เอกซเรย์โผโยกย้ายทหารกลางปี

เอกซเรย์โผโยกย้ายทหารกลางปี

วิเคราะโยกย้ายทหารกลางปี เคลียร์สัญญาใจ-วางขุมข่ายคุมกำลัง

บัญชีปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล วาระกลางปี (เม.ย.57) มีตำแหน่งที่เรียกเสียงฮือฮาจริงๆ เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

หนึ่ง คือ ตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (ผบ.นสร.) หรือ “ผบ.ซีล” ที่คาดกันว่า พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ จะถูกย้ายออกจากตำแหน่ง

สอง คือ ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ที่มีข่าวว่า พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพน้อยที่ 1 ได้รับการเสนอชื่อให้ไปเป็นแม่ทัพดับไฟใต้

สำหรับตำแหน่ง ผบ.ซีล ของ พล.ร.ต.วินัย นั้น แม้จะมีการเคลื่อนไหวยื่นหนังสือให้ผู้บัญชาการทหารเรือ ทบทวนคำสั่งก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีผลใดๆ และเมื่อเงี่ยหูฟังสุ้มเสียงจากภาคส่วนอื่นๆ โดยมากก็พอยอมรับได้ เพราะ

1.ตามโผ พล.ร.ต.วินัย ได้ขยับขึ้นเป็นพลเรือโท แม้จะเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ แต่ก็ยังถือว่าได้เลื่อนยศ และมีโอกาสได้กลับสู่หน่วยคุมกำลังได้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นประเพณีของกองทัพเรืออยู่แล้วที่จะไม่หักกันชนิด “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ”

2.พล.ร.ต.วินัย อยู่ในตำแหน่ง ผบ.นสร.มานานถึง 3 ปี 6 เดือน ถือว่านานพอสมควรที่ผู้บังคับบัญชามีความชอบธรรมที่จะย้ายออกได้ แม้จะถูกตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมของการโยกย้ายตำแหน่งสำคัญช่วงกลางปี

3.ช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง บทบาทของ พล.ร.ต.วินัย ถือว่าล้ำเส้นจริงในแง่ของการให้สัมภาษณ์สื่อในลักษณะที่ไม่เป็นกลางทางการเมือง และยังมีกำลังพลของ นสร.ถูกจับกุมพร้อมอาวุธบ่อยครั้ง

4.แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าฝ่ายการเมืองมีส่วนในการโยกย้าย ผบ.ซีล แต่การปรับเปลี่ยนของ ผบ.ทร.ด้วยการให้ครองยศสูงขึ้น และไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ก็น่าจะทำให้เรื่องนี้ค่อยๆ เลือนหายไปจากความสนใจของสังคม

ส่วนตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 นั้น เนื่องจาก พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพคนปัจจุบัน จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ ตามธรรมเนียมต้องขยับขึ้นเป็นพลเอก ทำให้ต้องคัดเลือกแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ซึ่งมีรายงานว่า พล.ท.สกล ได้เสนอชื่อ พล.ต.ปราการ ชลยุทธ (ตท.15) รองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นทหารเหล่าม้าจากกองทัพภาคที่ 3 ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เสนอชื่อ พล.ท.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) แม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เนื่องจากมีสัญญาใจกันไว้ว่าจะหาตำแหน่งแม่ทัพให้

สัญญาใจที่ว่านี้ เกิดจาก พล.ท.วลิต ซึ่งเป็น “น้องรัก” สายบูรพาพยัคฆ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพลาดหวังจากเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 มาถึง 2 ครั้งซ้อน ทั้งเมื่อครั้งที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ตท.15) ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อ ต.ค.2555 (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ.) และครั้งที่ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) โยกจากตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก ไปนั่งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปีที่แล้ว และดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน

เป็นการพลาดหวังทั้งๆ ที่ พล.ท.วลิต เมื่อครั้งครองยศพลตรี และเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 บริเวณสี่แยกคอกวัว-โรงเรียนสตรีวิทยา กระทั่งถูกระเบิดจนขาหัก ขณะที่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสนาธิการ พล.ร.2 รอ.(ภายหลังได้รับการปูนบำเหน็จเป็นพลเอก) เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกัน

ชื่อของ พล.ท.วลิต จึงติดอยู่ในกลุ่มนายทหารที่ถูกคนเสื้อแดงขัดขวางกดดันไม่ให้นั่งตำแหน่งสำคัญ อย่างไรก็ดี การเสนอชื่อ พล.ท.วลิต ไปดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีภารกิจสำคัญต้องรับผิดชอบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวิจารณ์พอสมควรว่าให้ความสำคัญกับ “สัญญาใจ” มากกว่างานดับไฟใต้

กระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลช่วงกลางปี ย่อมมีผลต่อการวางขุมกำลังในการปรับย้ายใหญ่ช่วงปลายปีด้วย โดยเฉพาะปีนี้ทั้ง ผบ.ทบ. และ ผู้บัญชาทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เกษียณอายุราชการพร้อมกัน

สำหรับเก้าอี้ ผบ.ทบ.นั้น ถึงนาทีนี้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) รอง ผบ.ทบ. ยังคงเป็นเบอร์ 1 แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามเบียดแทรกจากบางคนใน 5 เสือ ทบ.ที่เข้าได้ทุกสายทั้งการเมืองและกองทัพ แต่คดียิงแกนนำคนเสื้อแดงที่อีสาน ก็ทำให้โอกาสของนายทหารคนดังกล่าวที่มีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งน้อยลงไปอีก

ประกอบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ.และอดีตรัฐมนตรีกลาโหม “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ยังคงมีบารมีอยู่มาก ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้นายทหารสายอื่นคว้าเก้าอี้ ผบ.ทบ.ไปครอง ฉะนั้น พล.อ.อุดมเดช จึงยังเต็งจ๋า

ส่วนนายทหารระดับแม่ทัพที่จะเข้าไลน์ 5 เสือในช่วงปรับย้ายใหญ่ปลายปีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ทิ้งโอกาสดัน พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) แม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ เข้าไลน์ไว้ก่อน เพื่อลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนต่อจาก พล.อ.อุดมเดช ที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2558

ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 3 คนใหม่ ก็อาจส่งไม้ต่อให้ พล.ต.ปราการ ชลยุทธ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนร่วมรุ่น ตท.15 ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในงานด้านชนกลุ่มน้อย ขึ้นไปนั่งแทน

ทางฟากกองทัพไทย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทสส.เกษียณอายุราชการ จนถึงขณะนี้มีแคนดิเดต 2 คน คือ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร (ตท.12) รอง ผบ.ทสส. กับ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล (ตท.13) เสนาธิการทหาร เชื่อว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ น่าจะเสนอชื่อ พล.อ.วรพงษ์

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โผพลิกช่วงปลายปีก็คือ ท่าทีของ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม (ตท.14) หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังครองอำนาจไว้ได้ มีข่าวว่า พล.อ.นิพัทธ์ หมายตาเก้าอี้ ผบ.ทบ. แต่นั่นก็หมายความว่าต้องหักกับเพื่อนรักอย่าง พล.อ.อุดมเดช ซึ่งจัดเป็น “สายแข็ง” ตัวจริง

สำหรับระดับคุมกำลังหลักอย่างกองทัพทั้ง 4 ภาค อยู่ในความดูแลของ ตท.14 และ ตท.15 ได้แก่ แม่ทัพภาค 1 พล.ท.ธีรชัย แม้จะรุ่น 14 แต่ก็เป็นบูรพาพยัคฆ์ แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง (ตท.14) ก็อยู่ใกล้หูใกล้ตา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แม่ทัพภาคที่ 3 หากเป็น พล.ต.ปราการ ก็จะเป็นนายทหาร ตท.15 เช่นเดียวกับ พล.ท.วลิต ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นบูรพาพยัคฆ์

ส่วนกองพลคุมกำลังหลัก พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ตท.20) ลูกชาย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธาน รสช. ได้รับการเสนอชื่อเป็นผบ.กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ขณะที่ พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา เพื่อนร่วมรุ่น ตท.20 ผงาดขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ.ไปก่อนตั้งแต่การปรับย้ายเดือนต.ค.2556