คอ.นธ.ชี้ใช้เทคโนโลยีควบคุมนักโทษ

คอ.นธ.ชี้ใช้เทคโนโลยีควบคุมนักโทษ

คอ.นธ.เสนอใช้เทคโนโลยีควบคุมนักโทษ ย้ำคดีเล็กน้อยแทนส่งขังคุก ชี้ใช้งบประมาณแค่ 1,500 ล้านแก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมทางวิชาการเรื่องการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) มาใช้กับผู้กระทำความผิดในประเทศไทย โดยนายอุกฤษ กล่าวว่า ขณะนี้เรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังประมาณ 400,000 คน ซึ่ง 80-90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังเป็นผู้มีฐานะยากจน สาเหตุที่ถูกคุมขังเนื่องจากถูกตั้งข้อกล่าวหาบางส่วนมีข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อถูกจับกุมพนักงานสอบสวนได้ตั้งวงเงินประกันไว้สูงมากซึ่งผู้ต้องหาไม่มีเงินต้องกู้หนี้นอกระบบ

นอกจากนี้วิธีการที่รับรู้โดยทั่วไปคือพนักงานสอบสวนจะแนะนำให้ผู้ถูกกล่าวหารับสารภาพไปก่อนเพื่อให้ศาลลดโทษกึ่งหนึ่ง จึงทำให้มีคนจำนวนมากต้องรับกรรมอยู่ในคุก คอ.นธ.ได้ศึกษารายละเอียดในเรื่องการกักขังนักโทษโดยเปรียบเทียบบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศพบว่าการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้แทนโซ่ตรวนมี 50 ประเทศ ซึ่งความคืบหน้าของประเทศไทยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติรับหลักการแล้ว โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะนำมาใช้กับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดหรืออาจนำมาใช้กับผู้ต้องขังที่ถูกพักโทษในเรือนจำ 143 แห่งประเทศ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวมี 2 ระบบ คือ EM และ RFID

“ผมเห็นว่าควรนำเครื่องมือ RFID ไปใช้ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะในภาคใต้มีรถยนต์ประมาณ 800,000 คันและระบบดังกล่าวเป็นเหมือนดีเอ็นเอของรถ หากมีการโจรกรรมรถยนต์สามารถติดตามคืนได้ และทั้งประเทศมีรถยนต์ประมณ 31 ล้านคันหากติดระบบ RFID ทั้งหมดจะใช้บประมาณประมณ1,500 ล้านบาทที่จะช่วยป้องกันทั้งปัญหายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรมอื่น ๆ นอกจากนี้การนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้ต้องขังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะนักโทษการเมืองที่ขณะนี้ถูกคุมขังมาเป็นเวลากว่า 1 ปี หลายฝ่ายพยายามแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรรมและการแก้รัฐรรมนูญ โดยคอ.นธ.เห็นว่าระบบยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การนำหลักปฏิบัติใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ควบคุมผู้ต้องขังทางการเมือง เด็ก สตรีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ายังได้รับคามเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ”นายอุกฤษกล่าว

ขณะที่นายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักประธานศาลฎีแสดงความเป็นห่วงว่า หากจะนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ว่าเจ้าหน้าที่จะมีทักษะและความพร้อมมากพอหรือไม่ รวมถึงความเข้าใจในระบบของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และความรวดเร็วของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลนักโทษที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการควบคุมตัวเมื่อกระทำผิดเงื่อนไข นอกจากนี้ประเทศไทยยังติดขัดเรื่องข้อกฎหมายที่หากจะนำระบบEM มาใช้ก็จะต้องแก้กฎหมาย อย่างไรก็ตามการจะนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้มี 3 กระบวนการของศาลคือ ระหว่างศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ,ศาลมีคำพิพากษาแล้ว และศาลมีคำสั่งให้พักโทษหรือผู้ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนและศาลมีคำสั่งให้กักขังแทนการเสียค่าปรับซึ่งจะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี แต่เห็นด้วยว่าการใช้เครื่องมือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะลดปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ

"คดีการเมืองแม้ไม่ใช่คดีอาชญากรรมแต่ถ้าปล่อยออกไปแล้วจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหรือไปยุยงปลุกปั่นแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ตอนนี้ไม่อยากให้ดูเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ต้องฟังความเห็นของสังคมและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย”นายดลกล่าว