'2วิธี'ทูลเกล้าฯรธน.

'2วิธี'ทูลเกล้าฯรธน.

2วิธี ทูลเกล้าฯรธน. "หัวหน้าคสช."เข้าเฝ้าฯเอง-ยื่นผ่านเอกสาร "หมอประเวศ"แนะคนไทยทุกภาคส่วนร่วมปฏิรูป

คสช.แย้ม 2 ช่องทางทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญชั่วคราว คาดประกาศใช้ภายในเดือนนี้ "ไพบูลย์"ลั่นเดินหน้าแก้ก.ม.ล้าสมัยให้มีความยุติธรรม "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์"แนะตั้งสนช.จากหลากหลายอาชีพ ด้านศาลอนุมัติหมายจับ 7 ผู้ต้องหาคดียิงเอ็ม 79 ถล่ม กปปส.หน้าบิ๊กซี ราชดำริ แล้ว

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว คาดว่าในเดือนก.ค.นี้ น่าจะประกาศใช้

สำหรับช่องทางในการทูลเกล้าฯ ถวายประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะมีอยู่ 2 ช่องทาง คือ 1.ช่องทางหลัก ที่ดำเนินการยื่นผ่านเอกสาร แล้วมีการประกาศใช้ หรือ 2.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เข้าเฝ้าฯ เพื่อทรงให้มีพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งทั้งสองช่องทางขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช.จะตัดสินใจ

พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขระบบกฎหมายภายหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า การแก้ไขกฎหมายทั้งหมด ทุกๆ เรื่องทุกประเด็นที่ล้าหลังไม่เข้ากับสภาพบริบทสังคมในปัจจุบัน คสช.จะนำมาแก้ไขให้เป็นระบบกฎหมายที่ทันสมัยมีความยุติธรรม

"จะเห็นว่าที่ผ่านมา 7 เดือนที่มีความขัดแย้งทางการเมือง มีกฎหมายที่อยู่ในชั้นสภาหรือกฎหมายที่รอการประกาศใช้ และกฎกระทรวงยังค้างคางอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น คสช.จะเอามาแก้ไขดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ที่ผ่านมาก็ออกกฎหมายไปแล้วบางส่วน"

สำหรับกฎหมายที่ออกไปนั้น แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ออกโดย คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ผ่านคำสั่งหรือประกาศต่างๆ ของ คสช. 2.ออกในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นกระบวนการของกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระมาก จึงทำให้ไม่สามารถออกเป็นประกาศ หรือคำสั่ง คสช.ได้ 3.ออกกฎหมายโดยกระบวนการสุดท้ายที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

สภาเล็งวางกรอบ"สนช.-สภาปฏิรูป"

นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า วันที่ 15 ก.ค.นี้ จะประชุมคณะทำงานร่วม 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และคณะกรรมการประสานงานร่วม ที่มีนายพิทูร พุ่มหิรัญ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายสุรพงษ์ มาศะวิสุทธิ์ อดีตที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาถึงลำดับขั้นตอนการทำงาน และเตรียมความพร้อมด้านระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้แก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ที่คาดว่าจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ฐานะฝ่ายเลขาธิการ สนช. ทำงานได้รวดเร็ว

นางนรรัตน์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะนำข้อบังคับการประชุม สนช.เมื่อปี 2550 และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา แต่ยังไม่ถือว่าข้อบังคับดังกล่าวจะเป็นข้อสรุป เพื่อให้ สนช.ชุดใหม่เป็นกรอบการทำงาน เนื่องจากต้องพิจารณารายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนว่ามีบทบัญญัติเช่นไร โดยอาจจะใช้ข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2550 อย่างอนุโลมในการประชุมนัดแรก จากนั้น สนช.ต้องยกร่างข้อบังคับการประชุมขึ้นมา โดยพิจารณาเนื้อหาที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ด้าน นายธงชัย ดุลยสุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาปฏิรูป เปิดเผยว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ในส่วนของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภา เป็นผู้ยกร่างข้อบังคับการประชุมสำหรับสภาปฏิรูปไว้แล้ว เบื้องต้นมีกรอบพิจารณาคือ ข้อบังคับการประชุม สนช.ชุดที่ผ่านมา และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นกติกาเกี่ยวกับการลงมติ หรือการอภิปราย อย่างไรก็ตาม การยกร่างข้อบังคับดังกล่าวยังไม่ถือว่ามีความสมบูรณ์ เพราะต้องรอพิจารณารายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน เนื่องจากต้องเขียนข้อบังคับให้สอดคล้องกัน

"สมบัติ"แนะตั้งสนช.หลากหลาย

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า โครงสร้างของ สนช.ชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีผลบังคับใช้ส่วนใหญ่จะมาจากเครือข่ายของฝ่ายทหารและ คสช.ว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่คณะปฏิวัติต้องตั้งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่เพื่อควบคุมเสียงข้างมากในสภาเอาไว้ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การพิจารณาร่างกฎหมายนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเข้ายึดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม มองว่าการทำงานที่มีเป้าหมายหลักเพื่อการปฏิรูปประเทศ หรือ ปฏิรูปการเมืองนั้น จำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีความหลากหลายเข้าไปทำงาน โดยเมื่อสมัย สนช.ปี 50 พบว่ามีตัวแทนจากข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน รวมถึงตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้พิการ ที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญ รู้ลึก และรู้จริงต่อสภาพปัญหาเข้าไปทำงาน แล้วให้เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณาร่างกฎหมาย แต่หากการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีสมาชิกที่เป็นคนมีแนวคิดเดียวกัน หรือกลุ่มก้อนเดียวกัน อาจเสี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมได้

"ประเวศ"แนะคนไทยร่วมปฏิรูปประเทศ

ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และมูลนิธิเพื่อคนไทย และภาคีเครือข่ายภาคสังคม ร่วมจัดงาน "ต่างใจไทยเดียว" พร้อมจัดเวทีปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ ร่วมสร้าง..สังคมน่าอยู่ ”

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้เกิดวิกฤติในทุกภาคส่วน ทั้งวิกฤติด้านเศรษฐกิจ วิกฤติด้านการเมืองที่ขัดแย้งมากว่า 10 ปี วิกฤติด้านสังคม ที่ติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงสุด ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นดังกล่าวเกิดจากการขาดการพัฒนาที่สมดุลกันในทุกด้าน ดังนั้นการทำให้ประเทศไปต่อได้ ต้องเกิดความร่วมมือจาก 3 ภาคี ได้แก่ 1.ภาครัฐ ที่โปร่งใส 2.ภาคธุรกิจ ที่รับผิดชอบต่อสังคม และ 3.ภาคสังคม ที่เข้มแข็ง ซึ่งเมื่อ 3 ส่วนประสานร่วมกันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ยิ่งใหญ่

ด้านนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ประเทศพัฒนาและเกิดความสันติได้ คือ การทำให้สังคมเข้มแข็ง ประชาชนทุกภาคส่วนมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งดูได้จากระบอบทักษิณ ถือว่า มีพลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันต่อต้าน ระบอบทักษิณก็ไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้

ดังนั้นขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศ ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันและมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ นั่นคือ การปฏิรูปประเทศ ซึ่งทางคสช.ก็ได้ดำริจัดตั้งสภาปฏิรูป ทำให้การปฏิรูปเป็นวาระแห่งชาติ โดยตนมองว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่สภาปฏิรูป แต่การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้อยู่ที่คนไทยทั้งประเทศมีความเชื่อมโยงกัน

"คนไทยต้องใช้โอกาสนี้ร่วมกันปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง เนื่องจากขณะนี้มีการเปิดพื้นที่ทางสังคม เปิดพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง จึงเป็นโอกาสที่เราจะฝันถึงสังคมไทยยุคใหม่ เป็นสังคมที่มีความเจริญ ถูกต้องและดีงาม ผมจึงอยากเชิญชวนให้คสช. และประชาชนทุกภาคส่วน มาร่วมกันเชื่อมโยงประเทศไทย ปลูกจิตสำนึกใหม่ให้มองคนไทยเป็นพี่น้องกัน ไม่ว่าจะสีใด ถึงต่างใจ แต่ต้องเป็นไทยเดียวกัน"นพ.ประเวศ กล่าว

ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และสมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป กล่าวว่า ขณะนี้คำถามที่สำคัญมากที่คนไทยให้ความสนใจ คือ จะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเมื่อไหร่ สภาปฏิรูปหน้าตาจะเป็นอย่างไร คสช.จะทำการปฏิรูปประเทศสำเร็จหรือไม่ และคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย

"ผมมองว่าแค่เพียงเราคิดจะรอว่า คสช.จะทำอะไร ก็จะไม่สำเร็จตั้งแต่ต้น แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกส่วนช่วยกันคิดช่วยกันสร้าง การปฏิรูปต้องมาจากฐานราก คือ ประชาชน ซึ่งการปฏิรูปที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ต้องเป็นวาระของประชาชน จึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมปฏิรูป เกิดการพูดคุยหาทางออกร่วมกันในทุกระดับ และต้องทำให้กลไกเรื่องการปฏิรูปต่อเนื่องและยาวนาน ไม่หยุดแม้จะมีรัฐบาลใหม่ หรือสภาปฏิรูปหมดอายุไป ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายให้ความสำคัญลงมือทำอย่างจริงจัง ก็จะนำไปสู่การทำให้ประเทศมั่นคงและน่าอยู่ได้"