ญี่ปุ่นชูไทยเป้าทุนต่างชาติ

ญี่ปุ่นชูไทยเป้าทุนต่างชาติ

เตือนการเมืองยื้อนาน 6-12 เดือนฉุดเชื่อมั่น-จ่อย้ายฐาน “บีโอไอ” รับนักลงทุนเริ่มถามความคืบหน้า ย้ำยังไม่พบสัญญาณถอนคำส่งเสริมการลงทุน

ผู้เชี่ยวชาญการเงิน-การลงทุนญี่ปุ่น ยกไทยกับอินโดนีเซีย เป้าหมายลงทุนสำคัญของต่างชาติโดยเฉพาะเอสเอ็มอีญี่ปุ่น เหตุไทยได้เปรียบเป็นฮับอาเซียนที่กำลังเปลี่ยนเป็นเออีซี ส่วนอินโดนีเซียมีประชากรมากที่สุดหนุน แต่เตือนการเมืองยืดเยื้อนานเป็นความเสี่ยงกระทบต่อความมั่นใจลงทุนอย่างรุนแรง ขณะที่ฮิตาชิแนะไทยเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตธุรกิจ

นายคาเนทสุกุ มิเกะ รองประธานกรรมการธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวในงานสัมมนา "คลื่นการลงทุนในต่างประเทศลูกใหม่จากญี่ปุ่น" ซึ่ง เดอะ เนชั่น ร่วมกับ โยมีอูริ ชิมบุน และ เจแปน นิวส์ จัดขึ้นวานนี้ (6 มี.ค.) ว่า ไทยกับอินโดนีเซียถือเป็นสองประเทศเป้าหมายปลายทางที่ดึงดูดใจนักลงทุนญี่ปุ่นมากที่สุดตอนนี้ เพราะจากการศึกษาตัวเลขสถิติ และความเห็นของผู้บริหารในญี่ปุ่นล่าสุดยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและชื่นชอบทั้งสองประเทศอยู่

“ข่าวที่มีญี่ปุ่นโยกจากไทยไปลงทุนอินโดนีเซีย ก็เหมือนมีเพื่อน 10 คน เพื่อน 9 คนชอบ แต่อีกหนึ่งคนไม่ชอบ เป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดถูกใจทุกคน ซึ่งอาจมีการบ่นตำหนิไม่ชอบอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งยังเพ่งเล็ง เชื่อมั่นว่าไทยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนอยู่”

นายมิเกะ กล่าวว่า การที่ยกให้อินโดนีเซียกับไทยเป็นตัวเลือกสำคัญ เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดน่าสนใจ

ทั้งนี้ นายมิเกะ ออกตัวว่า ในฐานะเป็นนักลงทุนรุ่นเก่าจากญี่ปุ่น เชื่อว่าช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ไทยยังคงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่ง สำหรับนักลงทุนเป็นคลื่นลูกใหม่ของญี่ปุ่น โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังคิดลงทุนในไทย เพราะพวกเขามองแนวโน้มอนาคตอาเซียนสดใส ไทยเป็นศูนย์กลางและได้เปรียบจากการเป็นประเทศที่มีเพื่อนบ้านอยู่ล้อมรอบ และสาธารณูปโภคในไทยยังแข่งขันได้

นายมิเกะ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากแบงก์ ออฟ โตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (บีทีเอ็มยู) และ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (เอ็มยูเอฟเจ) ที่เข้ามานั่งบริหารงานในธนาคารกรุงศรีอยุธยา หลังจาก เอ็มยูเอฟเจ เข้ามาถือหุ้นใหญ่กว่า 70% ในธนาคารกรุงศรีฯ มั่นใจว่า ไทยเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำคัญ เพราะเป็นเศรษฐกิจเติบโตพัฒนาไปมากแล้ว และมีเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขงที่กำลังพัฒนาอยู่ห้อมล้อม ไทยจึงกลายเป็นศูนย์กลาง หรือ ฮับของอาเซียนทั้งภูมิภาค

“บีทีเอ็มยู ปักหลักทำธุรกิจอยู่ในอาเซียนมานาน 30 ปี มีธุรกิจอยู่ใน 17 ประเทศ ทำธุรกิจครอบคลุม ตั้งแต่ธุรกิจรายใหญ่ ธุรกิจข้ามชาติ เมื่อมีเออีซีปี 2558 รูปแบบการลงทุนในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป บริษัทญี่ปุ่น เข้ามาทำธุรกิจในอาเซียนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำธุรกิจเพื่อส่งออกไปส่วนอื่นของโลกเท่านั้น แต่บริษัทญี่ปุ่นยังไขว่คว้าโอกาสจากภาวะแวดล้อมใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ด้วย”

เอสเอ็มอีแห่ลงทุนไทยเพิ่ม

ด้าน นายฮิซามิชิ โคกะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่นในไทย (เจซีซี) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นในไทยตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2556 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนประเทศให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์สำคัญของภูมิภาค

นอกจากนี้ จำนวนบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาเป็นสมาชิกเจซีซี เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากประมาณ 172 ราย ในปี 2533 มาอยู่ที่เกือบ 1,600 ราย ในปี 2555 และจากการสำรวจความเห็นของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอีญี่ปุ่น 82.5% ของทั้งหมดตอบว่าจะขยายการลงทุนในต่างประเทศ

เขาให้สถิติว่า หากแยกมูลค่าเงินลงทุนบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทย พบว่า ส่วนใหญ่มีอยู่ 1,000-10,000 ล้านเยนต่อปี คิดเป็น 34.5% ของทั้งหมด ตามด้วยบริษัทมีมูลค่าเงินลงทุน 1,000 ล้านเยนต่อปี 21.7% ส่วนเงินลงทุน 1 แสนล้านเยนต่อปี คิดเป็น 13.7% จากขนาดมูลค่าการลงทุนดังกล่าว สะท้อนว่าธุรกิจเอสเอ็มอีสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

นายโคกะ ระบุว่า ไทยยังคงเป็นเป้าหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่ไม่แน่ใจว่าจะรักษาตำแหน่งอยู่อันดับหนึ่งได้ เพราะอาจมีอาเซียนบางประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า เนื่องจากทั้งตลาดเติบโตสูง และภาวะแวดล้อมการทำธุรกิจดีขึ้น

นายโคกะ คิดว่านักลงทุนญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นว่าไทยยังมีจุดหมายปลายทางของการลงทุนที่น่าพอใจ แต่ในอนาคตนักลงทุนย่อมมีการใช้ข้อมูลเปรียบเทียบอยู่เสมอ และการเมืองไทยวุ่นวายตอนนี้ทางนักลงทุนญี่ปุ่นจับตาดูอย่างใกล้ชิด หากจบเร็วหรือเกิดขึ้นนานกว่านี้ อาจทำให้อินโดนีเซียน่าสนใจมากขึ้น

เขากล่าวว่า ปัจจัยลบนอกจากสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังมีเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งทำให้บริษัทหลายแห่งเสาะหาบุคลากรมาทำงานได้ยากลำบากมากขึ้น

"ถ้าปัญหาการเมืองยังยืดเยื้อไปอีก 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักลงทุนญี่ปุ่นเป็นลบมาก ทางหอการค้าญี่ปุ่นก็ได้เคยร่วมเรียกร้องกับหอการค้าไทยให้มีการแก้ปัญหายุติความขัดแย้งทางการเมืองโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้นักลงทุนญี่ปุ่นยังไม่ย้ายฐานการผลิตโดยเฉพาะภาครถยนต์ซึ่งปีหนึ่งไทยผลิตได้ 2.5 ล้านคัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีซัพพลายเชนแข็งแกร่ง การย้ายไปที่อื่นไม่ได้ทำได้ง่าย แต่ถ้าการเมืองยังยืดเยื้อต่อไป นักลงทุนญี่ปุ่นก็อาจจะต้องเปลี่ยนความคิด"

ดันไทยเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน

ด้าน นายอากิฮิโกะ โทเบะ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายโครงการ “Smart City Project Division” บริษัท ฮิตาชิ กล่าวว่า ไทยเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางอาเซียน ทว่าหากปัญหาการเมืองไทยยังคงยืดเยื้อ ภาคธุรกิจญี่ปุ่นก็จะต้องบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยการมองหาฐานการลงทุน หรือแหล่งการผลิตใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน

สำหรับ ฮิตาชิ ไทยยังเป็นฐานการผลิตใหญ่ในอาเซียน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานยุทธศาสตร์การลงทุนระยะยาว เชื่อมโยงอาเซียน โดย ฮิตาชิ มีแผนที่จะร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้น ในการพัฒนาโครงการ “Smart City Innovation for Asean cities” ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเข้ามาช่วยพัฒนากลุ่มประเทศอาเซียน ให้ยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า รองรับการเติบโตทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

นายอากิฮิโกะ กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในอาเซียน ส่วนหนึ่งเพราะมองหาโอกาสในการร่วมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น หากรัฐบาลไทยตัดสินใจเดินหน้าโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน จะดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยได้มากขึ้น แต่ปัญหาการเมืองทำให้ไทยเสียโอกาสการพัฒนา

“ผมไม่ได้พูดถึงแค่นักลงทุนญี่ปุ่นเท่านั้นที่ไทยจะพลาดโอกาส แต่รวมถึงนักลงทุนจากยุโรป และประเทศอื่นๆ ที่เล็งหาโอกาสเข้ามาร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้นไทยจะต้องผลักดันโครงการดังกล่าวออกมาโดยเร็ว เพื่อดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ อย่างไม่ต้องสูญเสียโอกาสในช่วงที่เผชิญกับปัญหาทางการเมือง”

ยึดยุทธศาสตร์เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจ

ด้าน นายเซ็ทซึโอะ อิอูจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กล่าวถึงยุทธศาสตร์ Thailand-plus-one strategy ว่า กลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นมองอาเซียนเป็นแหล่งเชื่อมโยงธุรกิจกับภูมิภาคอื่นๆ หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา มีการลงทุนตรงเข้ามาในอาเซียนอย่างต่อเนื่องรวมถึงการลงทุนจากกลุ่มทุนญี่ปุ่น จนกระทั่งฐานการผลิตในอาเซียนกลายเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของญี่ปุ่นไปแล้ว โดยเฉพาะ สินค้ากลุ่มชิ้นส่วนประกอบ เพื่อกระจายสินค้าไปยังจีนและยุโรป

ขณะที่การลงทุนของญี่ปุ่นในเอเชีย ถือว่ามีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาคในโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 2555 ระบุว่า การผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นจากฐานการผลิตในต่างประเทศสูงขึ้นในสัดส่วน 61.4% หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ หากเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ไทยยังมีสัดส่วนการลงทุนจากญี่ปุ่นนำหน้า เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา มีโครงการการลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นที่รอการอนุมัติจากบีโอไอหลายโครงการ เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นมองการลงทุนระยะยาว เพียงแต่รอจังหวะที่การบริหารในประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็พร้อมจะเดินหน้าการลงทุนต่อไป โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 2 ล้านล้านบาท ที่ทางกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นคาดหวังว่ารัฐบาลจะผลักดันโครงการนี้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ

“ญี่ปุ่นต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกัน จะเป็นระเบียบเศรษฐกิจ (East West Economic Corridor) เชื่อมโยงภาคธุรกิจในภูมิภาคตั้งแต่พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ถือเป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจที่สำคัญ"

บีโอไอยังไม่พบสัญญาถอนลงทุน

ด้าน นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าของการตั้งบอร์ดบีโอไอ ชุดใหม่ เพื่อพิจารณาคำขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 ที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้บีโอไอกำลังพิจารณาทางเลือกในการตั้งบอร์ดบีโอไอชุดใหม่ 2 ทางเลือก คือ 1.ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ คือ รอให้มีรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้แต่งตั้งบอร์ดบีโอไอ และ 2.บีโอไอกำลังพิจารณาข้อกฎหมายว่าจะมีทางเลือกอื่นในการตั้งบอร์ดชุดใหม่ขณะที่เป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ โดยหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติให้บีโอไอกลับมาพิจารณาข้อกฎหมายว่า สามารถตั้งบอร์ดชุดใหม่ได้หรือไม่ ขณะนี้บีโอไอได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา จะให้ความเห็นในแนวทางใด

นายโชคดี กล่าวว่า ขณะนี้มีความกังวลจากนักลงทุนบางส่วนที่ได้ยื่นขอคำขอส่งเสริมการลงทุนเข้ามา และต้องการให้บอร์ดชุดใหม่โดยเร็ว เพราะกังวลว่าจะกระทบแผนการลงทุน เนื่องจากหากอนุมัติล่าช้า จะทำให้เวลาเตรียมความพร้อมการลงทุนมีน้อยลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่มีเอกชนรายใดที่ขอถอนคำส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ

“สัดส่วนการยื่นขอการลงทุนในปี 2557 สัดส่วน 40% เป็นอุตฯ ยานยนต์ และชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจรายย่อยในเครือที่สนับสนุนการผลิตให้กับบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนี้นักลงทุนต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีด้วย” นายโชคดี กล่าว

สำหรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอุตฯ ใหม่ ของไทย ระยะต่อไป ขณะนี้ บีโอไอ ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ 5 ปีข้างหน้า ในการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่เสร็จแล้ว รอการอนุมัติและประกาศใช้จากบอร์ดชุดใหม่ ภาพรวมจะเน้นส่งเสริมอุตฯ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมอุตฯ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีที่จะยกเว้นภาษีให้ 8 ปี จะต้องตอบสนองทิศทางดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยต้องการที่จะยกระดับการผลิตไปเป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการส่งเสริมการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในอดีตที่เน้นการใช้แรง