เปิด3ทางเลือกคำตัดสินพระวิหาร

เปิด3ทางเลือกคำตัดสินพระวิหาร

นักวิชาการเปิด 3 ทางเลือก คำตัดสินปราสาทพระวิหาร ผ่านรายการ Business Talk "กรุงเทพธุรกิจทีวี"

ภายหลังศาลระหว่างประเทศมีคำพิพากษาตัดสินในคดีปราสาทพระวิหาร ทำให้เกิดกระแสความคิดเห็น และการตีความที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ หรือสื่อต่างประเทศก็ตาม คำตัดสินครั้งนี้ใครเป็นผู้แพ้ผู้ชนะ ใครได้ใครเสีย "นายปณิธาน วัฒนายากร" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนาย "สมปอง สุจริตกุล" คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตทนายความประสานงาน คดีฟ้องร้อง ปี 2505 ร่วมแสดงความคิดเห็นในรายการ "บิสซิเนส ทอล์ค" กรุงเทพธุรกิจทีวี

นายสมปองกล่าวว่า คำพิพากษาครั้งนี้ถือว่าไม่มีใครแพ้ใครชนะ การที่สื่อต่างชาติระบุว่ากัมพูชาชนะเป็นการตีความที่ผิด เนื่องจากมีรายละเอียดเหมือนกับการตัดสินในปี 2505 ที่พิพากษาว่าตัวปราสาทอยู่ในพื้นที่ของกัมพูชาอยู่แล้ว และการตัดสินครั้งนี้ก็ไม่ได้ให้ในสิ่งที่กัมพูชาต้องการเพิ่ม ส่วนไทยก็ยังคงเหมือนเดิม และยังยึดการตั้งข้อสงวน ไม่เห็นชอบตั้งแต่ปี 2505

"คำพิพากษาไม่มีอะไรที่เลวร้ายไปกว่าที่มันเลวร้ายอยู่แล้ว แต่สงสัยอยู่ว่าทำไม่เราไม่อ่านคำพิพากษาให้ละเอียด เพราะมีหลายอย่างที่ให้ประโยชน์กับเรา เช่น เรื่องของแผนที่ 1:200,000 ที่ศาลบอกว่าเป็นแผนที่ที่ผิด ซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องเสียแผ่นดิน 1.8 ล้านไร่"

ทั้งนี้ คำพิพากษายังคงพูดถึงเฉพาะตัวปราสาท ไม่เกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบที่จะต้องไปเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ และไม่ต้องการให้คนไทยพูดถึงตัวเลข 4.6 ตารางกิโลเมตร เพราะไม่มีในศาล เป็นสิ่งที่คิดกันขึ้นมาเอง รวมไปถึงต้องพูดถึงคดีให้ชัดเจนว่า คดีปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่คดีเขาพระวิหาร

นายสมปองกล่าวว่า แต่สิ่งที่ไม่เข้าใจคือการที่ธรรมนูญศาลระบุว่าศาลไม่สามารถแก้ไข หรือทบทวนคำตัดสิน หากจะทำต้องดำเนินการภายใน 10 ปี แต่คดีนี้เกิดขึ้นมา 50 ปี จึงแปลกใจว่าทำไมที่ผ่านมา ไทยไม่นำประเด็นนี้มาคัดค้านศาล

ชี้ศาลมองเป็นคดีต่อเนื่อง

ด้านนายปณิธานกล่าวว่า การที่ศาลพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะให้เหตุผลว่าเป็นคดีต่อเนื่อง ดังนั้นหากไทยไม่ส่งทีมงานเข้าไปร่วม ผลที่ออกมาอาจจะเลวร้ายกว่านี้ แต่สิ่งที่ไทยจะเสียที่เห็นรูปธรรมคือ การให้เปิดทางเพื่อความสะดวกในการเข้าออกของกัมพูชา แต่จะเป็นพื้นที่เท่าไรอยู่ที่การเจรจา

ส่วนการดำเนินการต่อไปของไทย เห็นว่ามี 3 แนวทาง คือ

1.การปฏิเสธ ไม่รับอำนาจศาล ไม่รับผลการวินิจฉัย ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำได้ แต่ต้องยอมรับผลที่จะตามมา เพราะอาจจะมีผู้ร้องเรียนต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งสามารถใช้มาตรการต่างๆ บังคับได้ รวมถึงการใช้กำลัง

"แนวทางนี้ก็มีหลายประเทศใช้ แต่ส่วนใหญ่เป็นประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเขามีวิธีการจัดการลดแรงต่อต้านได้ แต่ไทยไม่มีกำลังเช่นนั้น"

2.การพยายามเดินคู่ขนาน เน้นการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศนิยมใช้ และเห็นว่าหากมีทีมเจรจาที่เก่งไทยอาจจะได้เปรียบ ส่วนประเด็นที่หากกัมพูชาต้องการเจรจาเลือกการกำหนดเส้นแดนใหม่ ไทยก็สามารถขอใช้ข้อกำหนดเดิม ทั้ง เจบีซี และเอ็มโอยู ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความยุ่งยากใจให้กับกัมพูชามาก

"แนวทางนี้ใช้เวลาเจรจานานชั่วอายุคน นักการทูตที่เริ่มเจรจากับนักการทูตที่บรรลุข้อตกลง อาจจะเป็นคนละชุดกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี ค่อยๆ เจรจา หาช่องทางที่สร้างประโยชน์"

3.การยอมรับคำตัดสิน พร้อมกับการเจรจา สร้างประโยชน์ร่วม ซึ่งก็เป็นแนวทางที่เคยใช้มาแล้วในยุครัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่เจรจากับมาเลเซีย และได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเชิงความมั่นคง เช่น การปราบปรามโจรก่อการร้ายของไทย โจรจีนคอมมิวนิสต์ของมาเลเซีย แบะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ

"แต่แนวทางนี้ต้องระวังว่า ผลประโยชน์ที่ได้จะต้องไม่เข้ากระเป๋าใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนในยุคนี้ไม่ไว้ใจ แนวทางนี้ผู้นำต้องมีภาพที่ชัดเจนว่าเห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก และทีมต่อรองต้องเก่ง และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน การเจรจาในแนวทางนี้ ต้อง ทำพร้อมๆ กัน หลายกระดานแต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าบรรยากาศขณะนี้ไม่อำนวยเพราะประชาชนมีความสงสัยอย่างมาก"

รัฐยังสับสนแนวทางดำเนินการ

นายปณิธานกล่าวว่าแนวทางที่น่าสนใจคือแนวทางที่ 2 นอกจากหลายชาตินิยมใช้แล้ว ยังเชื่อว่าคนไทยมีเหตุผลที่จะมองรอบด้านถึงผลได้ผลเสียของประเทศ

ส่วนท่าทีของรัฐบาลขณะนี้ ยังสับสน เพราะการแถลงข่าวแต่ละครั้งไม่มีหลักยึดที่ชัดเจน และเห็นว่ามีครบทั้ง 3 แนวทาง เช่น ข่าวจะไม่ถอนกองกำลังต้นสังกัดหน่วยสังเกตการณ์ภายใน ข่าวว่าจะเจรจา หรือการแถลงข่าวว่าพร้อมจะดำเนินตามแนวทางของศาลไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ ซึ่งเห็นว่าไม่ควรเป็นเช่นนี้ เพราะทำให้ประชาชนสับสน