บจ.เล็กแห่ขายหุ้นเพิ่มทุน'พีพี'

บจ.เล็กแห่ขายหุ้นเพิ่มทุน'พีพี'

บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กแห่เพิ่มทุนขายหุ้นแบบพีพี เน้นจัดสรรให้นักลงทุนรายใหญ่ ช่วง 1-2 เดือน

จากการสำรวจข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก ที่ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยส่วนใหญ่จะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งปัจจุบันมี 10 บริษัท ที่เสนอขายไปแล้วและอยู่ระหว่างเตรียมการ

สำหรับบริษัทที่เสนอขายและประกาศชื่อผู้ที่ได้รับจัดสรรแล้ว ได้แก่ บริษัทพีเออี (ประเทศไทย) PAE จัดสรรหุ้นให้กับ นายชนะชัย ลีนะบรรจง 100 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.60 บาท ภายหลังการเสนอขายขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ถือครองหุ้น 4.93%

บริษัท เค-เทค คอนสตรัคชั่น (KTECH) นายพัชวัฏ คุณชยางกูร 70 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) SLCจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 300 ล้านหุ้น ให้กับผู้ลงทุน 2 ราย ในราคา 0.535 บาทเท่ากัน ได้แก่ 1.นายสงกรานต์ ตันศิริ 240 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 128.40 ล้านบาท และนายตรีขนิษฐ์ มากรักษา 60 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 32.10 ล้านบาท

บริษัทตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ (TH) จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.431 บาท จัดสรรให้แก่นักลงทุนรวมเฉพาะเจาะจง ล็อตแรก 4 ราย 1.นายเอกวิชญ์ กมลเทพา 50 ล้านหุ้น นายภาณุรักษ์ แสงอร่าม 20 ล้านหุ้น นายสุกิจ ตรัยวนพงศ์ 10 ล้านหุ้น นายพงษ์ศักดิ์ สุทธิศรีปก 10 ล้านหุ้น โดยจำนวนนักลงทุนเข้ามาถือหุ้นในบริษัทฯ ไม่เข้าเกณฑ์ในการทำ Tender Offer นักลงทุนทั้ง 4 ราย มีสิทธิในการออกเสียงเท่าเทียมกับผู้ถือหุ้นของบริษัทตามข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้นักลงทุนทั้ง 4 ราย ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน

บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA) จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 1500 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 0.50 บาท ให้ 8 ราย ได้แก่ นางสุมาลี อ่องจริต 300 ล้านหุ้น 2. นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ 300 ล้านหุ้น 3.นายนิพนธ์ ณัฐวุฒิ 225 ล้านหุ้น 4. นายยรรยงค์ อินทรสงเคราะห์ 215 ล้านหุ้น 5. นางสาว จิราพัชร ไชยวรรณา 200ล้านหุ้น 6.นางมนธิรา ผดุงรัตน์ 115 ล้านหุ้น 7. นางอรอร อัครเศรณี 100 ล้านหุ้น 8. นางสาวสุรีพร อุทัยวิวัฒน์กุล 45 ล้านหุ้น

ส่วนบริษัทที่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการ ได้แก่ บริษัท โซลาร์ตรอน (SOLAR) ระบุว่า บริษัทเตรียมดำเนินการเพิ่มทุนช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากที่เคยขอมติผู้ถือหุ้นในการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ไว้แล้วตั้งแต่ปีก่อน

ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะขายหุ้นเพิ่มทุนในลักษณะใด หากเป็นการขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะเจาะจง (PP) จะขายหุ้นราว 50 ล้านหุ้น แต่หากเป็นการขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จะขาย 150 ล้านหุ้น สัดส่วน 5 ต่อ 1 ซึ่งคาดจะได้เงินจากการเพิ่มทุน 400-700 ล้านบาท โดยจะเสนอเรื่องนี้เพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 เม.ย. นี้

บริษัท ณุศาศิริ (NUSA) เสนอขายแบบพีพี 50 ล้านหุ้น ส่วนบริษัท เอสพีซีจี (SPCG) เสนอขายแบบพีพี 83.99 ล้านหุ้น โดยจะกำหนดราคาเสนอขาย วันและเวลาที่เสนอขาย และรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ อีกครั้ง โดยการจัดสรรจะให้เสร็จในวันที่บริษัทจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ซึ่งกำหนดประชุมวันที่ 25 เม.ย.นี้ และบริษัททีดับบลิวแซด (TWZ) จะเสนอขายหุ้น 2 พันล้านหุ้นแบบพีพี และบริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง (GEL) จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบพีพีไม่เกิน 1,815 ล้านหุ้น

ทั้งนี้หุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้กับกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ของบริษัทโซลูชั่น และบริษัทอควาฯ จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดเอ็มเอไอ ภายในวันนี้ (28 มี.ค.) โดยราคาหุุ้นเพิ่มทุนแบบพีพีที่ทั้ง 2 บริษัทจัดสรรต่ำกว่าราคาในกระดานหลัก

ทั้งนี้จะสังเกตเห็นว่า บริษัทที่มีการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบพีพี ตลาดหลักทรัพย์จะสั่งให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม และชี้แจงถึงรายละเอียดความสัมพันธ์ของผู้ที่ได้รับจัดสรร เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบโดยทั่วกัน

แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน กล่าวว่า การที่บริษัทจดทะเบียนเลือกที่จะจัดสรรแบบพีพี เพราะการดำเนินการได้ง่ายกว่าการระดมทุนในรูปแบบอื่น และมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนสูง และมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้น จึงเลือกขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจงที่ต้องการถือหุ้นบริษัทมากกว่า จะเห็นว่าที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์มีความเข้มงวดการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนใหม่ ซึ่งบริษัทต้องชี้แจงข้อมูลให้ครบถ้วน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นใจหุ้นกับผู้ถือหุ้นของบริษัท บางรายก็จะมีการกำหนดเวลาห้ามซื้อขายหุ้นไว้ 1 ปีหรือ 6 เดือน ซึ่งน่าจะช่วยทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ตื่นตระหนกแม้ว่าจะจัดสรรหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าในกระดานหลัก

"ในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวน และความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้บริษัทจะต้องเลือกที่จะเพิ่มทุนแบบพีพี เพราะเป็นการตกลงซื้อขายระหว่างบริษัทและนักลงทุนรายบุคคล การดำเนินการไม่ซับซ้อนแต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้ถือหุ้นเดิมถูกเอาเปรียบ รวมทั้งควรจะมีการชี้แจงที่ชัดเจนด้วย"