รมว.กลาโหมโต้ล็อกสปช.

รมว.กลาโหมโต้ล็อกสปช.

"พล.อ.ประวิตร" รมว.กลาโหมโต้ล็อกสปช. "60นักวิชาการ"ประณามคุกคามเสรีภาพวิชาการ

หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศยกเลิกคำสั่งฉบับที่ 117/2557 เรื่องกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และให้ คสช.เป็นผู้คัดเลือกเองนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เป็นการทำตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของคสช. ในการคัดเลือก สปช.

ส่วนข้อกังวลถึงการล็อคสเปคสปช. พล.อ.ประวิตร ระบุว่า "ล็อคสเปคไหน พูดกันหลายทีเหลือเกิน ล็อคยังไง ลองล็อคให้ผมฟังสิ ผมถามว่าจะล็อคยังไง คนสมัครตั้งกว่า 7 พันคน มีคณะกรรมการอีก 77 คนในแต่ละด้าน อย่าไปพูดนะล็อคสเป็ค มันเสียหาย จะไปล็อคได้ยังไง คนเขามีตำแหน่งหน้าที่เป็นด็อกเตอร์ เป็นศาสตราจารย์ ทั้งนั้น เขาจะมาปล่อยได้อย่างไร ทุกคนก็อยากทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ฉะนั้นอย่าไปพูด ไม่ดีหรอก อย่าถามนำในทางที่ไม่ถูก”

อย่างไรก็ตาม การจะสรรหาสปช.ให้เป็นที่ยอมรับของทุกคนได้นั้น ตนไม่ทราบ แต่เราพยายามจะหาในทุกพื้นที่ ให้ได้ผู้มีคุณวุฒิตั้งแต่ปริญญาเอกลงมาจนไม่มีปริญญา และครอบคลุมทุกอาชีพ ให้มีความรู้หลากหลาย เพื่อที่จะมาปฏิรูปใน 11 ด้านที่กำหนดไว้

"สรรเสริญ"วอนอย่าตัดสินคสช.ล็อคสเปค

ด้านพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการร้องเรียนว่ากระบวนสรรหาบุคคลเพื่อเข้าเป็นสปช. ในหลายจังหวัดมีความไม่โปร่งใส และส่อไปในทางทุจริตว่า การคัดเลือกสปช.250 คนในรอบสุดท้าย คสช.แบกรับภาระในการคัดเลือก จึงอยากให้สังคมให้โอกาส อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าจะมีการล็อคสเปคกัน เพราะผลยังไม่ออกมา

อย่างไรก็ดี นายกฯจะขอรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน เรื่องใดที่เห็นควรปฎิบัติรัฐบาลก็พร้อมรับฟัง อยากให้ดูภาพรวมมากกว่าว่า ผลผลิตสุดท้ายที่จะออกมา มีกระบวนการในการเลือก ยืนยันไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น เพราะนายกฯประกาศเอาไว้แล้วว่าจะต้องทำให้โปร่งใสและการคัดเลือกสปช.ในรอบสุดท้าย คสช.ทั้ง 15 คนต้องรับผิดชอบอยู่แล้วถึงผลที่ออกมา

"สมชาย"หนุนคสช.เลือกสปช.เอง

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ถือเป็นเรื่องที่สมควรที่จะให้ คสช.เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งสมาชิก สปช.เอง เนื่องจากคสช.มีข้อมูลพร้อมทุกด้านและมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถ อีกทั้งเห็นว่า คณะกรรมการ 14 คนที่มีชื่อตามคำสั่งแม้จะไม่มีตำแหน่งเป็นทางการ แต่สามารถเชิญมาร่วมพิจารณากลั่นกรองบุคคลได้ มั่นใจว่า คสช.จะไม่ทำให้เกิดปัญหา เชื่อว่าขั้นตอนต่างๆ จะสำเร็จตามโรดแพ และสังคมจะเห็นหน้าตาสปช.ที่ได้รับการคัดเลือกในวันที่ 2 ต.ค.

นายสมชาย ยังกล่าวถึง การประชุมสนช.ในวันที่ 25 ก.ย.เพื่อการพิจารณาร่างข้อบังคับ สนช. ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญการพิจารณาร่างข้อบังคับสนช.พิาจารณาเสร็จสิ้นแล้วว่า หลังจากได้ข้อบังคับการประชุมแล้ว จะตั้งคณะกรรมาธิการฯ คัดเลือกสมาชิกสนช. เข้ามาเป็นกมธ.วิสามัญ ประจำสนช.ด้านต่างๆ ตามความจำนงของแต่ละคน โดยกมธ.จะมี 11 ด้านเพื่อให้สอดรับกับ สปช.ที่มี 11 ด้านเช่นกัน

"ภุชงค์"เผย7จว.เคาะว่าที่สปช.วันนี้

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางกกต.ได้เสนอรายชื่อจำนวน 550 รายชื่อผู้ถูกเสนอชือเป็นสปช.ให้คสช.ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ส่วนการสรรหาจังหวัดนั้น ขณะนี้เหลือเพียง 7 จังหวัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคล แต่เชื่อว่าการคัดเลือกบุคคลจะเสร็จทันตามกรอบในวันที่ 22 ก.ย. ทั้งนี้หากคสช.ประกาศรายชื่อสปช.จำนวน 250 คนแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับคสช.ว่าจะเปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกหรือไม่ เพราะกกต.เป็นแค่เพียงฝ่ายธุรการไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนี้

ส่วนกรณีที่นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ อดีตรองประธานวุฒิสภา ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานกกต.และประธานกรรมการสรรหาสปช.จ.สุรินทร์ เพื่อให้ตรวจสอบกรรมการสรรหาสปช.จ.สุรินทร์คนหนึ่ง ที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เข้ารับการสรรหา เนื่องจากเป็นเครือญาติกันนั้น ขณะนี้ตนยังไม่เห็นเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เพียงแต่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น จึงต้องขอตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

สนช.ถกข้อบังคับฯปมถอดถอน25ก.ย.

ขณะที่นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิกสนช. ในฐานะรองประธานกมธ.พิจารณาร่างข้องบังคับสนช. เปิดเผยว่า ในการประชุมสนช.วันที่ 25 ก.ย.จะพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมฯ ในวาระ 2 และ 3 โดยเบื้องต้นกมธ.ไม่ได้มีการปรับแก้ หรือตัดหมวดใดออกไปเลย แต่มีสมาชิกที่ได้เสนอคำแปรญัตติ ซึ่งบางส่วนกมธ.ก็เห็นชอบปรับเปลี่ยนแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีสมาชิกขอสงวนคำแปรญัตติ เพื่อชี้แจงในที่ประชุมใหญ่อีกครั้ง ทั้งนี้มั่นใจว่า จะมีการพิจารณาจบในวันเกียว เชื่อว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ด้านนายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสนช. เปิดเผยว่า ตนเองได้ขอแปรญัตติในหมวดถอดถอน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายเบื้องต้น ของคดีถอดถอนแต่ละคดี โดยจะไม่ทำรวมกันทั้งหมด เนื่องจากบุคคลที่ถูกชี้มูลมีฐานความผิดที่แตกต่างกัน ก่อนสรุปเป็นความเห็นเพื่อให้ที่ประชุมสนช.ใหญ่ ได้ลงมติว่า จะทำการถอดถอนคดีนั้นๆ หรือไม่ต่อไป

ทั้งนี้ยืนยันว่า ตนไม่ได้เข้าข้างใคร แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น และให้ สนช.เดินในทางที่เป็นกลางเท่านั้น เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า สนช.ไม่ใช่สภาตรายาง ที่จะถูกชี้นำได้ง่ายๆ

"60นักวิชาการ"ผนึกค้านคสช.คุกคามสิทธิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน สื่อมวลชนได้รับจดหมายเปิดผนึกที่ลงนามโดย นักวิชาการ 60 คน จากมหาวิทยาลัย 16 แห่งทั่วประเทศ เรื่องประณามการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ หลังเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าควบคุมและเชิญตัวนักวิชาการและนักศึกษารวม 7 คน นำโดย นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ไปชี้แจงทำความเข้าใจ และให้ยุติการจัดเสวนาวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เนื้อหาจดหมายระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทหารและตำรวจยังควบคุมตัวนักวิชาการ และนักศึกษาที่จัดงาน ไปที่สถานีตำรวจนครบาลคลองหลวง ในฐานะนักวิชาการ ขอประณามการกระทำของทหารและตำรวจ ที่ใช้อำนาจคุกคามนักศึกษาและนักวิชาการถึงในพื้นที่มหาวิทยาลัย การกระทำดังกล่าวคุกคามสิทธิเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน และเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง

ข้ออ้างที่ว่า กฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่นั้น เป็นเพียงการประกาศว่าทหารและตำรวจมี "อำนาจ" จะคุกคามได้ แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้อำนาจคุกคามนั้นชอบธรรม ส่วนข้ออ้างที่ว่า งานเสวนาวิชาการนี้ อาจกระทบต่อความมั่นคงนั้น ก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น การจัดเสวนาวิชาการเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะการเมืองในประเทศหรือการเมืองต่างประเทศ เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่ง และที่ผ่านๆ มาก็ไม่เคยปรากฏเลยว่า งานเสวนาวิชาการลักษณะนี้กระทบต่อความมั่นคง ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ

จึงขอเรียกร้องให้คสช.หยุดใช้อำนาจคุกคามนักวิชาการและนักศึกษา และหยุดคุกคามเสรีภาพในทางวิชาการ หากสิทธิพื้นฐานอย่างสิทธิในการแลกเปลี่ยนทางปัญญาในสถานศึกษายังไม่ได้รับการเคารพ เราก็ย่อมไม่มีทางหวังได้เลยว่าประเทศไทยภายหลังการปฏิรูปของ คสช.จะเป็นประเทศที่เคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชน

น.ส.อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เห็นว่า ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่รัฐที่ว่าเขามีอำนาจเข้าควบคุมได้เพราะกฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่นั้น เป็นเพียงการประกาศว่ามีอำนาจคุกคาม แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจคุกคามนั้นชอบธรรม

สำหรับรายนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ อาทิ ดร.กนกรัตน์ สถิตนิรามัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) นายคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ดร.คำแหง วิสุทธางกูร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ น.ส.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ชนิสร เหง้าจำปา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ชลัท ศานติวรางคณาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

"วินธัย"วอน งดกิจกรรมการเมือง

ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวเจ้าหน้าที่ทหาร มีการประสานไปยังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขอให้ยกเลิกการจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง ความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ว่า ต้องดูว่ารายละเอียดของการจัดเสวนา มีเนื้อหาที่นำไปสู่ความแตกแยก หรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่นหรือไม่ เพราะหากเป็นการร่วมกลุ่มกัน เพื่อทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ต้องขอให้งดเอาไว้ก่อน

ส่วนรายละเอียดการยกเลิกนั้นตนไม่ทราบรายละเอียดขอให้ไปถาม พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 แต่เชื่อว่าเป็นเพียงการไปขอความร่วมมือเนื่องจากบรรยายกาศของประเทศขณะนี้ ไม่อยากให้มีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งถ้าหน่วยงานใดมีข้อเสนอแนะ ก็ขอให้ทำหนังสือเสนอมายัง พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่อยากให้ใช้ช่องทางอื่นที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมอีก