กกต.-สปช.ยันปมถอดถอนไม่กระทบ'เวทีปฏิรูป'77จว.

กกต.-สปช.ยันปมถอดถอนไม่กระทบ'เวทีปฏิรูป'77จว.

กกต.พร้อมรับไม้นโยบาย สปช.หนุนเปิดช่องทางรับฟังเสียงประชาชน ชี้ถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" ไม่กระทบจัดเวที77จังหวัด

แจงเน้นประเด็นแก้ทุจริต-เลือกนักการเมืองที่ดี-ลดเหลื่อมล้ำ ด้านวงเสวนาปฏิรูปการเมือง จี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทบทวนจุดเสี่ยงระบบเลือกตั้งใหม่ หนุนเพิ่มความเข้มแข็งภาคประชาชน

วานนี้ (24 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการจัดทำเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)โดยมีผู้บริหาร กกต. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประจำกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ 1- 5 และสมาชิก สปช.เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงเพื่อสนับสนุนการจัดทำเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามแนวดำเนินการของสปช.

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. กล่าวว่า กกต.พร้อมสนับสนุนการทำงานของสปช.ในการปฏิรูป สร้างความปรองดอง และร่างรัฐธรรมนูญในทุกรูปแบบอย่างเต็มที่ จึงอยากให้ กกต.จังหวัดช่วยเสนอแนะปัญหาและสอบถามความชัดเจนเพื่อแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง

สำหรับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ก็ได้ทำหนังสือสอบถามเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่และบทบาทในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.มายังคณะกรรมการ กกต.นั้น กกต.ได้มีการประชุมกันและมีมติเป็นข้อมูลเพื่อเป็นข้อเสนอแนะและความเห็นเสนอสปช.แล้ว

"ประชา"ยันปมถอดถอนไม่กระทบเวที

นายประชา เตรัตน์ ประธาน กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในฐานะสมาชิก สปช. กล่าวว่า การจัดเวทีจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย. ซึ่งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 77 จังหวัดจะต้องจัดเวทีจังหวัดละ 11 ครั้ง แบ่งเป็นระดับจังหวัด 1 ครั้ง และระดับอำเภอ 10 ครั้ง เพื่อนำความเห็นเสนอที่ประชุม สปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ขณะที่การจัดเวทีระดับอำเภอจะกำหนดกรอบรับฟังความเห็น 5 ประเด็น แต่จะมีประเด็นบังคับ 3 เรื่อง คือ 1.แนวทางการแก้ไขทุจริตและคอร์รัปชัน 2.วิธีการเลือกนักการเมืองที่ดีเข้ามาทำหน้าที่ และการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม และ 3.การแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบอุปสรรคในการดำเนินงาน เพียงแต่งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียง 255,000 บาทในการจัดรับฟังความคิดเห็น 10 เวที ยังถือว่าน้อยมาก

ส่วนกรณีการถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการจัดเวทีของ สปช. เพราะเวทีเป็นเรื่องของการปฏิรูปประเทศอีก 20 ปีข้างหน้า อีกทั้งการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาร่วมเวทีนั้น เน้นจากความหลากหลาย ไม่ได้เน้นเฉพาะการเมืองอย่างเดียว

ดังนั้นในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกจะเป็นเรื่องของเวทีการสร้างความปรองดองที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้จัด จะมีการชี้ให้เห็นถึงความเที่ยงตรง หลักนิติรัฐและนิติธรรม เพราะเชื่อว่าคนทำผิดจะไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด จึงต้องมีการชี้แจงให้ประชาชนได้เห็นถึงข้อมูลพยานหลักฐานรวมถึงข้อกฎหมาย ตรงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเวทีปฏิรูป และจะไม่นำมาอยู่ในเวทีนี้