คืนตำแหน่ง'ถวิล'..ผลเพราะคิดแต่เรื่องการเมือง

คืนตำแหน่ง'ถวิล'..ผลเพราะคิดแต่เรื่องการเมือง

ตุลาการผูแถลงคดีระบุเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ เป็นการโอนย้ายโดยไม่มีเหตุผลว่า"ถวิล เปลี่ยนสี"ไม่มีประสิทธิ หรือปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้กับ "ถวิล เปลี่ยนศรี" ในวันนี้ ไม่ถือว่าเหนือกว่าความคาดหมายเพราะทั้งศาลปกครองกลาง และตุลาการผู้แถลงคดี นำเสนอข้อมูลชุดเดียวกันนี้ออกมาว่าคำสั่งโยกย้ายนั้นไม่ถูกต้อง

โดยระบุว่า เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ เป็นการโอนย้ายโดยไม่มีเหตุผลว่า นายถวิล เปลี่ยนสี ไม่มีประสิทธิ หรือปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง

จริงๆแล้วไม่แปลกนักหากที่ใครเข้ามาเป็นผู้มีอำนาจก็ย่อมอยากแต่งตั้งคนที่ตัวเองไว้ใจมาเป็นมือเป็นไม้คุมตำแหน่งสำคัญๆต่างๆ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องดูแลชั้นความลับ และ จัดการภารกิจที่สำคัญมากมายอย่างตำแหน่ง "เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ" ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการกระทำเช่นนี้หลายครั้ง ไม่ว่าจากพรรคการเมืองไหน

เหตุใดครั้งนี้จึงต่างไป ประการหนึ่งแน่นอนว่า "ถวิล"เป็นคนสู้คน และไม่ยอมง่ายๆใครง่ายๆ แต่หากย้อนไปดูประวัติของเขาแล้วจะเห็นว่าเป็นข้าราชการที่เติบโตมากับสภาความมั่นคงแห่งชาติ จนได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ แทน"สุรพล เผื่อนอัยกา" เมื่อเดือน มิ.ย. 2552 ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

และครั้งนั้น "สุรพล" ก็ถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เหมือนที่ "ถวิล" โดนเช่นกัน ทำให้ไม่แปลกว่า ใครๆก็มองว่าเขาสนิทสนมกับประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ"สุเทพ เทือกสุบรรณ" ที่เมื่อเรืองอำนาจก็เป็นถึงรองนายกฯด้านความมั่นคง และเมื่อเกิด ม็อบ กปปส. เขาก็ไม่พลาดที่จะร่วมเป็นหนึ่งในผู้ปราศรัย

แต่ที่น่าจะทำให้ "ถวิล" รับไม่ได้คือ การโยกย้ายตำแหน่งนี้ ไม่ได้เป็นเพื่อความเหมาะสมตามที่กล่าวอ้าง เพราะเป้าหมายจริงๆคือการความต้องการเปิดทางให้ตำแหน่งอื่นๆที่รัฐบาลต้องการด้วย

เมื่อดูผลที่ตามมาหลังการโยกย้าย เราจะเห็นการวางแผนเพื่อวางคนแบบเป็นขั้นเป็นตอน

เบื้องต้นเป็นการที่จะเปิดทางตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าต้องการผลักดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชาย คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้

ติดอยู่ที่ว่าตำแหน่งยังมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี นั่งค้ำอยู่ และเขาก็ไม่ต้องการที่จะออกจากตำแหน่ง รวมทั้งไม่มีความผิดใดๆที่จะสั่งปลด

แต่ภายหลังสายโทรศัพท์ลึกลับเข้ามาเจรจา ทำให้ "วิเชียร"ยอม แต่ตำแหน่งที่เขาจะไปต้องมีศักดิ์และสิทธิ์เสมอกัน ซึ่ง"เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ" อยู่ในสเป็คเช่นว่า

ทำให้งานนี้จึงจำเป็นต้องเปิดตำแหน่งเลขาฯสภาความมั่นคงแห่งชาติให้ว่างเสียก่อน นี่จึงเป็นที่มาของการโยก "ถวิล" ไปนั่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อตำแหน่งนี้ว่างลง จึงสบช่องในการให้ "วิเชียร" มานั่งในตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 2554

แน่นอนหลังจากนั้นไม่นานคือวันที่ 26 ต.ค. 2554 "เพรียวพันธ์ " จึงก้าวขึ้นบัลลังก์เบอร์หนึ่งของตำรวจ ส่วน "ถวิล" อยู่ในสภาพขาลอย มีแต่ตำแหน่งไม่มีงาน จากการให้การในชั้นศาลของเขาเองระบุว่าตลอดเวลานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ แต่กลับไม่เคยมีการปรึกษาแม้แต่ครั้งเดียว

แต่เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้น เมื่อเสร็จสมตามความตั้งใจ ในปีถัดมาคือ 1 ต.ค. 2555 ก็มีการโยกย้ายอีกครั้ง โดยคราวนี้ปรับ "วิเชียร" พ้นตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยโยกข้ามห้วยไปนั่งปลัดกระทรวงคมนาคม

แน่นอน ณ วันนั้นมีการอ้างเหตุผลเรื่องความเหมาะสมว่ากระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงสำคัญ ต้องติดต่อกับฝ่ายความมั่นคง เพราะต้องดูแลไม่ว่าเรื่องการขนส่ง เรื่องการดูแลท่าอากาศยาน ท่าเรือ ซึ่งต้องดูแลเรื่องการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตามเหตุผลจริงๆ คือต้องการเปิดทางให้ "พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร" ขึ้นมาเป็นแทนในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แน่นอนว่าเขาต้องถูกจับตาเรื่องการวางตัวให้นั่งในตำแหน่งนี้เป็นพิเศษ เพราะ "ภราดร" นั้นก็ดูเหมือนจะแนบแน่นกับพรรคเพื่อไทยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับ"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"

ทั้งนี้ก็เพราะ "ภราดร" เป็นหลานของ"ปรีดา พัฒนถาบุตร" อดีตรัฐมนตรี ซึ่ง"ทักษิณ" เคยเป็นตำรวจติดตามนั้นเอง

ซึ่งเมื่อครั้งกลุ่มการเมือง "ทักษิณ" เรืองอำนาจภายใต้ชื่อพรรคการเมืองต่างๆ "ภราดร"ก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ

การย้ายด้วยเหตุผลทางการเมืองทั้งหลายทั้งปวง และหากยึดตามที่ศาลปกครองตัดสินว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ จึงพอจะทำให้เห็นถึงความไม่พอใจและเป็นที่มาของการสู้สุดใจของ "ถวิล"นั่นเอง

แต่สิ่งที่น่าสนใจจากนี้คือรัฐบาล จะทำอย่างไรเพราะ "ภราดร" นั้นมองเป็นอย่างอื่นลำบากนอกจากเป็นขั้วตรงข้าม และตำแหน่งนี้มีความสำคัญยิ่งนัก อย่างน้อยก็ต้องอยู่ในศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) งานนี้รัฐบาลจึงน่าจะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมิใช่น้อย

สิ่งที่น่าจับตาดูต่อไปคือเมื่อมีการออกคำสั่งที่มิชอบเช่นนี้ "ถวิล" จะไปฟ้องอาญากับนายกรัฐมนตรี ในข้อหาละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น "ยิ่งลักษณ์" ที่วันนี้อยู่ในสภาซวนเซก็จะยิ่งเผชิญปัญหาทบทวียิ่งขึ้น