'สุทธิชัย'ลั่นหมดยุคหมาเฝ้าบ้าน-สิ้นคนเฝ้าประตู

'สุทธิชัย'ลั่นหมดยุคหมาเฝ้าบ้าน-สิ้นคนเฝ้าประตู

"สุทธิชัย"ลั่นหมดยุคหมาเฝ้าบ้าน-สิ้นคนเฝ้าประตู ให้ยึดคุณภาพหลักจริยธรรมสร้างความน่าเชื่อถือยุคสังคมเทคโนโลยี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในวาระครบรอบ 60 ปี ได้มีการจัดราชดำเนินเสวนาเรื่อง “ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ กับภารกิจปฏิรูปประเทศไทย” วิทยากร ประกอบด้วย นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานเครือเนชั่น นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.อ่อนอุษา ลำเลียงพล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและนายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และนาง พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นายวิทย์ สิทธิเวคิน
โดยนายสุทธิชัย กล่าวว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯดำเนินงานมาครบ 60 ปี เปรียบเหมือนคนที่แก่ที่ตื่นมาจะมีความรู้สึกว่าไม่มีใครต้องการ ดังนั้นต้องปรับตัวทำงานให้มีคุณภาพถ้าไปนึกในอดีตที่มีหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน คนเฝ้าประตู ที่เดิมมีโจรเข้าบ้านก็เห่า ในยุคนี้แค่ใบไม้ปลิวก็เห่าแล้ว คงไม่ได้ เหล่านี้ต้องหายไป ถ้าจะเปรียบตัวเองเป็นกระจกก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะกระจกมีเต็มไปหมด ดังนั้นไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร แต่ต้องทำต่อเป็นลักษณะแข่งกับตัวเองเป็นสื่อมืออาชีพ ที่ยึดหลักจริยธรรม แต่ในภาวะที่โลกเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือที่มีการปล่อยออกมาตลอด

"คนวัย 60 ปี ตื่นเช้าขึ้นมาไม่มีใครสนใจเราเลย ลูกหลานก็บ่นใส่มากด้วย แล้วเราต้องย้อนไปเชื่อแบบสมัยก่อนว่า ต้องจับคนดูคนอ่านเป็นตัวประกัน ผมคิดว่า มันหมดสมัยตกยุคไปแล้ว เราจะอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางสื่อที่มีอยู่มากมาย ทำอย่างไรสมาคมฯที่มีอยู่มากหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อยกร่างองค์กรร่วมกันกันเสนอต่อสภาปฏิรูป เพราะเราไม่รู้สึกมั่นใจในส่วนของคนอื่นที่เข้ามาแทรกแซง มักจะตั้งเป็นรูปของคณะกรรมการมากำกับดูแลสื่อในลักษณะการออกใบอนุญาต" ประธานเครือเนชั่น กล่าว

และเสนอว่า นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการควรมีหลักสูตรเกี่ยวกับบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อ ในระดับประถมถึงมัธยมปลายด้วย เรื่องนี้เราไม่ควรรอทางกระทรวงศึกษาฯ แต่องค์กรเราสมควรที่จะเป็นผู้เสนอไป รวมถึงสื่อต้องรวมตัวกันแย้งอำนาจทุนที่คุกคามเข้ามาเพื่อเป็นการถ่วงดุลเอาไว้ แล้วความน่าเชื่อถือของสื่อจะเป็นตัวตัดสินอนาคตได้

ขณะที่นายวสันต์ กล่าวว่า การปฏิวัติคนข่าวมีเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สื่อต้องเป็นมืออาชีพ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก ขณะเดียวกันสื่อก็มีปัญหาแล้วมีส่วนในการเข้าไปแก้ปัญหา โดยเฉพาะสื่อเวลานี้มีปัญหาในการกำกับดูแลกันเอง บางกรณีที่สื่อบางสำนักไม่พอใจการกำกับดูแลกัน แล้วก็คัดค้านตบเท้าออกไป ทำให้คุณภาพข่าวไม่พัฒนาเท่าที่ควร จึงควรมีการปฏิวัติสื่ออย่างจริงจัง ส่วนการกำกับดูแลสื่อที่ผ่านมาสื่อมีลักษณะกำกับดูแลกันเองมาตลอดโดยสมัครใจถ้าทำไม่ได้ ค่อยให้องค์กรอื่นเข้ามาช่วย อย่าง กสทช. แต่ไม่ใช่เข้ามาแทรกแซงสื่อ แต่ต้องเป็นการส่งเสริมอย่างสร้างสรรค์ให้ปลอดภัยเป็นธรรม อย่างไรก็ตามสื่อเองต้องไม่คำนึงถึงความอยู่รอดทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว เนื่องจากอำนาจต่อรองของสื่อน้อยลง แล้วจะทำให้ระบบทุนและรัฐเข้ามาแทรกแซงได้

"ผมถือเป็นโอกาสที่จะปฏิรูปสื่อให้มีคุณภาพศักดิ์ศรีอยู่ได้นาน หรือรีบปฏิรูปสื่อก่อนที่จะไม่มีสื่อให้ปฏิรูป"สมาชิก สปช. ด้านปฏิรูปสื่อ ระบุ

สำหรับ น.ส.สารี กล่าวว่า ก้าวต่อไปของสมาคมฯเป็นปีที่ 61 ทำอย่างไรจะอยู่กับประชาชน เหมือนที่ตนเคยเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงพลังงาน ที่สื่ออยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปรากฎว่า ไม่เป็นข่าวเลย เรื่องนี้ที่ประเทศอเมริกาเขามีกฎหมายเรียกว่า ซันชายด์ แอค ที่เรียกร้องให้มีการเปิดเผยทุนในการบริจาคให้องค์กรต่างๆได้รับรู้รับทราบ ในยุคต่อไปคิดว่า ต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดความโปร่งใสให้ได้ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐควรที่จะเปิดเผยข้อมูลความจริงให้ประชาชนได้รู้เงินที่ให้ไปอยู่กับใคร ไม่เช่นนั้นกุหลาบพิษก็ยังคงมีอยู่ต่อไป เรื่องนี้ควรมีกลไกเข้าไปดูแลด้วย เพื่อให้โฆษณาทำได้อย่างถูกกฎหมาย ในปัจจุบันสื่อมีความเข้าไปเกี่ยวพันธ์กับกลุ่มทุนมากเรื่อยๆ แล้วสื่อยังมีความเป็นกลุ่มทุนมากขึ้น ทำให้ขาดความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าว ดังนั้นสื่อต้องยอมรับดว้ยว่า เป็นผู้ชี้นำสังคม เช่น เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ สื่อไปนำเสนอข่าวรถติด เส้นทางไหนรถไม่ติด แทนที่จะไปนำเสนอเนื้อหาที่ไหนบริการบกพร่องหรือห่วย

"ดิฉันอยากขอสื่อว่า อย่าเห็นแก่เงิน ควรให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตที่ควรจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เช่นนโยบายสาธารณะ ที่สำคัญต่อสังคมประเทศ พวกข่าวที่ไม่เป็นข่าวถูกแทรกแซงมาเราจะไม่ต้องยอมจำนน สื่อต้องเป็นแกนนำพัฒนาให้ได้ในการพัฒนาตัวนำทางสังคม" น.ส.สารีกล่าว

ขณะที่น.ส.อ่อนอุษา กล่าวว่า ในแง่ของนักโฆษณา แม้โลกจะเปลี่ยนไปเป็นยุคดิจิตอลแล้ว ทราบว่า มีเม็ดเงินโฆษณาแต่ละปีประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งสื่อต้องมีความสรรค์สร้างแบรนด์ความน่าเชื่อถือเข้าไปอยู่ในใจของประชาชน ไม่ใช่มีแต่เรทติ้ง ช่วงเวลาที่ดีที่คนชมชอบไปวัดความนิยมเข้าถึงคนเท่านั้น แต่ควรใช้เนื้อหาที่ดีมีคุณภาพเข้าถึงทุกคน ไปให้เจ้าของเงินเจ้าของโฆษณาที่มีวิสัยทัศน์ตัดสินใจนำเงินมาช่วยเหลือผู้ผลิตรายการเหล่านี้

ด้านนาง พิรงรอง กล่าวว่า สื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ยุคพฤษภาประชาธรรม คิดว่า วันนี้ถ้ามีการปฏิรูปสื่อน่าจะก้าวไกลไปกว่ายุคนั้น เพราะโดยปกติแล้ว ดร.ดันแคน แม็คคาร์โก กล่าวไว้ว่า สื่อไทยไม่ค่อยมีความรักภักดีกับใครในทางการตลาด ถ้ามีนายทุนคนไหนมาจ่ายเงินให้ก็ไปทางคนนั้น หรือถ้าพูดตรงๆสื่อมีการเลือกที่จะไปเอี่ยวแล้วเลือกข้าง สื่อควรที่จะมีการประกันคุณภาพด้วยการให้ประชาชนได้เข้าใจบทบาทของทางสมาคมนักข่าวฯ สภาการหนังสือพิมพ์ฯมีบทบาทหน้าที่อย่างไร แล้วให้สมาชิกเหล่าในองค์กรเหล่านี้เขียนที่หนังสือพิมพ์ของตนมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาใดๆให้ร้องเข้ามายังสภาการหนังสือพิมพ์เพื่อเป็นการแสดงความโปร่งใสบริสุทธิ์ใจเปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกเข้าตรวจสอบในหลายๆด้าน