แม็คกรุ๊ประดม3พันล.ยีนส์ไทยผงาดตลาดโลก

แม็คกรุ๊ประดม3พันล.ยีนส์ไทยผงาดตลาดโลก

"แม็คกรุ๊ป"ระดมทุน 3 พันล้าน รองรับการขยายธุรกิจตามแผน 4 ปี โดยนำเงินลงทุนเพิ่มช่องทางขายอีก 74 จุด ดันยีนส์ไทยติดแบรนด์ดังระดับโลก

นางสาวสุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของบริษัทแม็คกรุ๊ป ในฐานะผู้จัดจำหน่ายกางเกง "แม็ค ยีนส์" เปิดเผยว่า ขณะนี้แม็คกรุ๊ป อยู่ระหว่างได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินการนำหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทได้ออกหุ้นสามัญเพื่อเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ไม่เกิน 200 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ พาร์หุ้นละ 0.50 บาท โดยคาดจะระดมทุนได้ 3,000 ล้านบาท และจะมีขนาดของมาร์เก็ตแคปไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท

"ปี 2555 ที่ผ่านมา แม็คกรุ๊ปมีรายได้รวม 2,564 ล้านบาท กำไรสุทธิ 599 ล้านบาท โดยไตรมาส 1 ปีนี้ที่ผ่านมามีรายได้รวมแล้วกว่า 637 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 180 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงไฮซีซัน คาดปีนี้จะเติบโตได้อีก 30% โดยจะทำการกระจายหุ้นไอพีโอ 200 ล้านหุ้นเดือนมิ.ย.นี้"

ขณะที่นางปรารถนา มงคลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทแม็คกรุ๊ป กล่าวเสริมว่า ปี 2555 แม็คกรุ๊ป มีกำไรสุทธิ 599 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 2554 ถึง 139% หรือเพิ่มจากเดิมที่ 299 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย 780 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 94% หรือจากเดิมอยู่ที่ 7481 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวม 2,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ราว 40% หรือจากเดิม 1,817 ล้านบาท

สาเหตุที่ผลการดำเนินงานเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะบริษัทดำเนินนโยบายบริหารงานเชิงรุก มุ่งเน้นการบริหารช่องทางจัดจำหน่ายให้เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ มีการเปิดร้านค้าปลีกของตนเองเพิ่มขึ้น จึงทำให้บริหารจัดการสินค้าได้ดีขึ้น และเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โดยปีนี้มีช่องทางการขาย 511 แห่ง ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกของตนเอง 117 แห่ง และห้างค้าปลีก 394 แห่ง อีกทั้งรายได้จากจุดขายเติบโตต่อเนื่อง โดยรายได้ต่อร้านซึ่งเปรียบเทียบเต็มปีเพิ่มขึ้น 22%

เธอบอกว่า รวมทั้งมีการพัฒนาสายงานด้านการผลิตแบบลีนอย่างต่อเนื่อง (Lean Manufacturing System) เพื่อให้ระบบการผลิตมีประสิทธิภาพ และลดความสูญเสียของงาน ลดความแปรผันในการผลิตตลอดกระบวนการ

"การเติบโตของบริษัทจากนี้ไป จะยังเป็นไปแบบก้าวกระโดดต่อเนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนปีที่ผ่านมามีรายได้เติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 139% ต่อปี เป็นผลมาจากการได้รับการยกเว้นภาษีจากการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเอสเอ็มอี ตลอดจนการลดต้นทุนในการผลิต และการขยายช่องทางจำหน่าย ประกอบกับ บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มสินค้ายีนส์ที่มีแบรนด์สัดส่วน 38% ของมูลค่าตลาดรวมกว่า 8 พันล้านบาท"

การระดมทุนครั้งนี้ เพื่อนำเงินลงทุนขยายธุรกิจในช่วง 4 ปีจากนี้ไป ได้แก่ การลงทุนขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งส่วนนี้ใช้เงินลงทุน 400-500 ล้านบาท ลงทุนพัฒนาและวิจัยสินค้า หรือ อาร์แอนด์ดี โดยเฉพาะระบบไอที 500 ล้านบาท ลงทุนย้ายศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่บนพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร อีก 120 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสต็อกสินค้ามากยิ่งขึ้น และลงทุนตั้งศูนย์ออกแบบ หรือ ดีไซน์ เซ็นเตอร์อีก 80 ล้านบาท ส่วนที่เหลือชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคาร และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ปัจจุบันบริษัทบริหารการจัดจำหน่ายสินค้าของกลุ่มบริษัทเองภายใต้แบรนด์ แม็ค ยีนส์, แม็คเลดี้, ไบสัน, แม็ค พิ้งก์ และ แม็ค มินิ ซึ่งแต่ละแบรนด์มีจุดเด่นและดีไซน์ที่แตกต่างกันไป และมีแผนจะจำหน่ายสินค้าแบรนด์อื่นๆ ด้วย

"ภายในเดือนมิ.ย. นี้ บริษัทจะเปิดตัวเว็บไซต์ ว๊าวมี (www.WoWme.co.th) ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมแบรนด์ชั้นนำทั้งไทยและจากต่างประเทศมาจำหน่ายผ่านออนไลน์ ซึ่งจะเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต และภายในปีนี้จะมีร้านค้าปลีกระดับพรีเมียม "บลู บราเธอร์ส" สำหรับกลุ่มคนรักและสะสมยีนส์โดยเฉพาะ

ด้าน นางสาวสุณี เสรีภาณุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป กล่าวด้วยว่า แม็คกรุ๊ป เปิดดำเนินธุรกิจมาจะครบ 38 ปีในเร็วๆ นี้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเห็น ก็คือต้องการให้กางเกงยีนส์แม็ค เป็นยีนส์แบรนด์ไทยที่ติดตลาดโลก เหมือนกับยีนส์ดังยี่ห้ออื่น