วิถีลงทุน"หุ้น-นาฬิกา-ไวน์-ที่ดิน"ทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล"  

วิถีลงทุน"หุ้น-นาฬิกา-ไวน์-ที่ดิน"ทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล"
 

เส้นทางชีวิตลงทุน“เก็งกำไร”ของ“ทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล” ทายาทคนโตของ “เสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล” “หุ้น-ไวน์-นาฬิกา-ที่ดิน สร้างกำไรมาแล้ว“อื้อซ่า"

มุมหนึ่ง “วี” ทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล คือทายาทคนโตของ “เสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล” ผู้ก่อตั้ง “คิงส์แพ็ค กรุ๊ป” จากจำนวนพี่น้อง 3 คน อายุห่างกันคนละ 3 ปี เขาคือ นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง เจ้าของ “ดีแพค อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น” (DPAC) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ ฟิล์ม และถุงพลาสติกประเภท HDPE, LDPE และ LLDPE และยังนั่งเป็นกรรมการมากถึง 7 บริษัทในเครือ ได้แก่ คิงส์ เทเลคอม,คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล, คิงส์แบ็ก,คิงส์ พร็อพเพอร์ตี้,ดวงรัตน์ พร็อพเพอร์ตี้ และดีแพค อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น

ทว่าอีกฟากของชีวิต “ชายหน่มุวัย 36 ปี” ผู้นี้ เต็มใจ “สวมบทบาท” นักลงทุนผู้ปลาบปลื้มการ “เก็งกำไร” เป็นชีวิตจิตใจ

พีอาร์ส่วนตัวโทรมานัด “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ให้ไปฟังเรื่องราวชีวิตการลงทุนของ “หนุ่มวี” ณ คิงส์ เทเลคอม” หนึ่งในบริษัทในเครือของ “คิงส์แพ็ค กรุ๊ป” ย่านบางนา-ตราด เขาฝากพีอาร์เกริ่นนำมาก่อนว่า.. “ชีวิตเก็งกำไรของผมยังไม่เคยมีใครมานั่งฟังจริงๆจังๆสักคน !”

“หนุ่มวี” ถอดชุดสูทตัวเก่งพาดบนเก้าอี้ หันมาสบตาเล็กน้อยก่อนพูดว่า ผมอยากให้คุณดูวิดิโอพรีเซนต์เทชั่นแนะนำบริษัท ดีแพค อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ก่อน พรางก้มหน้าอ่านข่าวย้อนหลัง 2 ฉบับของ หนังสือพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ที่พีอาร์ส่วนตัวจัดเตรียมไว้ให้อย่างจริงจิง ไม่ต่ำกว่า 5 นาที

“โอเคผมพอเข้าใจแนวทางหนังสือพิมพ์ละ” (เขายิ้ม)

“หนุ่มขี้อาย” เปิดฉากเล่าประวัติชีวิตแบบเขินๆว่า ผมเป็นลูกชายคนโต จากจำนวนพี่น้อง 3 คน บ้านอยู่แถวฝั่งธน ก่อนครอบครัวจะมีธุรกิจใหญ่โต คุณพ่อเคยเป็นเจ้าของร้านขายเฟอร์นิเจอร์ สุดท้ายท่านก็ยกกิจการให้คุณแม่ แล้วโยกไปทำโรงงานพลาสติก ท่านบอกกับคุณแม่ว่า เรามีลูกแล้วต้องปฎิบัติการณ์สร้างฐานะให้มั่นคง คุณพ่อเปิดโรงงานแห่งแรกแถวบางบอน พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ตอนนั้นธุรกิจรุ่งเรืองมาก ท่านโชคดี เพราะเป็น “ยุคของการเติบโต” ใครกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วทำธุรกิจเกี่ยวกับการบริโภค “เจริญรุ่งเรือง” ทุกคน

เมื่อเข้าสู่ปี 2532 คุณพ่อกับเพื่อนๆเริ่มขยับฐานะ ด้วยการหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่านไปซื้อที่ดินเปล่าเพื่อมาทำสร้างตึกแถวย่านตลิ่งชัน-ปิ่นเกล้า 100 ห้อง เชื่อมั้ย “ขายดีมาก” จากนั้นท่านก็ทำต่ออีกหลายโครงการ จำพวกโครงการบ้านเดี่ยวก็ทำ ตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 12 ปี แม้จะยังเป็นเด็กน้อย แต่คุณพ่อมักพาผมไปนั่งเล่นที่ออฟฟิคทุกวันหยุด ท่านอยากให้ผมซึมซับและเรียนรู้การเป็นเจ้าของกิจการ แต่ตอนนั้นยังเด็กเต็มทีก็ได้แต่นั่งดูพฤติกรรมของพนักงาน และฟังคุณพ่อพูดในที่ประชุม

คุณพ่อมักถ่ายทอดวิชาทำธุรกิจให้ลูกๆฟัง ทุกครั้งที่ออกไปทานข้าวนอกบ้าน ส่วนใหญ่ท่านจะพาพวกเราไปทานข้าวนอกบ้านสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ผมน่าจะเป็นลูกคนเดียวที่ตั้งใจฟังท่านมากสุด (ยิ้ม) อาจเป็นเพราะเราเป็นลูกชายคนโต และอยู่ใกล้พ่อแม่มากที่สุด การที่คุณพ่อปลูกฝังให้เรา “รักอาชีพพ่อค้า” ทำให้ผมตัดสินใจเรียนคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ทั้งปริญญาตรีและโท

ช่วงเรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ มีโอกาสชิมลางทำงานในบริษัทอสังหาริมทรพย์แห่งหนึ่ง ณ ตึก อาร์เอส ทาวเวอร์ ย่านรัชดา ช่วงนั้นผมสนใจธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามพ่อมากๆ เรียกว่าชอบกว่าธุรกิจโรงงานพลาสติกซะอีก ทำงานได้ 1 ปี ก็ขอคุณพ่อไปเรียนต่อปริญญาโทช่วงเย็นๆของวันเสาร์-อาทิตย์

พอเรียนจบ คุณพ่อก็ให้เข้ามาช่วยทำงานใน “คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล” ในตำแหน่งผู้ช่วย MD ถามว่าทำไมต้องตำแหน่งนี้ เพราะท่านอยากให้ทำงานใกล้ๆตัวจะได้เรียนรู้งานเร็วๆ งานหลักๆที่คุณพ่อให้ช่วยทำ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขาย ติดต่อลูกค้า หลังๆก็มาดูเรื่องการเงิน ตอนโน่นคุณพ่ออยากแปรรูปบริษัทเป็นมหาชน

ทำงานได้ 1 ปีครึ่ง คุณพ่อก็ยกโรงงานพลาสติกแถวพระประแดงให้ผมทดลองบริหารตอนปี 2547 เมื่อก่อนท่านมีโรงงานพลาสติกทั้งหมด 3 แห่ง แต่ปัจจุบันได้รวมกันเป็น 1 โรงงาน ใช้ชื่อว่า “ดีแพค อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น” งานแรกๆ คือ ทำการตลาดในประเทศ พยายามหาลูกค้าใหม่ๆ เน้นลูกค้าขนาดกลาง-ใหญ่มากขึ้น จากเดิมจะมีเพียงลูกค้าไซด์กลาง-เล็กเท่านั้น ทำไปทำมาฐานการผลิตเริ่มใหญ่ขึ้นเป็น 100 ล้านบาท ลูกค้าเยอะขึ้น ผลิตแทบไม่ทัน นั่นแหละ เหตุที่เราต้องรวมโรงงานเป็นหนึ่งเดียว

“ทวี” เล่าย้อนกลับไปช่วงปี 2545 ว่าเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้สัมผัสตลาดหุ้น แต่ก่อนจะเข้าไปสู่สนามจริงๆ ได้เข้าไปประลองฝีมือในตลาดจำลองของ “ชมรมเล่นหุ้น” ในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตอนโน่นเขาให้เลือกหุ้น 5 ตัว จาก 20 ตัว ผมก็คัดเอาเฉพาะตัวที่มีชื่อเสียง เช่น กลุ่มก่อสร้าง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เล่นอยู่ประมาณ 1 เดือน ผลออกมาได้กำไร แต่จำตัวเลขไม่ได้ผ่านมานานมากแล้ว (หัวเราะ) ถามว่าทำไมต้องเป็นหุ้นที่มีชื่อเสียง ตอนนั้นยังเล่นหุ้นไม่เป็น ไม่รู้วิธี ฉะนั้นเลือกกลยุทธ์อย่างนั้นน่าจะดีที่สุด

ผมตัดสินใจเล่นหุ้นจริงๆจังๆ หลังเรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ เพราะรู้สึก “สนุก” กับตลาดหุ้นจำลอง ผมนำเงินเก็บ 1 ล้านบาท มาเปิดพอร์ตกับบล.ฟินันเซีย ไซรัส ถามว่าทำไมต้องโบรกเกอร์นี้ ไม่มีอะไรซับซ้อนรุ่นน้องเป็นมาร์เก็ตติ้งอยู่ที่นี่ (หัวเราะ) ผมแบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกประมาณ 700,000 บาท เอาไปซื้อหุ้น สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ราคาหุ้นละประมาณ 4 บาท ที่เหลืออีก 300,000 บาท นำไปซื้อหุ้น แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) ราคาหุ้นละประมาณ 1 บาท

ถามว่าทำไมต้องซื้อหุ้น 2 ตัวนี้??? ไม่มีอะไรในก่อไผ่เหรอ!!! ผมใช้ความรู้สึก และความน่าจะเป็นในการตัดสินใจ อย่างหุ้น SSI ตอนโน่นเขาดังมากใครๆก็รู้จัก ผมก็คิดว่าราคาหุ้นน่าจะขึ้น ส่วนหุ้น GOLD ซื้อเพราะเขาเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ทั้งๆที่ช่วงนั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ดีเลย “คุณเชื่อมั้ย” ผมถือหุ้นผ่านมา 1 เดือน หุ้น SSI เริ่มทำซิลลิ่ง (ราคาสูงสุดของวันนั้นๆ) ผ่านมา 3 เดือนทำซิลลิ่งติดต่อกัน 4 ครั้ง ผมรีบขายออกเลย ส่วนหุ้น GOLD ก็ค่อยๆขยับ สุดท้ายก็ได้กำไรประมาณ 10% (ไม่แน่ใจ) จำได้เพียงว่าเงินในพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 1.4-1.5 ล้านบาท

ตอนนั้นผมเริ่ม “ติดใจ” อยากขยายพอร์ตลงทุน ตัดสินใจเดินไปขอเงินคุณพ่อกับคุณแม่ นั่งอธิบายให้ท่านฟังว่าเราเล่นแล้วได้กำไรมากขนาดไหน สุดท้ายท่านก็ให้เงินมาก้อนหนึ่งประมาณ 10 ล้านบาท คราวนี้กลับไปซื้อหุ้น SSI อีกรอบ ตอนนั้นมองไปไกลมากผมให้ราคาเป้าหมาย 20 บาทต่อหุ้น แต่พอราคาหุ้นขึ้นมา 15-16 บาท ผมไม่รอ “เทขาย” หมดเกลี้ยง

คราวนี้เริ่ม “เล่นหนัก” ขึ้นเรื่อยๆ ไปขอเงินคุณพ่อกับคุณแม่ใหม่อีกรอบ ท่านก็ให้เงินมาอีกก้อนรวมๆกับเงินในพอร์ตก็ปาเข้าไป 50 ล้านบาท ผมเน้นซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์ และกลุ่มไฟแนนซ์ ผลออกมา “โอเคมาก” (ลากเสียงยาว) เมื่อเล่นแล้วได้กำไรมากขึ้น ผมกลายเป็นคน “ใจถึง” ไปซื้อหุ้นหวือหวาอย่างหุ้น อกริเพียว โฮลดิ้งส์ (APURE) ซื้อมาตั้งแต่ 1 -3 บาท ขายไป 9 บาท ได้กำไรสูงถึง 200%

เล่นไปเล่นมา 3 ปี วันหนึ่งตลาดหุ้นไทยดันตกจากที่สูง 800 จุด เหลือ 600 จุด ผมเลยกลายเป็นคน “ขาดทุนหนัก” เพราะดันมีสัดส่วนหุ้นเก็งกำไรเกือบ 100% เงินในพอร์ตหายไป 60% (นึกแล้วใจหาย) ผมทยอยขายหุ้น ปิดพอร์ต เอาเงินมาคืนคุณพ่อกับคุณแม่ จำไม่ผิดเลิกเล่นหุ้นตอนอายุ 30 ปี ถามว่าได้บทเรียนอะไรจากการลงทุนครั้งนั้น อย่างน้อยก็สอนให้ผมรู้จักตลาดหุ้น ตื่นมาคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง อีกอย่างยังช่วยให้เรานำมาปรับใช้ในการบริหารกิจการได้ด้วย

“ถ้ามีโอกาส และนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเรียบร้อยแล้ว ผมจะกลับมาลงทุนในหุ้นพื้นฐานอีกครั้ง รับรองรอบนี้จะไม่กลับไปเล่นแบบเดิมแน่นอน ตอนนี้ผมทำได้เพียงคอยแนะนำเพื่อนๆ หรือคนรู้จักที่เขาอยากลงทุนในตลาดหุ้น แต่ยังไม่มีความรู้ อย่างน้อยผมก็ได้สวมบทครูคุณจำเป็น”

“ทวี” เล่าต่อว่า ตั้งแต่เลิกเล่นหุ้น ผมก็หันมา “เก็งกำไรนาฬิกาหรูยี่ห้อดังๆ” มากขึ้น (ราคาหลักแสนขึ้นไป) เล่าไปคุณจะตกใจ ทุกปีนาฬิกาแพงๆมือสองจะปรับตัวเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5-10% โดยเฉพาะยี่ห้อ AP, โรเล็กซ์ และ PANERA เป็นต้น ซึ่งนาฬิกา 3 ยี่ห้อนี้ คนมักนิยมเล่น ราคาเพิ่มขึ้นทุกปี

ผมชอบสะสมนาฬิกายี่ห้อ AP และ PANERA เป็นหลัก จำไม่ผิดเก็บมา 10 ปีแล้ว ราคาปรับตัวขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% ผมเคยขายให้เพื่อน และพ่อค้าคนกลางมากสุดประมาณ 10 เรือน เมื่อเร็วๆนี้ เพิ่งขายไป 5-6 เรือน ก็ได้กำไรมากพอควร (ไม่ยอมบอกตัวเลข) ปัจจุบันมีอยู่ในมือประมาณ 20-30 เรือน ส่วนใหญ่จะเป็นยี่ห้อ AP ผมชอบยี่ห้อนี้เพราะเหมาะกับบุคคลิกของผม ถามว่าจะขายอีกหรือเปล่า ยังไม่รู้เลย ต้องดูช่วงจังหวะราคาก่อน ถ้าขายน่าจะได้กำไรราวๆ 20% แต่ผมจะซื้อนาฬิกาใหม่ๆเก็บปีละ 1-2 เรือน

“เก็งกำไรไวน์ยี่ห้อดัง” ก็ชอบนะ แต่ผมจะแปลกกว่าชาวบ้านนิดหนึ่ง ตรงที่ไม่ชอบเก็งกำไรไวน์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “5 อรหันต์” อย่างยี่ห้อ ชาโตว์ ลาตูร์ (Chateau Latour) ชาโตว์ ลาฟิต- รอธส์ชิลด์ (Chateau Lafite-Rothschild) ชาโตว์ มาร์โกซ์ (Chateau Margaux) ชาโตว์ โอต์-บรีออง (Chateau Haut-Brion) และชาโตว์ มูตอง-รอธส์ชิลด์ (Chateau Mouton-Rothschild) ไวน์พวกนี้
แพงไปหน่อย

“คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ” (หัวเราะ)

ผมชอบไวน์ฝรั่งเศส ยี่ห้อ Chateau Clerc Milon และ Châteauneuf du Pape และไวน์ อิตาลี ยี่ห้อ Tignanello และ Sito Moresco ราคาไม่แพงเกินไปเฉลี่ย 1,000-5,000 บาทต่อขวด ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 100 ขวด ไวน์พวกนี้มันมีตำนาน มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีภูมิอากาศที่เหมาะสม ผมเคยไปดูไร่องุ่นและโรงไวน์ใน 2 ประเทศนี้แล้ว ปกติจะซื้อไวน์ยี่ห้อเดียวกันครั้งละ 2 ขวด (ยิ้ม) ขวดหนึ่งเอาไว้กินจะได้รู้ว่าอร่อยแค่ไหน อีกขวดเก็บใส่ตู้ไวน์เอาไว้ขาย ผมเคยขายเก็งกำไรไม่กี่ขวด แค่ครึ่งเดียวได้กำไรประมาณ 10% ไม่อยากขายเยอะเสียดาย (หัวเราะ) เมื่อก่อนเคยคิดอยากเปิดร้านไวน์ แต่คนทำเพียบ ไม่ชอบทำตามใคร อยากทำอะไรที่เป็นคนบุกเบิกมากกว่า

“เก็งกำไรที่ดิน” ก็ชอบ แต่ไม่ได้ทำในนามส่วนตัว ผมเข้าไปช่วยบริษัท ดวงรัตน์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (ดวงรัตน์ ชื่อคุณแม่) เมื่อก่อนบริษัทนี้เคยมีที่ดิน 1,000 ไร่ แถบตะวันออกของกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ขายทำกำไรให้บริษัทอื่นๆไปแล้ว มีบางแปลงที่ตัดขายให้กับ “คิงส์ พอร์ตเพอร์ตี้” บริษัทในเครือของ “คิงส์แพ็ค กรุ๊ป” ในฐานะที่ผมคลุกคลีในแวดวงอสังหาริมทรัพย์มานาน มองว่าธุรกิจนี้ใกล้ถึง “จุดพีท” แล้ว เพราะเติบโตมาแล้ว 5 ปีติดต่อกัน ฉะนั้นอสังหาริมทรัพย์อาจเข้าสู่ภาวะ “ทรงตัว” แต่ไม่ต้องกลัวไม่เกิดโดมิโนแน่นอน

“เซียนเก็งกำไร” สรุปทิ้งท้ายว่า การลงทุนเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ตาม ปกติผมจะเก็บเงินสดเพียง 20% อีก 60% จะนำไปซื้อนาฬิกา และไวน์ เพื่อขายเก็งกำไรในอนาคต ที่เหลือ 20% จะนำไปซื้อกองทุน LTF และ RMF เพื่อลดภาษี ตอนนี้มูลค่ากองทุนน่าจะราวๆ 1 ล้านบาท ซื้อมา 3 ปีแล้ว ผลตอบแทนไม่เท่าไร

(ไซด์บาร์)
ดีแพคฯ “กดบัตรคิว” เข้าตลาดหุ้นปี 2557....“ทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล” เล่าแผนงานในอนาคตให้ฟังว่า ปัจจุบัน “ดีแพค อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น” มีทุนจดทะเบียนประมาณ 20 ล้านบาท เร็วๆนี้ ตั้งใจจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท ถือเป็นการปรับโครงสร้างภายในก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประมาณในปี 2557 ตอนนี้ได้จ้าง “แอดไวเซอรี่ พลัส” มาเป็นที่ปรึกษาการเงินแล้ว น่าจะใช้เวลาปรับโน่นนี่สัก 1 ปี วันนี้ผมถือหุ้นในบริษัท 80% อีก 20% เป็นผู้ร่วมทุนรายอื่นๆ และมี “ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่งเป็นที่ปรึกษาบริษัท

ตั้งแต่ปรับกลยุทธ์เมื่อปี 2547 ยอดขายของบริษัทก็เพิ่มขึ้นทุกปี จากประมาณ 60-70 ล้านบาท ในปี 2548 เป็น 80-100 ล้านบาท ในปี 2549 จากนั้นก็ทะยานเป็น 900 ล้านบาท ในปี 2555 ส่วนในปี 2556 หวังจะมียอดขายประมาณ 1,100 ล้านบาท ถามว่าที่ผ่านมาบริษัทเติบโตเฉลี่ยปีละกี่เปอร์เซ็นต์? เขาเงียบคิดก่อนจะตอบว่า น่าจะประมาณ 50% บางปีขยายตัวสูงสุด 60% เติบโตน้อยสุดก็ปีละ 20-30%

เมื่อก่อนเราจะขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด 45% โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ 25% รายย่อย 15% และสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ HERO, สวัสดี และ D ประมาณ 15% แต่ในอนาคต 3 ส่วนแรก ซึ่งเราจะเรียกว่า OEM จะมีสัดส่วนประมาณ 60% และสินค้าเฮาส์แบรนด์จะเพิ่มเป็น 40%

แบรนด์ D เราจะลงมือเจาะตลาดอาเซียนมากขึ้น จากปัจจุบันที่บริษัทนำสินค้าไปขายในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ตอนนี้เล็งๆจะไปประเทศเวียดนามในปี 2556 แต่อาจให้ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” (BJC) เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย ผมเชื่อว่าการมีพันธมิตรที่ดีจะทำให้สินค้าของเราขายคล่องมากขึ้น

ส่วนแบรนด์ “สวัสดี” จริงๆแล้ว เน้นขายในประเทศเป็นหลัก แต่อนาคตเล็งจะ “โกอินเตอร์” ไปขายในประเทศเวียดนามเหมือนกัน สำหรับแบรนด์ HERO ที่เน้นขายระดับพรีเมี่ยม ส่งออกไปไกลถึงแถบยุโรป เราก็ให้ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” จัดจำหน่ายเหมือนกัน