ก้าว ละ ความโกรธ

ก้าว ละ ความโกรธ

ธรรมยาตรา เดินเพื่อการอนุรักษ์ และลดละความโกรธ

ถ้าพูดถึง นิคม พุทธา นักอนุรักษ์ที่เข้มข้นคนนี้ เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อยู่หลายปี จากนั้นผันตัวมาเป็นเอ็นจีโอ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย กว่ายี่สิบปี จากนั้นตกงาน กลับมาบ้านเกิด อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และในห้วงเวลานั้นเขารู้สึกทุกข์ กระทั่งใช้ก้าวเดิน เพื่อสำรวจใจตัวเอง ในธรรมยาตราตั้งแต่เดินสันติสู่ปัตตานี, เดินเพื่อแม่น้ำปิง และธรรมยาตรารอบผืนป่ามรดกโลก

และ

กว่าจะเดิน จนลดละความโกรธ เกลียดกับเรื่องราวความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมได้ เขาต้องตระหนักรู้สภาวะที่เกิดขึ้นในใจ

จากก้าวแรก จนถึงหลายหมื่นแสนก้าว เขาเดินจนเกิดแรงสั่นสะเทือนภายใน จนทำให้เขารู้ว่า จะละวางจากความโกรธ เกลียดได้อย่างไร

และ ณ วันนี้ เขาได้รู้อีกว่า การทำงานอนุรักษ์ ไม่ใช่แค่การต่อสู้ในเชิงนโยบาย แต่ยังมีวิธีการอื่นๆ ผ่านการเรียนรู้ทั้งธรรมชาติและธรรมะ และนั่นเป็นเหตุให้นักอนุรักษ์คนนี้หันมาทำงานที่บ้านเกิด อ.เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างมีความสุข และเป็นความสุขที่เชื่อมโยงทุกสิ่งไว้ด้วยกัน ทั้งความรักที่มีต่อธรรมชาติ ความอ่อนโยนที่มีต่อผู้คน และการให้อภัย...

และนี่คือ ก้าวย่างที่มีความหมายของนักอนุรักษ์คนนี้

หลายสิบปีที่ผ่านมา คุณออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในฐานะนักอนุรักษ์ แต่ในที่สุด (5 ปีที่ผ่านมา) คุณหันมาใช้กระบวนการภาวนาขัดเกลาจิตใจตนเอง?

เมื่อก่อนทำงานอนุรักษ์เคลื่อนไหว ปกป้องรักษาป่าและสัตว์ป่า ที่เกิดจากนโยบายรัฐ การสร้างเขื่อนถนน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การสร้างกระเช้าภูหลวงเชียงดาว ตอนนั้นทำได้ เพราะทำงานภายใต้มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กระทั่งปี 2551-52 ทางประธานมูลนิธิฯคนเก่าใช้อำนาจบริหารให้พวกเรา 36 คนออกไปจากมูลนิธิฯ อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตผม เพราะตลอดระยะเวลาทำงานผมไม่คิดว่าสักวันหนึ่งผมจะถูกลอยแพ ทำให้ผมหวั่นวิตกเรื่องการเงิน เพราะลูกยังเล็ก และใจยังอยากทำงานอนุรักษ์ พยายามตั้งองค์กรกับเพื่อนๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อไม่มีที่ไป ผมก็กลับมาบ้านที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็ดื่มเหล้า มีความทุกข์ วันหนึ่งหลวงพี่ไพศาล ก็โทรมาถามว่า เป็นทุกข์และเครียดนักใช่ไหม ท่านส่งซีดีธรรมะมาให้ฟัง ก็เริ่มฟังและคิด ตอนนั้นก็เข้าป่า เพราะผมเวลาดีใจหรือกลุ้มใจ ก็เดินเข้าไปในป่ากางเต้นท์นอน ดูเดือนดูดาวไป เพราะผมไม่สามารถนั่งนิ่งๆ เฉยๆ ได้ อย่างน้อยๆ ต้องเดินป่าสักครึ่งวัน เพราะร่างกายได้เคลื่อนไหว ปลดปล่อย

ช่วงเวลาที่เดินป่า สามารถปลดปล่อยคุณจากความคิดที่ฟุ่งซ่านได้แค่ไหน ?

หลวงพี่ไพศาลบอกว่า ถ้าเรามีสติระลึกได้ เราก็จะมีปัญญา ซึ่งเราก็คุ้นเคยกับคำว่า สติ แต่เราไม่เคยทำความเข้าใจจริงๆ ก็ใช้การเดินป่า มีบางช่วงทดลองไม่กินอาหาร แต่พกอาหารไปด้วย จากนั้นเฝ้ามองสภาวะร่างกายและจิตใจ ปรากฏว่า ถ้าเราไม่ดื่มเหล้า ไม่กินอาหาร ดื่มแต่น้ำ ร่างกายก็สงบนิ่ง

เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ?

ตอนนั้นว่างงาน อยู่บ้าน ก็เอาหนังสือเดินสู่อิสรภาพของอ.ประมวล เพ็งจันทร์ มาอ่าน ก็ได้คิด เพราะอาจารย์ละทิ้งตำแหน่งหน้าที่การงาน ออกเดินจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ระหว่างเดินเขาจะไม่ร้องขอให้คนช่วย ไม่พกเงิน ไม่ไปหาคนรู้จัก เมื่ออ่านหนังสือจบ ก็อยากออกเดินบ้าง สิ่งที่อยู่ในความทรงจำคือการเดินทางกับสายน้ำ เพราะอ.เชียงดาวเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำปิง ที่ผมทำงานมาหลายปี ก็มุ่งอนุรักษ์แม่ปิง และผมอ่านหนังสือของสาทิศ กุมารเรื่องนักเดินทางแปดพันไมล์ และช่วงนั้นมีการเดินสันติสู่ปัตตานี ผมจึงไปกับคณะ ตอนนั้นผมถามอาจารย์ประมวลว่า วิปัสสนาคืออะไร เขาบอกว่า การพิจารณาถึงสภาวะความเป็นจริง คือ เราต้องมองให้ทะลุทะลวงผ่านม่านหรือกำแพงความหลอกลวงให้เห็นความจริง เพราะอารมณ์ความรู้สึก อยากมี อยากเป็น ก็เป็นความลวง

เมื่อเริ่มออกเดิน มันทำให้ความทุกข์ในใจน้อยลงไหม

อาจารย์ประมวล บอกว่าการเดินทางจะทำให้เราชำระกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ผมสงสัยว่า มันจะชำระได้อย่างไร เขาก็ให้เฝ้าดูอารมณ์ความรู้สึก ให้รู้แจ้งในอารมณ์ รู้ถึงสภาวะของอารมณ์เราตอนที่เดิน ช่วงแรกๆ ทั้งร้อนและอึดอัด หิว กินเยอะ แล้วก็ไม่สบาย แต่พอเดินไปได้หลายสิบวัน เริ่มนิ่ง รู้ว่าการเดินภาวนาเป็นอย่างไร คือ เราเดินเพื่อให้เกิดความสงบภายในจิตใจ

ต้องผ่านช่วงทุกข์ทรมานจากความเหนื่อยล้า จึงจะค้นพบบางอย่าง ?

พอเดินไปถึงอาทิตย์ที่สาม อารมณ์ความรู้สึกเริ่มนิ่ง ร่างกายเริ่มแข็งแกร่ง และเราได้รู้แล้วว่า การเดินเป็นการบำเพ็ญเพียร มีช่วงหนึ่งเดินที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฝนตก อากาศร้อน พวกเราคุยกันเล่นๆ ว่า สามวันเดินร้อยกิโลเมตร ปรากฏว่า ยิ่งเดินยิ่งมัน หลวงพี่ไพศาล บอกว่า กายร้อน แต่ใจต้องไม่ร้อน

เมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่ง กายกับจิตเริ่มประสานกันมากขึ้น ?

เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราต้องเปิดใจรับรู้ทุกข์สุขของสรรพสิ่ง ผมได้เห็นมิติของคนในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าคนมุสลิมที่ทุกข์ยาก ชาวประมง ซึ่งลำบากกว่าเรา เดินมาหลายสัปดาห์ ร่างกายเริ่มแข็งแรง จิตใจก็เข้มแข็ง จากนั้นผมก็เดินจากแม่ปิง อ.เชียงดาว ไปสู่เมืองเชียงใหม่ ผ่านกรุงเทพฯ ไปเดินริมทะเลอีกฝาก ผมใช้เวลาเดินสามเดือน ตอนนั้นปี 2553 ผมเดินเพื่อฝึกฝนตนเอง ตั้งใจเดินคนเดียว แต่พอถึงเวลา มีเพื่อนๆมาเดินด้วยเยอะ ซึ่งการเดินครั้งนั้น ทำให้ผมชำระสะสางความโกรธ ความเกลียด เพราะผมเป็นคนโกรธใครแล้วโกรธนาน อารมณ์รุนแรง ผมก็ค่อยๆ บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตา เพราะทุกๆ วันเราจะตั้งจิตว่า เราจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตอนนั้นหลวงพี่ไพศาลบอกว่า ขอให้นำการเดินไปใช้กับชีวิตปกติด้วย อย่าปฎิบัติแค่ช่วงธรรมยาตรา

นอกจากนี้ผมยังผูกพันกับเขาใหญ่ ก็เลยไปเดินธรรมยาตรารอบผืนป่ามรดกโลก ใช้เวลาสองเดือน สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือ เราใช้ผืนป่าเป็นแหล่งเรียนรู้น้อยมาก ผมเคยถามเด็กคนหนึ่งว่า หนูเคยเข้าป่าไหม เด็กบอกว่า พ่อไม่ให้เข้าเพราะเป็นเขตอนุรักษ์ ทั้งๆ ที่ชุมชนตั้งอยู่ใกล้ผืนป่า ถ้าใช้ผืนป่าเป็นแหล่งเรียนพืช ผัก พรรณไม้ จะได้มีประโยชน์กับเด็กๆ

ตอนทำงานอนุรักษ์ คุณก็เห็นอกเห็นใจคนยากจนอยู่แล้ว การเดินธรรมยาตรา ทำให้คุณเข้าใจอะไรมากขึ้นกว่าเดิม

ตอนทำงานอนุรักษ์ แม้เราจะทำงานต่อสู้เพื่อคนอื่น มีความปรารถนาดี แต่เรามุ่งเอาชนะ จิตใจหยาบ ไม่อ่อนโยน กระทั่งเราเดินให้เกิดสันติกับคนมุสลิม พวกเขาก็เอาข้าว น้ำ มาให้พวกเรา อาหารที่คนอื่นเอามาให้ มันต่างจากที่เราซื้อกิน เราได้เห็นถึงความเมตตากรุณา ความอ่อนโยนของเขา ทำให้เราสำนึกว่าเราอยู่ด้วยความเกื้อกูลของผู้อื่น ความยิ่งยโสหรือตัวตน ก็เล็กลง

เมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่ง คุณยิ่งมองเห็นการเชื่อมโยงชีวิตกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ?

การเดินทางทำให้พินิจพิจารณา อย่างเรื่องความโกรธ ได้พิจารณาว่า ทำไมเราถึงโกรธ ก็หาเหตุปัจจัย ซึ่งการเดินแต่ละก้าว ค่อยๆ ทำให้เราลดความโกรธ และตอนกลางคืนเราก็ภาวนาสะสางสิ่งที่อยู่ในใจ ทำไปเรื่อยๆ แรกๆ ก็ไม่สงบ ฝึกบ่อยๆ ก็ทำให้เราได้รับรู้สภาวะความเป็นจริงของชีวิตและแม่น้ำ และโอกาสนี้ การเดินทำให้เราสื่อสารกับผู้คน เขาก็เชิญเราไปคุยกับชาวบ้านและเยาวชน ผมทั้งฝึกตัวเอง รับรู้ข้อมูล และสื่อสารกับผู้คน และจุดนั้นทำให้เราได้คิดว่า เราสามารถทำงานโดยไม่มีองค์กรก็ได้ ไม่ต้องมีเงิน หรือเขียนโครงการขอเงินเหมือนเมื่อก่อน เรื่องเหล่านี้ผมค้นพบระหว่างทาง ซึ่งเมื่อก่อนผมไม่ได้คิดแบบนี้ ต้องมีเงิน มีโครงการรองรับ

หันมาทำงานอนุรักษ์ในมิติที่ต่างจากเดิม ?

วิธีการเปลี่ยน ผมตั้งกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง รวบรวมน้องๆที่ทำงานด้วยกันมาทำงาน ซึ่งกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ ผมทำหน้าที่เป็นแกนหลัก และสร้างกลุ่มเยาวชน มีค่ายเยาวชนที่เชียงดาว โดยใช้บ้านผม ซึ่งมีสวนมะม่วงสิบกว่าไร่ ติดกับดอยหลวงเชียงดาว ที่นั่นมีสายน้ำไหลผ่าน และผมค้นพบว่าการที่จะทำให้คนอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ ไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐอย่างเดียว การจะทำให้คนอนุรักษ์ได้ ต้องเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วม ได้เห็นว่าดอยหลวงเชียงดาวปกคลุมด้วยป่า มีสายน้ำและพืชพรรณ ทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ได้ เราอยากให้คนที่มาค่าย รู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย เราจึงมีหัวข้อ ธรรมะกับธรรมชาติ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลวงพี่นิรามิสาก็มาจัดภาวนากับคนหนุ่มสาว

เมื่อไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง ทั้งเรื่องการอบรมและการทำค่ายเยาวชน คุณจัดการอย่างไร

มีคนเข้ามาใช้สถานที่ ก็ช่วยบริจาคบ้าง และโชคดีที่ภรรยาผมเป็นข้าราชการมีความมั่นคงระดับหนึ่ง และมีคนๆ หนึ่งที่เห็นผมทำงานจริงจัง ตั้งแต่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่กรมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อรู้ว่าผมมาอยู่อ.เชียงดาวตั้งแต่ปี 2541 เขาให้เงินผมใช้เดือนละหมื่นบาทจนถึงทุกวันนี้ ยี่สิบกว่าปีแล้ว คนๆ นี้ก็เป็นนักธุรกิจ ตอนนี้อายุมากแล้ว แต่ยังให้ลูกหลานสืบทอดเจตนารมย์ อีกอย่างมูลนิธิของครูเตือนใจ ดีเทศน์ เขาเห็นว่า ผมมีความรู้อยู่บ้าง เขาก็เชิญให้ผมไปเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชาวเขากลุ่มชาติพันธุ์ ก็มีเงินเดือนในส่วนนี้

ในทัศนะของคุณ เยาวชนควรเรียนรู้ชีวิตและธรรมชาติอย่างไร

ผมอยากให้ผืนป่าเมืองไทย เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชน เป็นเรื่องที่ผมใฝ่ฝันมาก สวนสัตว์ที่มีอยู่ ควรเปิดให้เด็กๆ เข้าชมฟรี อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์ป่า ไม่ควรเก็บเงินเด็กๆ อีกอย่างคือ ควรจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ ไม่อย่างนั้นเด็กๆ ก็รู้แค่ อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งที่ผู้ใหญ่ไว้พบปะดื่มเหล้ากัน ถ้าเขาผ่านการเรียนรู้ที่ดี เราก็จะไว้วางใจได้ว่าธรรมชาติจะไม่ถูกคุกคามตลอดเวลา ผมเคยไปเห็นป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน ถูกบุกรุกทำลายปลูกข้าวโพด แล้วข้าวโพดก็มาเป็นอาหารสัตว์ เป็ด ไก่ หมู จากนั้นมาเป็นอาหารคน ซึ่งผมก็เริ่มต้นจากตัวเอง โดยเลิกกินเนื้อสัตว์มานานกว่าห้าปี อยากเชิญชวนให้พวกเราทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาป่าต้นน้ำ เป็นโจทย์ร่วมกันของทุกคน ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่อุทยาน