ซีอีโอเชื่อจีดีพีโตต่ำกว่า4.5%กังวลทีมศก.

ซีอีโอเชื่อจีดีพีโตต่ำกว่า4.5%กังวลทีมศก.

ผลสำรวจผู้บริหารองค์กรภาคเอกชน เชื่อว่าเศรษฐกิจปี 2556 โตต่ำกว่า 4.5% หวั่น "เศรษฐกิจโลก การเมืองภายใน ทีมเศรษฐกิจ" กระทบการดำเนินงาน

สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) จัดสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร หรือ ซีอีโอ เซอร์เวย์ (CEO Survey) เรื่อง "มุมมองเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2556" โดยสอบถามความเห็นผู้บริหารระดับสูงของ บจ. จำนวน 75 บริษัท ครอบคลุม 9 อุตสาหกรรม ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ตลาดเอ็มเอไอ (MAI)

นายสุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า ซีอีโอ 57% มีความคิดเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 4.5% ซึ่งต่ำกว่าการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2555 ที่ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตสูงกว่าระดับ 4.5%

กังวลทีมเศรษฐกิจ นโยบายรัฐ

ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 28% มองว่าเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากที่สุด โดยเฉพาะวิกฤติหนี้ยุโรป ภาวะเศรษฐกิจจีน และปัญหาการคลังของสหรัฐ รองลงมาคือปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามมาด้วยความผันผวนของค่าเงินบาท และกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารมองว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันดีกว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และมองว่า 6 เดือนถัดไป จะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่านี้ และยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมของตนจะปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน

ส่วนปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องทีมเศรษฐกิจ และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมากที่สุด โดยผู้ที่ระบุว่ากังวลใจมากมีสัดส่วน 24% กังวลใจ 50% รองลงมาคือเสถียรภาพทางการเมือง กังวลใจมาก 20% กังวลใจ 64% และความขัดแย้งทางสังคม กังวลใจมาก 20% และ กังวลใจ 53% ส่วนปัจจัยที่เห็นว่าไม่น่ากังวลใจ คือ ปัญหาสภาพคล่อง สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ และการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนและบริการ

"จากการไปโรดโชว์ในต่างประเทศ พบว่า นักลงทุนต่างชาติยังกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ที่ยังขาดความชัดเจน เช่น ราคาพลังงานที่ยังไม่เป็นไปตามกลไกตลาด หนี้สาธารณะ และความชัดเจนในโครงการจำนำข้าว สังคมอยากเห็นการตรวจสอบที่ชัดเจน โปร่งใส เพราะมองว่าหากโครงการนี้ไม่โปร่งใส ก็จะมีคำถามต่อเรื่องอื่นๆ ต่อไป"

ด้านการเตรียมการรับมือกับความปัจจัยเสี่ยงต่างๆ 99% ระบุว่าจะใช้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ รองลงมาคือการพัฒนาทักษะพนักงาน ปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้า บริการใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน

ส่วนแนวโน้มการลงทุนของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้า พบว่า 73% จะลงทุนเพิ่ม มีเพียง 7% ที่จะลดการลงทุน ส่วนอีก 20% มีการลงทุนเท่าเดิม

นายสุรงค์ กล่าวว่า ในส่วนคำถามถึงปัจจัยที่กระทบกับแผนการดำเนินงานของบริษัท 79% มองว่าปัญหาเศรษฐกิจในประเทศส่งผลกระทบกับแผนลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาการเมืองในประเทศ ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจต่างประเทศส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบด้านลบบ้าง แต่ก็มีบางส่วนที่เชื่อว่าจะมีผลลบมาก

กลุ่มซีอีโอส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าหากบริษัทต้องการระดมทุนเพื่อการลงทุน จะเลือกใช้กำไรสะสมในการลงทุน รองลงมาคือการขอสินเชื่อจากธนาคารในประเทศ ออกหุ้นกู้ในประเทศ และการเพิ่มทุนหรือระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม ไม่มีผู้บริหารคนใดเลือกขอสินเชื่อจากธนาคารต่างประเทศ และการออกหุ้นกู้ในต่างประเทศ และมีเพียง 7-10% ที่จะใช้การระดมทุนจากต่างประเทศเป็นแผนระดมทุนรอง

53% ชี้ดอกเบี้ยไม่กระทบธุรกิจ

ด้านอัตราดอกเบี้ย ผู้บริหาร 53% มองว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และมีเพียง 27% เห็นว่ามีผลลบต่อการดำเนินธุรกิจ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีก 6 เดือนข้างหน้า 43% เห็นว่าเท่าเดิม 33% เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะลดลง และที่เหลือ 24% เห็นว่าจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1%

ผลสำรวจเรื่องเงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 2-4% เพราะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง สำหรับสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ไทยในปัจจุบัน ไม่น่ากังวล เนื่องจากยังไม่ร้อนแรงจนเป็นฟองสบู่ แต่มี 30% มองว่าเกิดภาวะฟองสบู่แล้วและอาจสร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้

นอกจากนี้ ผู้บริหาร 60% มองว่าโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลมีผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไม่มาก เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความล่าช้าในการดำเนินการ และอีก 32% มองว่ายังไม่มีผลต่อสภาพคล่องในปี 2556 แต่จะเริ่มมีผลในปี 2557

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาท มองว่า รัฐควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และควรเก็บภาษีเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาหาผลตอบแทนระยะสั้น และบางส่วนให้ลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า ขณะเดียวกันผู้บริหาร 67% มองว่าไทยมีความเสี่ยงด้านความพอเพียงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะปัญหาอาจเกิดขึ้นอีกรวมถึงกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและบริการในอนาคต

ธปท.หวั่นปฏิวัติอียิปต์กระทบราคาน้ำมัน

ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ปฏิวัติในอียิปต์ ว่า ธปท.กำลังติดตามดูสถานการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อเส้นทางขนส่งน้ำมันหรือไม่ ถ้าไม่กระทบคงไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมากนัก

นอกจากนี้ อียิปต์ เคยผ่านเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ระยะสั้น ถ้าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ยืดเยื้อ เชื่อผลกระทบคงเป็นแค่ชั่วคราว

"ต้องขอติดตามดูสถานการณ์ก่อน เพราะขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพัฒนาการ ต้องดูว่าจะไปกระทบต่อเส้นทางการขนส่งน้ำมันหรือไม่ ถ้าไม่กระทบก็ไม่น่าจะส่งผลต่อราคาน้ำมัน เพราะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ คือ ซาอุดีอาระเบีย กับประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่" นายเมธี กล่าว

ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อภายในประเทศเดือนมิ.ย. เงินเฟ้อทั่วไปเติบโตที่ 2.25% และเงินเฟ้อพื้นฐานเติบโตที่ 0.88% ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานแม้ออกมาค่อนข้างต่ำ แต่ยังเติบโตกว่าเดือนก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นถึงการบริโภคที่ยังมีให้เห็นต่อเนื่อง และเชื่อว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีไม่น่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายขั้นต่ำที่ 0.5% ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาโดยปกติต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย. เติบโตที่ 2.25% ขณะที่ค่าเฉลี่ย 6 เดือน เติบโตที่ 2.7% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมิ.ย. เติบโตที่ 0.88% ขณะที่ค่าเฉลี่ย 6 เดือน เติบโตที่ 1.23%

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. กล่าวว่า การปฏิวัติในอียิปต์ จะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ซึ่งขณะนี้ ราคาน้ำมันในตลาด WTI ตอบรับกับเหตุการณ์ โดยราคาปรับตัวขึ้นมาประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เชื่อว่าสถานการณ์ไม่น่าจะลุกลามจนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง เหมือนกรณีของซีเรีย

"การปฏิวัติที่อียิปต์ มีทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุน ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่เหตุการณ์บานปลายจนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง ก็จะส่งกระทบมากต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก เพราะว่าคนจะช็อกและกักตุนน้ำมัน มีการเก็งกำไร ราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะปรับตัวสูงขึ้นไป 5-10 ดอลลาร์ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้น มีไม่ถึง 10%" นายสุเทพ กล่าว