'พีอีเอ'ชี้นักลงทุนเมินโซลาร์ฟาร์ม

'พีอีเอ'ชี้นักลงทุนเมินโซลาร์ฟาร์ม

"พีอีเอ"ชี้นักลงทุนเมินโซลาร์ฟาร์ม คาดเข้าระบบแค่ 500 เมกะวัตต์หลังเปลี่ยนระบบอุดหนุน

นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(พีอีเอ) เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติกำหนดเส้นตายให้นักลงทุนที่ยื่นขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์ม) ไว้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรคกูเลเตอร์ ตั้งแต่ปี 2552-2553 ให้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบให้เสร็จภายในปี 2558 นั้น เชื่อว่าจะมีนักลงทุนดำเนินการผลิตจริงเพียง 500 เมกะวัตต์ จากที่ยื่นขอผลิตไว้ แต่ยังไม่ดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 1,054 เมกะวัตต์

ทั้งนี้เนื่องจาก กพช. ที่ผ่านมามีมติให้ปรับระบบเงินสนับสนุน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่ จากระบบ “เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ แอดเดอร์” มาเป็น “เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ ฟีทอินทารีฟ” ซึ่งฟีทอินทารีฟกำหนดให้เงินสนับสนุนผู้ผลิตโซลาร์ฟาร์มเพียง 5.66 บาทต่อหน่วย โดยเมื่อเปรียบเทียบกับระบบแอดเดอร์จะให้ 6.50 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าฐานอีกกว่า 3 บาทต่อหน่วย ดังนั้นระบบฟีทอินทารีฟ ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ได้รับเงินสนับสนุนน้อยลง และนักลงทุนอาจสนใจผลิตโซลาร์ฟาร์มเข้ามาจริงแค่ 500 เมกะวัตต์เท่านั้น

นอกจากนี้กพช.ยังมีมติให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพิ่มให้ครบตามเป้าหมาย 200 เมกะวัตต์ โดยที่ผ่านมาให้โควตากลุ่มโรงงาน 100 เมกะวัตต์ ซึ่งมีผู้ขอผลิตครบเต็มจำนวนแล้ว ส่วนกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยอีก 100 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยื่นขอเข้ามาเกือบ 50 เมกะวัตต์เท่านั้น ดังนั้น กพช.จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มบ้านเรือน ยื่นขอให้เต็มจำนวน ซึ่งพีอีเอ ได้พร้อมเปิดรับซื้อไฟฟ้าในส่วนบ้านเรือนดังกล่าวแล้วตั้งแต่บัดนี้จนถึงกำหนดสิ้นปี 2558 ตามมติ กพช.

ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าชุมชน 800 เมกะวัตต์ นั้น ทาง กพช.ได้เปลี่ยนไปให้กลุ่มราชการและสหกรณ์เพื่อการเกษตร ดำเนินการแทนกองทุนหมู่บ้านที่ติดปัญหาด้านการเงินและระเบียบต่างๆ เชื่อว่าหน่วยราชการที่มีความพร้อม อาทิ หน่วยทหารและสหกรณ์เพื่อการเกษตรต่างๆ จะสามารถขอผลิตไฟฟ้าโซลาร์เข้ามาได้ในปี 2558 ซึ่งในส่วนของ พีอีเอ จะช่วยดูในเรื่องของระบบสายส่งไฟฟ้าให้เพียงพอ

นายนำชัย กล่าวว่า ขณะนี้ กพช.อยู่ระหว่างการจัดการกับคำขอผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ต่างๆ ที่ยังค้างอยู่และยังไม่ผลิตไฟฟ้าตามแผนให้เสร็จในปี 2558 และหลังจากนั้นเชื่อว่า ภาครัฐอาจเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์และโซลาร์รูฟท็อปอาจเปิดรับได้อีก 200 เมกะวัตต์ แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 25% ในปี 2564

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การให้ระบบฟีทอินทารีฟสำหรับโซลาร์ฟาร์มเหลือ 5.66 บาทต่อหน่วย นั้นเห็นว่าต้นทุนการผลิตโซลาร์ลดต่ำลงมาก อีกทั้งยังป้องกันผู้ประกอบการที่หวังกำไร จากใบขออนุญาตผลิตไฟฟ้า และนำใบขอผลิตไฟฟ้าไปขายต่อเพื่อหวังกำไรส่วนต่าง ซึ่งระบบใหม่จะทำให้คัดกรองผู้ที่ตั้งใจผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์จริงเท่านั้น