญต้นทุนที่ได้มีความปลอดภัยและดีกว่าคนอื่น อนาคตอาจซื้อหุ้น MAX เพิ่มเติมอีก หากชอบมากๆ คงเทเงินจนหมดตัว (หัวเราะ)

“ก่อนหน้านี้เคยแนะนำ “ชำนิ” ไปว่า ลองให้บริษัททำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลดูมั้ย กำไรดีนะ เพราะปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากธุรเหล็กอย่างเดียว ไม่เกินสิ้นปีนี้คงรู้โมเดลธุรกิจของ MAX”

เขา เล่าต่อว่า ถือลงทุนหุ้น SST มาแล้วประมาณ 1 ปีครึ่ง ตอนโน้นมีโอกาสเจอ “ศุภชัย สุขะนินทร์” หุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ SST สัดส่วนการลงทุน 10.51 เปอร์เซ็นต์ เราก็ถามเขาด้วยความสงสัยว่า ตกลงบริษัททำธุรกิจอะไรกันแน่ ซึ่งตอนนั้นเขาก็อธิบายโมเดลธุรกิจต่างๆให้ฟังว่า บริษัทไม่ได้ทำคลังสินค้า แต่เป็นธุรกิจ M&A Business ด้วยการลงทุนในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนดีๆ

เมื่อพิจารณารูปแบบการทำธุรกิจของ SST แล้วพบว่า เป็นแนวคิดที่ดีและกำลังมาแรงจึงตัดสินใจหาจังหวะซื้อหุ้น SST ในกระดาน จริงๆขอซื้อหุ้นบิ๊กล็อต แต่เขาไม่มีให้ บอกให้ไปหาซื้อในกระดาษเอาเอง เพราะตัว “ศุภชัย” ก็หาโอกาสซื้อเพิ่มเหมือนกัน รอบแรกต้นทุนหุ้น SST สูงถึง 16-20 บาท แต่เมื่อได้ปันผลมา 2-3 รอบ ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเหลือประมาณ 11-12 บาท ปัจจุบันมีหุ้น SST ประมาณ 7 ล้านหุ้น คิดเป็นกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้น “ศุภชัย” ยังไม่ได้เล่าเรื่องแผนการซื้อหุ้นร้านอาหาร เกรย์ฮาวด์ คาเฟ่ ให้ฟัง

“มีโอกาสคงไม่ซื้อหุ้น SST เพิ่มเติมอีก เพราะเจ้าของบอกให้นักลงทุนอื่นซื้อบ้าง มีผู้ถือหุ้นบางคนใน SST มาถาม “ศุภชัย” ว่า “พจน์” เป็นใคร” (หัวเราะ)

ส่วนหุ้น EMC ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย “ชนะชัย ลีนะบรรจง” ตอนนั้นเราได้ยินข่าวลือว่า บริษัทกำลังจะปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ จากธุรกิจรับเหมาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลังบริษัทไปซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งเข้ามาบริหาร เวลาว่างๆ เรามักขับรถไปแอบดูโครงการของบริษัท เท่าที่ดูๆ ถือเป็นโครงการที่ดี

เมื่อลองไปสอบถามจากผู้ใหญ่บางท่านที่รู้จักกับผู้บริหารของ EMC ทำให้รู้ว่า EMC เขากำลังจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเองจริงๆ เห็นได้จากการหาเงินลงทุน ด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุนในวงจำกัด จำนวน 1,200 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท ราคาหุ้นละ 0.50 บาท ปัจจุบันมีหุ้น EMC และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญมากพอควร แต่ขอไม่บอกตัวเลข เพิ่งซื้อเมื่อกว่า 5 เดือนก่อน

สำหรับหุ้น AJP ตอนแรกภาพลักษณ์บริษัทแห่งนี้ไม่ค่อยดี แต่บังเอิญรู้จักรุ่นน้องคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักลงทุนแนว VI และยังเป็นกรรมการบริหารของบริษัทด้วย เมื่อลองโทรไปสอบถามโมเดลจากเขา ทำให้เห็นภาพว่า ผู้บริหารมีความคิดจะทำบริษัทให้ดีขึ้นจริงๆ แต่เขาไม่บอกรายละเอียดว่า จะทำอะไรบ้างจึงตัดสินใจซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ AJP-W1 มากกว่าหุ้นแม่

“ก่อนจะซื้อหุ้นสักตัวจะเน้นดู 1.ขนาดของกิจการ 2.ความสามารถของผู้บริหาร 3.งบการเงิน 4.รายชื่อผู้ถือหุ้น โดยต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือ และมีต้นทุนไม่หนีจากกันมาก 5.ราคาหุ้นยังมีอัพไซด์ประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์”

“พจน์” ทิ้งท้ายว่า วันนี้หุ้น 4-5 ตัว น่าจะได้กำไรเยอะแล้ว แต่ไม่ได้เป็นคำนวณตัวเลขออกมา และไม่ได้คิดว่าจะถือไปจนกว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ คิดเพียงว่า หากธุรกิจยังเดินมาถูกทาง เจ้าของมีความชำนาญ เราก็คงถือลงทุนไปเรื่อยๆ

ปัจจุบันพอร์ตลงทุนหุ้นไทยยืนหลัก “พันล้านบาท” พอร์ตเติบโตแบบนี้ นั่นเป็นเพราะเรารู้จักธุรกิจของหุ้นแต่ละตัวที่จะลงทุนเป็นอย่างดี ตอนเข้ามาลงทุนหุ้นไทยใหม่ๆ มีเงินในพอร์ตเพียง 50-60 ล้านบาท ส่วนตัวไม่เคยคาดว่า อนาคตพอร์ตจะขึ้นไปยืนระดับใด แต่จะขอเลือกในสิ่งที่ใช่ก็พอแล้ว

ตอนนี้เล็งจะซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน และบริษัทที่คิดจะทำ M&A แต่คงบอกชื่อหุ้นไม่ได้ ถ้าซื้อแล้วจะมาเล่าให้ฟัง บอกได้เพียงว่า ถ้าไม่แพงมาก งบการเงินสวย และชอบมากจะจัดเต็มเพียงครั้งเดียว ออกแนวซื้อแล้วต้อง “รวย” โดยจะไมแบ่งซื้อทีละเล็กทีละน้อย แต่ถ้าชอบไม่มากจะไม่ซื้อเลย

ปี 2557 คือ ปีที่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากที่สุด ถือว่ามากกว่าปี 2556 ที่ได้กำไรประมาณ 200 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวเป็นนักลงทุนที่สามารถลงทุนได้หลากหลายประเภท หมายความว่า จะลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในแต่ละสถานการณ์ ก่อนหน้านี้ได้ขายกินที่ดินเปล่าไปแล้วหลายไร่ ปัจจุบันมีที่ดินเปล่าในมือประมาณ 60-70 ไร่ เช่น บางบัวทองนนทบุรี และนครปฐม เป็นต้น

ตอนนี้ยังไม่มีความคิดจะขายทำกำไร อย่างที่ดินย่านบางบัวทอง 50 ไร่ ต้นทุน 100 ล้านบาท แต่ตอนนี้ราคาประเมินในตลาดทะยานไปยืนระดับ 400 ล้านบาท หลังซื้อมาครอบครองแค่ 1 ปี ส่วนที่ดินนนทบุรีมีประมาณ 2-3 ไร่ ซื้อมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ ต้นทุนน่าจะขึ้นมาประมาณ 7-8 เท่าแล้ว สำหรับที่ดินย่านนครปฐม ราคาไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เรานำที่ดินไปสร้างโรงงาน