'เกริก'มั่นใจแบงก์ไทยแกร่ง!

'เกริก'มั่นใจแบงก์ไทยแกร่ง!

“เกริก”ยันสถาบันการเงินแกร่ง รับแรงเสียดทานได้ ย้ำชัดแบงก์ชาติ ต้องไม่ปล่อยให้แบงก์พาณิชย์เป็นต้นเหตุวิกฤติ

ปัญหาการเมืองในช่วงก่อนหน้านี้ที่ลากยาวกว่า “ครึ่งปี” จนฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยถึงขั้น “หดตัว” สะท้อนผ่านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ “จีดีพี” ไตรมาสแรกปี 2557 ที่หดตัวลง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สถานการณ์ที่ว่านี้ทำให้ “กลุ่มสถาบันการเงิน” ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ จากทุกภาคส่วน เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัวลง จนทำให้สถานการณ์พัฒนากลายเป็น “วิกฤติเศรษฐกิจ” เหมือนเมื่อครั้งปี 2540

เรื่องนี้ นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สถาบันการเงินไทยในขณะนี้ ถือว่ามีความเข้มแข็งมาก เพราะเป้าหมายการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ ธปท. ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ยึดมั่นใน 3 ข้อหลัก

คือ 1.ต้องดูแลไม่ให้สถาบันการเงินเป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ 2.สถาบันการเงินต้องมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยทำหน้าที่ส่งต่อเงินออมของประชาชนไปยังภาคธุรกิจ และ 3.ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ต้องไม่เอาเงินภาษีของประชาชนมาใช้

“เท่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ในสภาพแบบนี้ เขา (แบงก์พาณิชย์) ก็ยังทำหน้าที่ของเขาได้อยู่ คือ ส่งต่อเงินออมไปยังภาคธุรกิจ ระบบชำระเงินก็ยังทำหน้าที่ตามปกติ และไม่ว่าจะยังไง เราไม่อยากให้เอาเงินภาษีของประชาชนมาอุดหนุน ซึ่งถ้าดูทั้งหมดนี้ไม่ได้ใกล้เคียงในปัจจุบันเลย”

นายเกริก บอกด้วยว่า ถ้าดูการขยายตัวของสินเชื่อในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการเติบโตชะลอลงต่อเนื่อง โดยในปี 2554 สินเชื่อเคยเติบโตสูงถึง 15.1% ในปี 2555 การเติบโตชะลอเหลือ 13.7% ส่วนในปี 2556 ตัวเลขการเติบโตลดลงเหลือ 11% และไตรมาสแรกปี 2557 การเติบโตของสินเชื่อไทยปรับลดลงเหลือ 9.8% จะเห็นว่าการขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าว สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้มีอะไรที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ เขายังยืนยันด้วยว่า การชะลอตัวของสินเชื่อที่กล่าวมา ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วง เพราะถ้าดูตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาสแรกปี 2557 ที่ขยายตัว 9.8% เทียบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสเดียวกันที่หดตัว 0.6% ต้องถือว่าการเติบโตของสินเชื่อยังอยู่ในระดับที่สูง

“แนวโน้มสินเชื่อระยะต่อไปคงต้องขึ้นกับว่าสภาพเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นหรือยัง คนมีความเชื่อมั่นฟื้นกลับมาแค่ไหน ถ้าคนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ตัวเลขการขยายตัวก็คงดีขึ้น แต่ในความเห็นของผมแล้วการเติบโตในระดับนี้ที่ต่ำกว่าเลข 2 หลัก ผมว่ามันดีอยู่แล้ว”

สำหรับในด้านคุณภาพสินเชื่อ นายเกริก บอกว่าไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เพราะถ้าดูตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็ทรงตัวในระดับ 2.3% มาต่อเนื่อง ส่วนภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเริ่มเป็นห่วงต่อคุณภาพหนี้ในกลุ่มนี้ แต่เท่าที่ ธปท. ติดตามดูตัวเลขเอ็นพีแอลก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ผมเข้าใจว่า เอสเอ็มอีของเราตอนนี้ ธุรกิจยังไม่ถึงขั้นต้องปลดคนงาน เพียงแต่การทำโอทีอาจไม่ได้มาก และขณะนี้เองก็เข้าใจว่า ความรู้สึกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปก็ไม่มีเหตุอะไรที่ต้องวิตกกังวล”

นอกจากนี้ถ้าดูในด้านความเพียงพอของเงินกองทุนและระดับการกันสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง ต้องถือว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก เพราะตามเกณฑ์ “บาเซิล3” ของต่างประเทศกำหนดเงินกองทุนไว้ที่ 8% ซึ่งของไทยสูงกว่านั้นโดยอยู่ที่ 8.5% แต่ในความเป็นจริง ธนาคารพาณิชย์ไทยมีระดับของเงินกองทุนเฉลี่ยสูงถึง 15.5% ในจำนวนนี้ยังเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นสามัญสูงถึง 12%

นายเกริก บอกด้วยว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อเองก็ขยายตัวต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงและเป็นการเตรียมความพร้อมเผื่อภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ธปท. จึงขอให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มระดับการกันสำรองที่มากขึ้น และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกธนาคารพาณิชย์พร้อมให้ความร่วมมือ

“เราไม่ได้ทำแค่ด้านเดียว เพราะต่อให้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ดีที่สุด เช่น มีอาร์โออี(ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น) สูงถึง 17-18% แต่เมื่อได้กำไรมาก็เอาไปจ่ายปันผลหมด เวลาเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาค้ำจุนอย่างนี้ความเสียหายเกิดขึ้นได้ ดังนั้นที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไทยจึงมีการสะสมเงินทุนในเงินกองทุน และสะสมเงินสำรองเผื่อความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์โดยเฉลี่ย มีการสะสมเงินสำรองเผื่อความเสียหายสูงกว่าเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนดถึง 160%”

นอกจากนี้ นายเกริก ยังบอกด้วยว่า ถ้าเอาเงินที่ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบกันสำรองไว้มาหารด้วยสินเชื่อที่ปล่อยไปทั้งหมด จะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 3.4-3.8% โดยขึ้นกับช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เพราะช่วงที่ผ่านมาทางการ จีน เองก็เคยประกาศว่าอยากให้สัดส่วนการกันสำรองต่อสินเชื่อที่ปล่อยออกไปอยู่ที่ 2.2% ดังนั้นตัวเลขการสำรองของธนาคารพาณิชย์ไทยจึงถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

ก่อนหน้านี้ นายเกริก เคยยืนยันกับทาง “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในสมัยที่เขายังดำรงตำแหน่ง “รองผู้ว่า ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน” ของ ธปท. รับรองได้ว่าจะไม่มีธนาคารพาณิชย์รายใดต้องล้มหายหรือปิดกิจการไป

แม้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า นายเกริก จะเกษียณอายุงานลง แต่เขายังคงให้ความเห็นเดิมว่า ไม่น่าจะมีธนาคารพาณิชย์รายใดถึงขั้นต้องปิดกิจการอันเกิดจากการดำเนินงานที่ผิดพลาดโดยตัวของธนาคารพาณิชย์นั้นเอง เว้นแต่ว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาถึงขั้นล่มสลาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแม้ธนาคารพาณิชย์จะมีความแข็งแกร่งเพียงใด ก็คงไม่อาจทนแรงเสียดทานได้อย่างแน่นอน

“ผมไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีปัญหา แต่ผมให้ความเห็นได้ว่า ไม่น่ามีปัญหา ส่วนจะไม่มีปัญหาไปอีกกี่ปีคงตอบไม่ได้ ต้องขึ้นกับว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เพราะถ้าเศรษฐกิจล่มสลาย แบงก์เองย่อมต้องล่มสลายไปด้วย แต่ขณะนี้ไม่มีท่าทีว่าจะมีการล่มสลายทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด”นายเกริกกล่าวยืนยัน