อาวุธเด็ดสร้างผู้นำGood To Great 'ออคิด สลิงชอท'

อาวุธเด็ดสร้างผู้นำGood To Great

'ออคิด สลิงชอท'

เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย การพัฒนาผู้นำต้องใช้วิธี Cross-training หรือ เล่นกีฬาหลายๆ อย่างสลับสับเปลี่ยนกันไป

เปรียบไปคงเหมือน "กระจกวิเศษ" ในหนังการ์ตูนสโนว์ไวท์คนแคระทั้งเจ็ด สำหรับ The Extraordinary Leader อาจต่างไปที่แนวคิดและหลักสูตรดังกล่าวไม่ได้บอกว่าใครที่งามเลิศในปฐพี แต่เลือกที่จะตอบว่าผู้ที่เป็น "ผู้นำที่ดีเลิศ" นั้นเป็นอย่างไร

และ "วศิน อรดีดลเชษฐ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัทออคิด สลิงชอท ก็มีความมั่นใจว่าจะสามารถนำมาช่วยสร้างและใช้กับ "ผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย" ได้เป็นอย่างดี

เลยเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง บริษัทออคิด สลิงชอท กับเจ้าของแนวคิด นั่นคือ บริษัทเซงเกอร์ โฟล์คแมน (Zenger Folkman) สถาบันการพัฒนาภาวะผู้นำจากประเทศสหรัฐอเมริกา

The Extraordinary Leader เป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นจากข้อมูลการวิจัย โดยใช้รูปแบบของการประเมินที่มีมากกว่า 500,000 ชุด ไปใช้ประเมินผู้นำในองค์กรต่างๆ มากกว่า 50,000 คน

ส่วนความโดดเด่นที่ต่างไปจากแบบประเมินหรือแบบทดสอบภาวะผู้นำที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดก็คือ The Extraordinary Leader จะเป็นการประเมินแบบ "360 องศา"

ความหมายก็คือ ไม่เพียงผู้นำเท่านั้นแต่ยังมีพนักงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับเข้าร่วมประเมิน เพื่อสะท้อนมุมมองที่รอบด้าน หลังจากนั้นก็นำเอาข้อมูลด้านต่างๆ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันระหว่างผู้นำที่มีผลงานโดดเด่นมากที่สุด 10 อันดับแรก และผู้ นำที่มีผลงานโดดเด่นน้อยที่สุด 10 อันดับหลัง

มร. โรเบิร์ต เชอร์วิน ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เซงเกอร์ โฟล์คแมน จำกัด กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่า ผู้นำควรต้องมีจุดแข็งถึง 16 ตัว (ในล้อมกรอบ) จึงจะสามารถสร้างผลงานที่มีความแตกต่าง และส่งผลต่อธุรกิจ

ทำไมการวิจัยต้องค้นหาจุดแข็ง? เหตุผลก็คือ แนวคิดที่เน้นพัฒนาผู้นำสู่ศักยภาพระดับสูงสุด (Good-To-Great) ของ The Extraordinary Leader หลักใหญ่ใจความต้อง การมุ่งเน้นไปในเรื่องของการพัฒนาจุดแข็ง

"แนวคิดนี้ไม่เพียงจะบอกแค่ว่าจุดแข็งของผู้นำแต่ละคนคืออะไร แต่จะชี้ให้ว่าอะไรที่เป็นจุดแข็งที่ผู้นำต้องใส่ใจและแนะนำถึงแนวทางที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น"

เพราะความพยายามมองหาและพัฒนาจุดอ่อนสำหรับ เซงเกอร์ โฟล์คแมน นั้นเป็นอะไรที่สูญเปล่า ไม่ใช่เส้นทางที่นำไปสู่ผลลัพธ์ความสำเร็จ

โดยวิธีที่จะพัฒนาจุดแข็งทั้ง 16 ข้อ ในการพัฒนาผู้นำที่อาจเก่ง ดีและมีความสามารถอยู่แล้วให้ก้าวไปเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมในขั้นสูงสุด ของบริษัทสัญชาติอเมริกันแห่งนี้ ก็คือ Cross-training หรือ การพัฒนาแบบผสมผสาน ทั้งจากการเข้าอบรม จากการทำงาน จากการดูงาน ฯลฯ

เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง จำเป็นต้องมีการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาหลายๆ อย่างสลับสับเปลี่ยนกันไป ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง แอโรบิก โยคะ เป็นต้น

มร. โรเบิร์ต กล่าวยืนยันว่าที่ผ่านมา The Extraordinary Leader ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เพราะภายหลังที่ได้พัฒนาจุดแข็งของผู้นำแต่ละคนแล้วสามารถวัดผลออกมาทั้งในเชิงธุรกิจ นั่นคือ เรื่องผลประกอบการและกำไร (profit & sales revenues) รวมไปถึงเรื่องของความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร (Employee Engagement) และ ความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction)

มร. คริส อีวานส์ รองประธานบริหารฝ่ายต่างประเทศ บริษัท เซงเกอร์ โฟล์คแมน ฯ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีพันธมิตรทางธุรกิจใน 21 ประเทศทั่วโลก ซึ่งก็หมายถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้นำที่เข้าสู่ระบบการประเมินของแนวคิด The Extraordinary Leader อันจะนำไปสู่ความแม่นยำและประสิทธิภาพในการพัฒนาผู้นำที่เพิ่มมากขึ้นในที่สุด

ขณะที่ วศิน อรดีดลเชษฐ์ มองว่าที่ผ่านมาและไปอีกไกลในอนาคตกระแส Leadership ในประเทศไทยจะยังคงแรงดีไม่มีตก เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในเร็ววันนี้ ซึ่งเชื่อว่าทุกๆ องค์กรก็ไม่อยากจะตกขบวน

ไม่ว่าองค์กรใดย่อมต้องอาศัยมันสมองและฝีมือของผู้นำในการฝ่าฟันทั้งสิ้น

"คำถามที่องค์กรไทยควรจะต้องเริ่มต้นถาม ก็คือ ในปัจจุบันมีการใช้งบการพัฒนาผู้นำเยอะมาก แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่างบดังกล่าวที่จ่ายไปได้ก่อให้เกิดพัฒนาได้อย่างถูกทางและเกิดผล จะดีกว่าหรือไม่หากมีแนวความคิดหรือหลักสูตรที่มีผลพิสูจน์และยืนยันได้"

ดังที่กล่าวไปในเบื้องต้น วศินมีเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าแนวคิดของ The Extraordinary Leader จะมีคำตอบที่ดีให้กับคำถามนี้ได้อย่างแน่นอน

--------

เปิดโผ 16 จุดแข็ง

1. แสดงออกถึงความซื่อสัตย์ (Displays Honesty and Integrity)

2. มีความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค/วิชาชีพ (Exhibits Technical/Professional Expertise)

3. แก้ปัญหาและวิเคราะห์ประเด็น (Solves Problems and Analyzes Issues)

4. สร้างสรรค์ (Innovates)

5. ฝึกฝนพัฒนาตนเอง (Practices Self-Development)

6. ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ (Focuses on Results)

7. ตั้งเป้าหมายที่ท้าท้าย (Establishes Stretch Goals)

8. เปิดรับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Takes Initiative)

9. สื่อสารอย่างมีพลังและประสิทธิผล (Communicates Powerfully and Broadly)

10. สร้างแรงบันดาลใจและจูงใจผู้อื่นเพื่อผลงานที่ดี (Inspires and Motivates Others)

11. สร้างความสัมพันธ์ (Build Relationships)

12. พัฒนาผู้อื่น (Develop Others)

13. สร้างความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม (Collaborates and Fosters Teamwork)

14. พัฒนามุมมองเชิงกลยุทธ์ (Develop Strategic Perspective)

15. ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Champion Change)

16. เชื่อมต่อทีมกับโลกภายนอก (Connects the Group to the Outside World)

ภาพ (จากซ้ายไปขวา) -- คริส อีวานส์ , โรเบิร์ต เชอร์วิน, วศิน อรดีดลเชษฐ์