เตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 9-14 ก.ค.นี้

เตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 9-14 ก.ค.นี้

ปภ.แจ้ง 35 จังหวัดภาคเหนือ – อีสาน – กลาง - ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 9 - 14 ก.ค. 65

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 65 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวรทะเลอันดามันล่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขณะที่กองอำนวยการน้ำได้ประเมินสถานการณ์พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักปริมาณน้ำในอยู่ในเกณฑ์มาก อาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 14 กรกฎาคม 2565 รวม 35 จังหวัด แยกเป็น

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง รวม 32 จังหวัด 

ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่

  • แม่ฮ่องสอน (ทุกอำเภอ)
  • เชียงใหม่ (ทุกอำเภอ)
  • เชียงราย 6 อำเภอ (เชียงของ เทิง เวียงแก่น แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย)
  • ลำพูน 6 อำเภอ (เมืองลำพูน แม่ทา บ้างโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง ลี้ บ้านธิ)
  • ลำปาง 12 อำเภอ (เมืองลำปาง เถิน เสริมงาม สบปราบ วังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม งาว แม่เมาะ ห้างฉัตร แม่ทะ แม่พริก)
  • พะเยา 6 อำเภอ (เมืองพะเยา เชียงคำ ปง จุน ภูซาง ดอกคำใต้)
  • แพร่ (ทุกอำเภอ)
  • น่าน 12 อำเภอ (เมืองน่าน นาน้อย นาหมื่น เชียงกลาง ปัว เวียงสา ทุ่งช้าง ท่าวังผา บ้านหลวง แม่จริม สันติสุข ภูเพียง)
  • อุตรดิตถ์ 8 อำเภอ (เมืองอุตรดิตถ์ ฟากท่า ท่าปลา ลับแล บ้านโคก น้ำปาด ทองแสนขัน พิชัย)
  • พิษณุโลก 5 อำเภอ (วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์) ตาก (ทุกอำเภอ)
  • เพชรบูรณ์ 7 อำเภอ (เมืองเพชรบูรณ์ วังโป่ง ชนแดน หนองไผ่ หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ)
  • อุทัยธานี 5 อำเภอ (บ้านไร่ ห้วยคต ลานสัก ทัพทัน สว่างอารมณ์)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่

  • เลย 10 อำเภอ (เมืองเลย ด่านซ้าย วังสะพุง ภูเรือ ภูหลวง ปากชม เชียงคาน หนองหิน ภูกระดึง ท่าลี่)
  • หนองคาย 1 อำเภอ (อ.สังคม)
  • อุดรธานี 2 อำเภอ (อ.นายูง น้ำโสม)
  • สกลนคร 3 อำเภอ (อ.ภูพาน สว่างแดนดิน นิคมน้ำอูน)
  • นครพนม 1 อำเภอ (อ.ธาตุพนม)
  • มุกดาหาร 2 อำเภอ (อ.หว้านใหญ่ หนองสูง)

ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่

  • กาญจนบุรี 8 อำเภอ (เมืองกาญจนบุรี ไทรโยค ศรีสวัสดิ์ หนองปรือ ทองผาภูมิ บ่อพลอย เลาขวัญ สังขละบุรี)
  • ราชบุรี 3 อำเภอ (สวนผึ้ง ปากท่อ บ้านคา)
  • นครนายก 2 อำเภอ (เมืองนครนายก ปากพลี)
  • ปราจีนบุรี 2 อำเภอ (กบินทร์บุรี นาดี)
  • สระแก้ว 1 อำเภอ (เมืองสระแก้ว)
  • ระยอง 4 อำเภอ (เมืองระยอง เขาชะเมา แกลง บ้านค่าย)
  • จันทบุรี 7 อำเภอ (เมืองจันทบุรี นายายอาม เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ขลุง)
  • ตราด 2 อำเภอ (บ่อไร่ เขาสมิง)
  • เพชรบุรี 4 อำเภอ (หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน ชะอำ ท่ายาง)
  • ประจวบคีรีขันธ์ (ทุกอำเภอ)

ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่

  • ระนอง (ทุกอำเภอ)
  • พังงา 5 อำเภอ (อ.ตะกั่วทุ่ง คุระบุรี กะปง ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง)
  • ภูเก็ต 1 อำเภอ (อ.ถลาง)

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักและสาขาเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน 6 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ตาก จันทบุรี และตราด

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรงในภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่

  • ระนอง 3 อำเภอ (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์)
  • พังงา 7 อำเภอ (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี)
  • ภูเก็ต 3 อำเภอ (อ.เมืองฯ กะทู้ ถลาง)
  • กระบี่ 5 อำเภอ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)
  • ตรัง 4 อำเภอ (อ.กันตัง สิเกา ปะเหลียน หาดสำราญ)
  • สตูล 4 อำเภอ (อ.เมืองฯ ละงู มะนัง ทุ่งหว้า)

กอปภ.ก. จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือปริมาณฝนตกสะสม ที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังเป็นประจำ และพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 90 มม. โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุ และช่วยเหลือประชาชนทันที ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นและ ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะห้ามลงเล่นน้ำและประกอบกิจกรรมทางทะเลในช่วงที่คลื่นลมแรง เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือเป็นพิเศษ เดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและคลื่นลมแรง 

ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

เตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 9-14 ก.ค.นี้