พลังงานหนุนเอกชนเปิดปั๊มแอลเอ็นจี

พลังงานหนุนเอกชนเปิดปั๊มแอลเอ็นจี

กรมธุรกิจพลังงานไฟเขียวไม่คุมราคา หนุนเอกชนเปิดปั๊มแอลเอ็นจี เน้นเป้าหมาย กลุ่มรถบรรทุก ขณะที่ตัวเลขการใช้เอ็นจีวี 10 เดือนขยายตัวเพิ่ม 11%

นายสมนึก บำรุงสาลี อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึง นโยบายของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะส่งเสริมให้รถบรรทุกที่วิ่งระยะทางไกลหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) แทนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือเอ็นจีวี ว่า มีบริษัทผู้ค้าน้ำมันและเอกชนหลายรายให้ความสนใจที่จะเปิดสถานีบริการแอลเอ็นจี เนื่องจากรัฐไม่มีนโยบายที่จะควบคุมราคาจำหน่ายเหมือนก๊าซเอ็นจีวี โดยสถานีแอลเอ็นจี ที่จะเปิดให้บริการในช่วงเริ่มต้น คาดว่าจะตั้งอยู่บนถนนสายหลัก เพื่อให้บริการกับกลุ่มรถบรรทุกที่วิ่งขนส่งเป็นประจำ ที่จะมีความคล่องตัวกว่า การใช้เอ็นจีวี โดยคาดว่า สถานีบริการแอลเอ็นจีประมาณ3แห่ง น่าจะเปิดได้ภายในปี2557 นี้

นายวิฑูรย์ เจนวิริยะกุล รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ทั้งเชลล์ ปตท. สยามแก๊ส และกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก ที่มีเครือข่ายรถบรรทุก ต่างให้ความสนใจ ที่จะดำเนินการสถานีบริการ แอลเอ็นจี เพียงแต่ยังต้องรอดูจำนวนรถบรรทุกที่จะเปลี่ยนมาใช้แอลเอ็นจี ว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ แอลเอ็นจี จะมีราคาสูงกว่า เอ็นจีวี แต่จะมีราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซล ประมาณ 30% จึงมีแรงจูงใจที่จะให้ผู้ใช้รถบรรทุกหันมาเติมแอลเอ็นจี

สำหรับแอลเอ็นจี คือก๊าซธรรมชาติที่ถูกลดอุณหภูมิจนเป็นของเหลว ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ โดย ปตท. ในขณะที่ เอ็นจีวี คือก๊าซธรรมชาติที่ถูกนำมาเพิ่มแรงดัน เพื่อใช้ยานยนต์ ซึ่งจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Compressed Natural Gas -หรือCNG โดย รถบรรทุกที่เติมแอลเอ็นจี จะใช้เวลาเติมไม่นาน และเติมเพียงครั้งเดียว ก็เพียงพอต่อการเดินทางไกลได้ เนื่องจากมีอัตราสิ้นเปลืองที่น้อยกว่าเอ็นจีวี จึงคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากรถบรรทุกมากกว่า ในขณะที่รัฐไม่มีการควบคุมราคาจำหน่ายเหมือนเอ็นจีวี จึงทำให้มีผู้สนใจที่จะเปิดปั๊ม แอลเอ็นจี

กรมธุรกิจพลังงานยังเปิดเผยถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่เดือน มกราคม ถึงเดือนตุลาคม 2556 ว่า ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินมีปริมาณ 22.4ล้านลิตร ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 8.3% ส่วนกลุ่มดีเซล มีปริมาณการใช้ 57 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.4% ก๊าซเอ็นจีวี ปริมาณการใช้ 8.5ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้น 11% และ แอลพีจี มีปริมาณการใช้ 202,000 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 2% แต่เมื่อแยกเป็นแอลพีจีภาคครัวเรือน มีปริมาณการใช้ 66,000 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 19.3% โดยการนำเข้าแอลพีจี มีปริมาณเฉลี่ย 161,000ตัน เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน9% และรัฐต้องจ่ายเงินชดเชยสะสม ประมาณ 27,110 ล้านบาท

นายสมนึก กล่าวว่า ตัวเลข การใช้แอลพีจีภาคครัวเรือนที่ลดลง มาจากมาตรการตรวจสอบการลักลอบนำแอลพีจีไปจำหน่ายข้ามสาขาและการจำกัดโควต้าโรงบรรจุ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและได้ผล ส่วนปริมาณการใช้เอ้นจีวีที่เพิ่มขึ้น มาจาก การปรับปรุงสถานีบริการเอ็นจีวี จากสถานีลูก ให้เป็นสถานีแม่ เพิ่มขึ้น และมีรถที่เคยใช้ดีเซล หันมาใช้เอ็นจีวีที่มีราคาต่ำกว่าแทน