สับเละจำนำข้าวถึงทางตัน รัฐไม่มีจ่ายชาวนา

สับเละจำนำข้าวถึงทางตัน รัฐไม่มีจ่ายชาวนา

นักวิชาการสับเละโครงการจำนำข้าว บอกกำลังเดินทางมาถึงทางตัน รัฐบาล"ถังแตก"ไม่มีจ่ายชาวนา แนะปรับวิธีบริหารจัดการหนี้

ในการเสวนาหัวข้อ "ช่วยชาวนาอย่างไร ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รักษาวินัยการเงินการคลัง"จัดโดยคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวขณะนี้รัฐบาลยังไม่สามารถชำระหนี้ให้ชาวนาได้ ส่วนภาระหนี้ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นและไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลต่อไปก็ต้องเข้ามารับผิดชอบ ส่วนประเด็นทางข้อกฎหมายว่าขณะนี้จะสามารถจ่ายเงินให้กับชาวนาโดยรัฐบาลหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้หรือไม่ ไม่สามารถให้ความชัดเจนได้เนื่องจากไม่ใช่นักกฎหมาย

"ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญในอนาคตที่จะดำเนินโครงการประชานิยมลักษณะดังกล่าว ควรจะมีความชัดเจนว่าโครงการที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดหนี้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งควรนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรว่าจะดำเนินโครงการลักษณะที่ก่อหนี้จำนวนมาก เพื่อให้สภาฯ รับทราบ"

นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอารืไอ กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงโครงการประชานิยมที่ผ่านมามีหลายโครงการดี เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่โครงการเหล่านี้มีการใช้งบประจำที่รัฐบาลจะดำเนินการขอจัดสรร แต่โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้มาดำเนินการ ซึ่งควรกำหนดกรอบการสร้างหนี้ที่ชัดเจนกว่าขณะนี้

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวขณะนี้ค่อนข้างถึงทางตัน เนื่องจากการที่รัฐบาลจะไปหาเงินกู้จากสถาบันการเงินจ่ายให้แก่ชาวนานั้น สถาบันการเงินก็ไม่สามารถพิจารณาปล่อยกู้ได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันการที่ให้โรงสีเข้ามาช่วยแบกรับภาระ โดยให้ชาวนานำใบประทวนมาขอสภาพคล่องสัดส่วน 50% และต้องมีการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่โรงสีในอนาคต ปัญหาดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายก็ไม่มีกฎหมายรองรับที่จะดำเนินการได้ ขณะเดียวกันการที่จะนำสตอกข้าวไปค้ำประกันหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาจ่ายชาวนา สภาพปัจจุบันก็ไม่มีใครทราบว่าสตอกข้าวเป็นอย่างไร ทำให้การที่จะหาเงินมาชำระหนี้ชาวนาค่อนข้างติดขัดหลายด้าน

นางอัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่าการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว หรือโครงการลักษณะเดียวกันในอนาคตควรจะมีกรอบดำเนินการที่ชัดเจนว่าโครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดหนี้สัดส่วนมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการภาระหนี้ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต