หัวใจชีวิต คือ "สมดุล"

หัวใจชีวิต คือ "สมดุล"

ชาวนาสาวพูด 5 ภาษาดีกรีปริญญาตรีและโทจากต่างแดน อาจสร้างความหวือหวาได้ แต่ ณัฐวรรณ คำคล้าย คนนี้ มีความน่าสนใจมากกว่านั้น

ชาวนาสาวพูด 5 ภาษาดีกรีปริญญาตรีและโทจากต่างแดน อาจสร้างความหวือหวาได้ แต่ ณัฐวรรณ คำคล้าย คนนี้ มีความน่าสนใจมากกว่านั้น เพราะ เธอกำลังใช้ “วิถีสร้างสมดุล” พื้นแผ่นดินแม่ เชื่อมโยงหัวใจไทยให้ยั่งยืน

กายใจได้มีโอกาสมาเยือนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ “เพลินข้าวบ้าน” ตั้งอยู่ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยที่แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์-พัฒนาข้าวพื้นบ้านอินทรีย์ เพื่อวิถีชีวิตพอเพียงสู่ชุมชนแห่งความสุขอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่การให้ความรู้แก่ชาวนาในพื้นที่ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปจากประเทศไทย ชาวนาที่นี่มิใช่เพียงคนในพื้นที่เท่านั้น แต่กลับมีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ สนใจและขันอาสาดูแลข้าวพื้นบ้านเกษตรอินทรีย์อยู่หลายคนทีเดียว

กายใจจึงได้นั่งคุยกับหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการที่เป็นคนรุ่นใหม่ถึงแนวคิดที่ทำให้เธอหันมาสนใจเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเธอคนนี้มีความไม่ธรรมดาตรงที่เธอเป็นชาวนาที่สามารถพูดได้ถึง 5 ภาษาไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี และฝรั่งเศส มีดีกรีจบปริญญาตรีจาก ริทสุเมคัง เอเชีย แปซิฟิค ยูนิเวอร์ซิตี้ และไปต่อปริญญาโททางด้าน interior and living design ที่ โดมุส อะคาเดมี มิลาน ประเทศอิตาลีอีกด้วย เธอคือ นกกบ-ณัฐวรรณ คำคล้าย

เรียนมาทางด้านดีไซน์จากอิตาลี แต่ทำไมสนใจการทำนา
เริ่มต้นมาจากเราสนใจและใส่ใจในสุขภาพค่ะ ทุกอย่างมันก็หนีไม่พ้นในเรื่องของอาหารการกิน ในการดำเนินชีวิตทุกอย่าง สุขภาพจะดีได้ก็ด้วยการใส่ใจเรื่องของการกิน ซึ่งแน่นอนว่าต้องลงมาที่เกษตรกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่เรามองข้ามกันไป

เหตุใดจึงมาเป็น “เพลินข้าวบ้าน” ได้
แรกเริ่มมาจากเมื่อเราสนใจในอาหารการกิน จึงเริ่มหันมาปลูกผักทานเอง เป็นสวนผักคนเมือง ซึ่งเรารู้ว่าผักในตลาดมันไม่ปลอดภัยจึงได้หันมาปลูกเองกินเอง แต่ก็คิดต่อยอดไปอีกว่าเราก็กินข้าวทุกวันเลย จึงได้เริ่มศึกษาเรื่องข้าวที่มูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งทำให้ได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากอาจารย์เดชา ศิริภัทร เรื่องสถานการณ์ข้าวไทย วิกฤตข้าวของชาวนา และปัญหาความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวไทยที่มันกำลังหายไป

เปลี่ยนจากชีวิตคนเมืองสู่วิถีชนบทได้อย่างไร
อาจจะเป็นเพราะตอนสมัยเด็กๆได้ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านริมน้ำของคุณพ่อที่บางกอกน้อย เลยได้ใกล้ชิดธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ซึมซับการอยู่กับธรรมชาติได้ง่าย ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำ “เพลินข้าวบ้าน” เพียงอย่างเดียว ก็ยังคงทำอินทิเรียดีไซน์ และพวกกราฟฟิกอยู่ด้วย ไม่ได้ทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง แต่อาจเป็นเพราะเรารับงานอิสระ เราจึงเป็นนายตนเอง สามารถมาได้บ่อยๆตามใจต้องการได้ค่ะ

จุดเริ่มต้นกว่าจะเป็น “เพลินข้าวบ้าน”
เริ่มต้นมาจากโครงการในกระดาษก่อนค่ะ หลังจากนั้นก็เขียนโครงการเข้าไปที่ ChangeFusion ซึ่งเขาสนับสนุนการทำกิจการเพื่อสังคม โดยให้ทุนมาบางส่วนในช่วงเริ่มต้น หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆเดินไปทีละก้าวๆ ไม่รีบร้อน แต่เน้นยั่งยืนดีกว่า ก็กลายเป็น “เพลินข้าวบ้าน”อย่างที่เห็นในตอนนี้ด้วยแรงสนับสนุนสำคัญจากหลายๆฝ่ายค่ะ เพลินข้าวบ้านเองทำมาไม่นานมาก เริ่มเมื่อตอนธันวาคม ปี2555 นี้เอง เปรียบดั่งเมล็ดพันธุ์เล็กๆที่เพิ่งเริ่มเจริญเติบโตเท่านั้น

เลือกสายพันธุ์ข้าวมาปลูกอย่างไร
เราได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิข้าวขวัญช่วยเหลือในเบื้องต้นค่ะ โดยเราเริ่มที่ข้าวเหลืองอ่อนกับข้าวหอมสนั่นทุ่งที่มูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาไว้ให้เป็นข้าวนาปรัง

เสียงตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างไร
จริงๆชาวบ้านสนใจนะคะ เพราะเขาเห็นคนเมืองมากมายหันมาตื่นตัวและสนใจเกษตรอินทรีย์ แต่ก็ยังคงไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงมากนัก อาจเป็นเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้นมานานมากแล้ว อาจต้องใช้ระยะเวลาสักหน่อยเพื่อกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิมๆอีกครั้ง ทุกอย่างมันค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาค่ะ

แล้วนาเคมีกับนาเกษตรอินทรีย์แตกต่างกันอย่างไร
นาเกษตรอินทรีย์จะมีสัตว์ต่างๆอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแมลงเต่าทอง แมลงปอจะบินวนบนแปลงนามากมาย แมงมุม นก ปลา หอย มีบัว มีสาหร่ายขึ้น อยู่มากมายในน้ำ ระบบนิเวศต่างๆจะสมดุล ทุกอย่างจะเอื้อกันเองโดยธรรมชาติ แต่หากมองไปนาเคมีที่อยู่ติดกันจะสังเกตเห็นได้ว่า สัตว์ทั้งหลายที่เรากล่าวมานั้นแทบจะไม่เห็นเลย อีกทั้งสิ่งที่สำคัญคือ นาอินทรีย์มีต้นทุนที่ถูกกว่านาเคมีมากอีกด้วย
เราประณีตตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเมล็ดพันธุ์และการปลูก ต้องใส่ใจเยอะในทุกกระบวนการในช่วงเริ่มต้น เมื่อปลูกไประบบนิเวศจะหวนกลับคืนมาใหม่อีกครั้ง ก็จะเข้าสู่ความสมดุล สัตว์และพืชพันธุ์ทางอาหารกลับคืนมา ฉะนั้นความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านก็จะกลับคืนมาอีกครั้ง ระบบนิเวศที่สูญเสียไปก็จะได้รับการฟื้นฟูกลับมาใหม่ให้กลับสู่สมดุล แล้วเขาก็จะดูแลกันเองแมลงตัวที่ดีก็จะกำจัดแมลงตัวไม่ดีออกไป ทุกอย่างจะดูแลกันเองโดยที่เราไม่ต้องห่วงอะไรมากมายนัก ซึ่งการสมดุลคือหัวใจหลักเลยก็ว่าได้

ชาวบ้านเริ่มหันมาสนใจเยอะขึ้นหรือไม่
จากเริ่มต้นมีเพียง 7 ครอบครัว ต่อมาชาวบ้านเห็นเรามีกิจกรรมเยอะขึ้นก็เริ่มสนใจมาเข้าร่วมเป็น 20 กว่าคน จนตอนนี้สามารถตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนได้แล้วค่ะ แม้จะกลับมาไม่เต็มตัวมากแต่เขามีความสนใจและอยากเรียนรู้ อยากมีส่วนร่วม โดยบางครอบครัวอาจมาทำอาหารให้มาทาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาได้เอื้อเฟื้อกัน มีความสนุก อีกทั้งทำให้เขาภูมิใจในวิถีชีวิตของเขา เท่านี้เราก็ดีใจมากแล้วค่ะ เมื่อเขาภูมิใจในวิถีชีวิตของเขา เขาก็มีความสุข แล้วก็จะลดการย้ายถิ่นฐาน มันทำให้พวกเขาแกร่งจากรากอย่างแท้จริง
เราเห็นพวกเขาสุขภาพดีขึ้น สนุก มีความสุข เราก็ยิ้มและมีความสุขตาม เราทำอย่างเพลินใจ สมชื่อ “เพลินข้าวบ้าน” จริงๆค่ะ

ประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับคืออะไร
ที่แน่นอนที่สุดคือสุขภาพของเขาดีขึ้น เขาก็มีความสุข ในด้านต้นทุนก็ใช้เงินน้อยกว่า และหากเขาประณีตและใส่ใจในนาของเขา ข้าวก็ออกมาคุณภาพดี ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดี อีกทั้ง “เพลินข้าวบ้าน” เรารับซื้อข้าวอินทรีย์ของชาวนาในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นการประกันความเสี่ยงให้เขา และเป็นการจูงใจให้เขาหันมาเพาะปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพื่อความสุขทางกายและทางใจแกเขาอย่างยั่งยืนต่อไปค่ะ
ข้าวทุกๆ1กิโลกรัม ที่ทุกท่านซื้อไป หักต้นทุนแล้ว กำไรหัก 50เปอร์เซ็นต์นำมาเป็นต้นทุนให้แก่ชาวนาที่สนใจทำนาอินทรีย์ต่อๆไป ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือก็นำกลับเข้าสู่วิสาหกิจชุมชนเพื่อให้เขานำมาเป็นต้นทุนบริหารอีกต่อๆไปค่ะ

ความท้าทายในการทำนาที่นี่เป็นอย่างไร
ความท้าทายอยู่ที่พันธุ์ข้าวที่เรามีตอนนี้คนไม่ค่อยรู้จัก มันเหมือนยังใหม่สำหรับตลาด คนมักถามว่าหอมมะลิหรือเปล่า ซึ่งเราก็ตอบเขาไปว่า เรามีแค่หอมสนั่นทุ่งกับเหลืองอ่อน ซึ่งจะเป็นพันธุ์ข้าวที่ต่างออกไปและมีสารอาหารที่แตกต่างกัน ก็ต้องอธิบายเยอะพอสมควร เพราะเพิ่งเปิดตลาดใหม่

ความสุขที่ได้รับกลับมาเป็นอย่างไร
ก่อนหน้านี้เราไม่เคยได้สัมผัสความสุขแบบนี้มาก่อน นั่นคือเป็นความสุขแบบที่มันอิ่มอยู่ในใจ แค่ได้พูดคุยกับชาวบ้านมันก็อิ่มใจ วิถีชีวิตแบบครอบครัวชนบท ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น จะต่างกับตอนที่เราใช้ชีวิตในกรุงเทพที่วันๆเราทำงานหาเงินมาเพื่อซื้อของ มันก็เท่านั้นจริงๆ แต่ความสุขที่เราได้รับจากชาวบ้านมันสุขแบบอิ่มใจ และอิ่มใจอย่างยาวนาน
สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขที่เงินไม่สามารถหาซื้อได้ มันทำให้เรารู้สึกเหมือนเรามีญาติมิตรอยู่เยอะไปหมดเลย มันเป็นความสุขที่วัตถุใดๆก็ทดแทนไม่ได้เลยจริงๆ

มีความเชื่อในสิ่งใดบ้าง
เชื่อในตนเอง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราเกิดมาคนเดียว ตายคนเดียว คนที่เราต้องอยู่ด้วยมากที่สุด แต่เรามักไม่ค่อยรู้จักเลยก็คือตนเอง การที่ได้มาทำ “เพลินข้าวบ้าน” ทำให้ได้รู้จักตนเองมากขึ้น เห็นว่าตนเองคือธรรมชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยเห็นเลย
ก่อนหน้านี้มองมนุษย์ว่าไม่ใช่ธรรมชาติ เพราะเราใช้ชีวิตไปตามระบบ ทำงานๆๆหาเงิน ไปเที่ยว กลับมาทำงานๆๆ ซึ่งจริงๆแล้วเราเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เราคือจุดเล็กๆของระบบนิเวศที่มนุษย์เองมักมองไม่เห็น โลกจะดีหรือไม่ดีล้วนอยู่ที่ตัวเราด้วยทั้งสิ้น

คาดหวังในสิ่งใดต่อไป
“เพลินข้าวบ้าน” หวังไว้ว่าระบบจะทำให้มันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองในอนาคต ตอนนี้เราอาจเหนื่อยหน่อยในการสร้างระบบขึ้นมา แต่เมื่อมันสร้างระบบที่ดีได้แล้ว มันจะยืนอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งเราหรือใคร อีกทั้งชาวบ้านจะได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ในอนาคตก็มองเอาไว้ว่าอยากทำในหลายพื้นที่ เพราะพื้นถิ่นของข้าวแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ก็อยากให้ได้ทานข้าวในแต่ละพื้นถิ่นที่หลากหลายและดีต่อสุขภาพกาย ทั้งส่งเสริมสุขภาพใจของคนพื้นถิ่นอีกด้วย ตอนนี้ได้เพียงเริ่มเท่านั้นก็ค่อยเป็นค่อยไปค่ะ
ส่วนความคาดหวังกับตนเองนี่แทบไม่ค่อยมี แค่อยากทำทุกวันให้มันดี มีความสุขก็เพียงพอแล้ว

ความสุขในสไตล์เราเป็นอย่างไร
มันเป็นความสุขที่ออกแนวไร้สาระนิดหนึ่ง คือการที่ได้กินอะไรที่หลากหลายและเป็นอินทรีย์ที่เราปลูกเอง มันมีความสุขมากๆ เหมือนอุปาทานไปเองนะคะ แต่มันมีความสุขมากๆจริงๆ