จี้เพิ่มสัดส่วนกำไรปิโตรเลียม

จี้เพิ่มสัดส่วนกำไรปิโตรเลียม

วงเสวนาปฏิรูปพลังงาน "พุทธะอิสระ" เสนอแก้เกณฑ์สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 แบ่งกำไรให้รัฐเพิ่มเป็น 55- 65%

วงเสวนาปฏิรูปพลังงาน "พุทธะอิสระ" เสนอแก้เกณฑ์สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 แบ่งกำไรให้รัฐเพิ่มเป็น 55- 65% พร้อมตั้งเรคกูเลเตอร์จาก "ภาคประชาชน" ยกเลิกส่งเงินผ่าน "อบต.-อบจ." กลัวไม่ถึงมือชาวบ้าน ไม่เชื่อใจนักการเมืองท้องถิ่น ด้าน "ปิยสวัสดิ์" ค้านเพิ่มสัดส่วนกำไรให้รัฐ หวั่นไม่มีคนขอสัมปทาน ขณะที่ไร้เงากลุ่มต้านร่วมเวที

วานนี้ (25 ต.ค.) หลวงปู่พุทธะอิสระ ผู้ก่อตั้งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ฯ (กปปส.) เวทีแจ้งวัฒนะ ได้จัดเวทีเสวนาการปฏิรูปพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 4 ที่วัดอ้อน้อย

โดยมีฝ่ายตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ร่วมชี้แจงบนเวทีประมาณ 18 คน และเสวนาร่วมกับตัวแทนฝ่ายกรรมการสภาประชาชนคนแจ้งวัฒนะที่อยู่บนเวที 6 คน มีให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน

ประเด็นที่ฝ่ายกรรมการสภาประชาชนคนแจ้งวัฒนะให้ความสนใจสอบถามกันมากที่สุด คือ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบอนุมัติไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค.57 รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดูแลพลังงานระดับชาติ และการเข้าถึงเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน

สำหรับรายละเอียดของการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้น ได้เปิดแปลงสำรวจ 29 แปลง เป็นแปลงสำรวจบนบก 23 แปลง และในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง โดยกำหนดให้เอกชนยื่นความต้องการในการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ที่กำหนดภายใน 120 วัน หรือภายในวันที่ 18 ก.พ.58

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในการเสวนาครั้งนี้ ไม่มีกลุ่มของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน และ พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำผู้คัดค้านนโยบายพลังงานแต่อย่างใด หลังจากที่หลวงปู่พุทธะอิสระได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊คก่อนหน้านี้ว่า "ขอเดินทางใครทางมัน"

เสนอเพิ่มสัดส่วนกำไรจากสัมปทาน

พระพุทธะอิสระ กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่ผลิตได้จากแหล่งสัมปทานในประเทศไทยถือเป็นสมบัติของชาติ ดังนั้นกลุ่มภาคประชาชนจึงมีมติเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์สัมปทานปิโตรเลียมใหม่ เฉพาะในส่วนของกำไรที่ได้จากการผลิตปิโตรเลียม ซึ่งปัจจุบันใช้เกณฑ์แบ่งกำไรคนละครึ่ง ระหว่างเอกชนผู้รับสัมปทาน 50% กับภาครัฐ 50% โดยต้องปรับใหม่ให้ภาครัฐได้สัดส่วนกำไรเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 55-65% แทน

รวมทั้งเสนอให้ภาครัฐเพิ่มบทเฉพาะกาลในสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยกำหนดให้ผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมนำกำไร 50% ดังกล่าว แบ่งส่วนหนึ่งให้กับกองทุนที่ตั้งใหม่ คือ "กองทุนน้ำมันหมุนเวียนชดเชย" เพื่อให้ภาคประชาชนบริเวณรอบแหล่งสัมปทานนำมาพัฒนาพลังงานชุมชนสำหรับไว้ใช้เอง ภายหลังจากที่แหล่งน้ำมันและก๊าซถูกใช้หมดไป ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

ปูดเงินไม่ถึงมือประชาชนจริง

พระพุทธะอิสระ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอปรับหลักเกณฑ์แบ่งกำไร และตั้งกองทุนน้ำมันหมุนเวียนชดเชย มีบางประเด็นต้องแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ก่อน เพราะที่ผ่านมาผู้รับสัมปทานจะให้เงินตอบแทนสังคม โดยมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)เป็นผู้นำไปบริหารจัดการ อาทิ แหล่งปิโตรเลียมลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ที่ ปตท.สผ.ดำเนินการ ได้มอบเงินให้ อบจ.ประมาณปีละ 308 ล้านบาท และ อบต.ที่อยู่รอบแหล่งสัมปทานแห่งละประมาณ 28 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเงินดังกล่าวไม่ได้ส่งถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยยกเลิกการนำเงินให้ อบต.และอบจ. และนำมามอบให้กับกลุ่มชาวบ้านโดยตรง

เสนอตั้ง"เรคกูเลเตอร์"ภาคประชาชน

นอกจากนั้น ยังเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาออกกฎหมายให้ภาคประชาชนตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) ที่เป็นภาคประชาชนขึ้น เพื่อทำงานดูแลเรื่องพลังงานระดับประเทศควบคู่กับภาครัฐ เนื่องจากภาคประชาชนไม่ไว้ใจการทำงานของภาครัฐ เพราะที่ผ่านมามีบางรัฐบาลใช้อำนาจที่มีเอื้อประโยชน์ด้านพลังงานให้กับตัวเองหรือพวกพ้อง ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องตั้งเรคกูเลเตอร์ภาคประชาชนขึ้นมา

รวมทั้งให้แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่จำกัดให้เฉพาะองค์กรไม่แสวงหากำไรมีโอกาสเข้ามาใช้เท่านั้น เห็นว่าประชาชนเข้าไม่ถึงเงินกองทุนดังกล่าว ดังนั้นจึงควรนำคำว่า "องค์กรไม่แสวงหากำไร" ออกไป และให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นลงตามราคาก๊าซธรรมชาติหน้าปากหลุมด้วย

"ปิยสวัสดิ์"หวั่นไม่มีเอกชนขอสัมปทาน

ด้าน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากจะปรับเพิ่มสัดส่วนกำไรภาครัฐจากสัมปทานปิโตรเลียมเป็น 65% เนื่องจากผลประโยชน์ที่ภาครัฐได้รับจากสัมปทานจะมองเฉพาะในส่วนกำไรไม่ได้ ต้องมองผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งระบบ ซึ่งภาครัฐได้ผลตอบแทนจากสัมปทานรวมทั้งสิ้น 70% ภาคเอกชนได้ 30% แต่หากจะปรับเฉพาะกำไรเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ภาคเอกชนไม่สนใจเข้ามาขอสัมปทานปิโตรเลียม เนื่องจากพื้นที่สัมปทานที่เปิดล่าสุดนี้เป็นแหล่งเก่าที่เคยสำรวจขุดเจาะไปแล้ว และโอกาสเจอปิโตรเลียมก็มีไม่มาก

"การจะแก้กฎหมายเพื่อให้ปรับกำไรให้ภาครัฐเพิ่มขึ้นเท่าไรก็ทำได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมด้วยว่าจะมีคนมาขอสัมปทานหรือไม่ และถ้าไม่มีคนมาขอสัมปทาน คนที่เสนอก็ขอให้รับผิดชอบด้วย และขอให้หลวงปู่เลิกมีอคติและรับฟังอย่างเป็นมิตรด้วย" นายปิยสวัสดิ์ ระบุ

รับข้อเสนอแก้ไขส่งเงินค่าตอบแทน

นายชยุตพงศ์ นันท์ธนะวานิช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมรับข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ กรณียกเลิกส่งเงินตอบแทนสังคมที่ผู้รับสัมปทานมอบผ่าน อบต.และอบจ.ไปพิจารณาต่อไป

สำหรับบรรยากาศการเสวนาในครั้งนี้ มีการสอบถามกันอย่างเข้มข้นในเรื่องการเพิ่มผลประโยชน์กำไรสัมปทานปิโตรเลียมให้ภาครัฐ ซึ่งมีการโต้เถียงกันแต่ไม่มีข้อสรุป อย่างไรก็ตาม บรรยากาศค่อนข้างผ่อนคลายขึ้น มีหยอกล้อกันระหว่างพระพุทธะอิสระกับนายปิยสวัสดิ์ จนเรียกเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือของผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง