นักวิชาการ ติงโมเดล ควบ "ทรู - ดีแทค" ยกประกาศปี 63 คุมเพดานคิดค่าบริการ

นักวิชาการ ติงโมเดล ควบ "ทรู - ดีแทค" ยกประกาศปี 63 คุมเพดานคิดค่าบริการ

นักวิชาการ ติงโมเดล ’กสทช.’ ควบ ’ทรู - ดีแทค’ ยันมีประกาศปี ‘63 คุมเพดานคิดค่าบริการ แนะเปิดให้แสดงความคิดเห็นรอบด้าน

ศ.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ อดีตประธาน คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ    นักวิชาการด้านโทรคมนาคม  กล่าวถึงกรณีที่ได้มีการโมเดลเศรษฐศาสตร์ ของนักวิชาการต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด หรือ Focus Group กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ว่า มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อโมเดลดังกล่าวจากนักวิชาการอย่างมาก ว่ามีหลายประเด็นที่ยังนำปัจจัยมาวิเคราะห์ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะประเด็นการไม่พิจารณาบทบาท กสทช. ในการควบคุมราคา จนมีการตั้งสมมติฐานว่าเป็นการฮั้วกันเพราะไม่มีกสทช.กำกับดูแล

"แม้การวัดด้วยวิธีการเศรษฐศาสตร์เป็นวิธีการที่ทั่วโลกยอมรับ แต่อัตราHHI (อัตราส่วนการกระจุกตัว  ) สูงแค่ไหน จุดสำคัญอยู่ที่มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรามี กสทช. ที่ต้องทำหน้าที่กำกับดูแล และควบคุมราคา ทำไมไม่นำมาเป็นปัจจัยในการคำนวณโมเดลด้วย  จึงอาจทำให้ผลการศึกษานี้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมาก และยังเป็นการชี้นำสังคมให้เข้าใจผิด ว่าหากปล่อยให้ควบรวมกันแล้วคนไทยจะต้องเสียค่าบริหารที่แพง ซึ่งปัญหานี้เรามีประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนด และกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ( 2 ธ.ค.2563 ) มีการกำหนดอำนาจในการกำกับดูแล และควบคุมราคา ซึ่งมีเพดานราคาไว้ชัดเจน หากเกินกว่าราคาที่กำหนดคือ ผิดกฎหมาย 

ดังนั้นผลการศึกษาที่นำเสนอนี้ถือว่าคลาดเคลื่อนชนิดที่เรียกว่า 'โมเดลตกขอบ’ และ กสทช. ชุดใหม่ต้องรีบรีวิวกฎ ระเบียบ ที่ต้องใช้อ้างอิงในการปฏิบัติหน้าที่ มิเช่นนั้น จะทำให้หน่วยงานกำกับ ขาดความน่าเชื่อถือได้" 
                                                                                                                                                                                                                                                                                   

ทั้งนี้ประกาศของ กสทช.ฉบับดังกล่าว ได้มีการกำหนด และกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก ได้ ระบุเพดานการกำกับ ควบคุมราคาไว้ชัดเจน โดย แบ่งอัตราขั้นสูงของค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิ การใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก ใช้บังคับกับบริการ ดังนี้ (1) บริการเสียง  (2) บริการข้อความสั้น  (3) บริการข้อความมัลติมีเดีย (4) บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ โดยในข้อ 6 ได้กำหนดหน้าที่ กสทช.  ว่า ให้ตรวจสอบอัตราค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งาน ของรายการส่งเสริมการขายหลักที่ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอยู่ในตลาดเป็นประจำทุกเดือน โดยใช้วิธีการ เปรียบเทียบ โดยอัตราค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก ในแต่ละประเภทบริการต้องเป็นไปตามอัตราขั้นสูงของค่าบริการที่กำหนดไว้ในภาคผนวกท้ายประกาศ  
 
 อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวว่า ภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ที่เข้ารับฟัง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในแง่มุมที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นต่างจากผลการศึกษาของ กสทช. โดยมองว่า การนำเสนอของ กสทช. ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังขาดข้อมูลอีกหลายมิติ ที่แสดงให้เห็นว่า การควบรวมกิจการไม่ได้เป็นผลเสียเพียงด้านเดียว รวมถึงราคาไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะ กสทช. มีหน้าที่ควบคุมดูแลอยู่แล้ว แต่การควบรวมจะทำให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจ และเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ 
 
นอกจากนี้การทำโฟกัสกรุ๊ปที่ถูกต้อง ต้องเป็นการเปิดให้แสดงความคิดเห็น ไม่ควรมีการนำโมเดลผลการศึกษามานำเสนอก่อน และใช้เวลามากถึงชั่วโมงครึ่ง ถือเป็นการชี้นำ โดยการศึกษาของ กสทช. ที่มีช่องโหว่มากมาย ทำให้นักวิชาการต่างออกความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า โมเดลที่นำมาเสนอมีหลายปัจจัยที่ กสทช. เลือกที่จะไม่นำมารวม และทำให้ชี้นำสังคมในทางสับสนได้ ซึ่งการทำโฟกัส กรุ๊ป ควรรับฟังความเห็นจากนักวิชาการที่มาร่วมประชุม และบันทึกไปเพื่อความเป็นกลาง ตรงกับหลักการทางวิชาการ เพื่อนำผลการโฟกัสกรุ๊ปไปใช้วิเคราะห์ได้ต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์