นายกฯย้ำคำเดิม'รักษาการต่อ'

นายกฯย้ำคำเดิม'รักษาการต่อ'

จุดยืนของ"ยิ่งลักษณ์" คือ รับฟังทุกข้อเสนอที่อยู่ภายใต้กติกาตามระบอบประชาธิปไตย ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายรองรับ

นายกฯย้ำคำเดิม'รักษาการต่อ'

ด้านความเคลื่อนไหวของ นางสาวยิ่งลักษณ์ หลังจากที่นายอภิสิทธิ์แถลงข้อเสนอทางออกประเทศ ปรากฏว่านายกฯเก็บตัวพักผ่อนอยู่ภายในบ้าน ไม่มีภารกิจใดๆ

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เผยว่า นายกฯ ทราบข่าวข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์แล้ว แต่ยังไม่ขอแสดงความเห็น และขอให้สังคมส่วนใหญ่ช่วยกันพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวก่อน แต่จุดยืนของนายกฯคือ รับฟังทุกข้อเสนอที่อยู่ภายใต้กติกาตามระบอบประชาธิปไตยที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายรองรับ รวมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลต้องรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ

"วราเทพ"ชี้รัฐบาลเฉพาะกาลทำไม่ได้

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เรื่องรัฐบาลคนกลางเฉพาะกาล เพื่อให้มีหน้าที่บริหารจัดการการเลือกตั้งนั้น เคยมีการพูดคุยและมีการเสนอกันมาแล้ว ซึ่งในแง่กฎหมายไม่สามารถทำได้ อีกทั้งการทำให้ทุกฝ่ายยอมรับในตัวบุคคลก็เป็นเรื่องยาก

นายวราเทพ กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งถือเป็นทางออก ซึ่งรัฐบาลพูดคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว ส่วนข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายไม่เห็นด้วย และไม่เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตย

"จาตุรนต์"ซัดจงใจขัดรธน.อย่างร้ายแรง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเสนอให้นายกฯลาออกและเปิดทางให้วุฒิสภาสรรหานายกฯคนใหม่ เท่ากับว่านายอภิสิทธิ์กำลังเสนอข้อเสนอที่ขัดต่อรัฐรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงด้วยความจงใจ

"เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องข้อเสนอของ กปปส.ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ของฝ่ายที่จ้องจะทำลายประชาธิปไตย และข้อเสนอนี้ทำให้นายอภิสิทธิ์ได้ความชัดเจนมากขึ้น ที่อาจจะทำให้คนดูว่ามีน้ำหนักมากขึ้น เพราะข้อเสนอนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ไปพบกับฝ่ายต่างๆ แต่ความจริงแล้วเป็นข้อเสนอเก่าที่ล้าหลัง"

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอที่นายอภิสิทธิ์จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็เป็นเรื่องเก่า เพราะต้องการบอยคอตเลือกตั้งอยู่แล้ว ฉะนั้นนายอภิสิทธิ์กำลังทำอย่างเดิม แต่อธิบายใหม่ มองว่าบทบาทของนายอภิสิทธิ์นั้นจบแล้ว ไม่เป็นไปตามประชาธิปไตยและขัดต่อรัฐธรรมนูญ

พท.ขอศึกษาข้อเสนอก่อนประกาศจุดยืน

อย่างไรก็ดี ในนามพรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรค แถลงถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ว่า ทางพรรคมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคศึกษาข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์อีกครั้ง ก่อนจะกำหนดท่าที ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุนแนวทางที่จะมีการระงับ ยกเว้น หรือยุติการใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะยุติโดยชั่วคราวก็ตาม

"ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคได้ศึกษาอย่างละเอียดก่อน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการศึกษาข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ จากนั้นพรรคจะออกมาประกาศจุดยืนต่อสังคมต่อไป ทั้งหมดก็เพื่อความเป็นเอกภาพของพรรคเพื่อไทย" นายอนุสรณ์ ระบุ

กปปส.ยันเคลื่อนไหวต่อไป

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. กล่าวว่า หลักการที่เสนอมามีที่ตรงกับจุดยืนของ กปปส. คือ เห็นว่ารัฐบาลเป็นต้นเหตุของปัญหา และต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งโดยปราศจากการเมือง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลลาออกนั้น เห็นว่าเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องไปคุยกันเองก่อน ส่วน กปปส.นั้นยืนยันว่าไม่ว่าจะคุยกันอย่างไร กปปส.ก็จะยังเคลื่อนไหวต่อไป

"พุทธะอิสระ"ย้ำทางออกเดียวคือม.3

ขณะที่ หลวงปู่พุทธะอิสระ ผู้ก่อตั้งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และแกนนำ กปปส.เวทีศูนย์ราชการฯ กล่าวว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวทางของ กปปส. คือ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เช่นเดียวกับข้อเสนอเสียสละตัวเองและถอยจากการเมือง ก็เป็นข้อเสนอเดิมของ กปปส.

"ทุกเวทีควรต้องมีทางลง หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่านายกรัฐมนตรีและครม.มีความผิด โดยยังออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งไม่ทัน เหลือแต่สภา หากวุฒิสภาจะทำงานโดยเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกฯ คนเสื้อแดงก็ไม่ยอม ข้อเสนอรัฏฐาธิปัตย์ รัฐบาลก็ไม่ยอม ทหารหรือตำรวจก็ไม่เอาด้วย มาถึงวันนี้จึงไม่ควรมาสร้างเงื่อนไขเพิ่มขึ้น แต่ควรหันหน้ามาพูดคุยเพื่อหาทางร่วมกัน นั่นคือการใช้มาตรา 3 ถวายคืนพระราชอำนาจ เป็นทางออกเดียวที่จะลดความสูญเสีย" หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าว

ห่วง"รัฐบาลคนกลาง"มีปัญหาข้อ ก.ม.

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า แนวทางที่นายอภิสิทธิ์เสนอ มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อหลักการรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1.การชะลอการเลือกตั้งออกไป 2.การเสนอให้รัฐบาลลาออก 3.การทำประชามติโดยเนื้อหาสาระของการปฏิรูปมาจากผู้ที่ไม่ได้รับอาณัติจากประชาชน และ 4.การสร้างเงื่อนไขให้ กกต.มีอำนาจยุบพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนการปฏิรูป

ขณะที่ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และแกนนำเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป กล่าวว่า ข้อเสนอบางส่วนต้องมาหารือในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อาทิเช่น การที่จะมี "รัฐบาลเฉพาะกาลคนกลาง" ซึ่ง "เป็นที่ยอมรับของคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย" ว่าในความเป็นจริงจะดำเนินการให้เป็นที่ยอมรับและอยู่ในกรอบของกฎหมายได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นจุดที่ต้องคุยกันอย่างรอบคอบด้วยความเข้าใจจุดยืนและข้อห่วงใยของทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงโอกาสในการช่วยกันหาทางออกให้ประเทศและประโยชน์สูงสุดของบ้านเมือง