'มาม่า'ยอดขายดิ่ง42ปี รากหญ้ากำลังซื้อทรุด

'มาม่า'ยอดขายดิ่ง42ปี รากหญ้ากำลังซื้อทรุด

ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เผย ยอดขายมาม่า ปีนี้โต 0.2% ต่ำสุดในรอบ 42 ปี เหตุได้รับผลกระทบกำลังซื้อรากหญ้าทรุด

จากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เศรษฐกิจชะลอตัว กางแผนธุรกิจรับปัจจัยเสี่ยงปีหน้า เน้นคุมค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพผลิต เดินหน้ายุทธศาสตร์ 10 ปี ลงทุนต่างแดน รุกส่งออก ตั้งเป้าโกยยอดขายโต 2 เท่า แตะ 2 หมื่นล้าน

ยอดขายบะหมี่สำเร็จรูป เป็นหนึ่งใน "ดัชนี" ชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ ผู้บริหารบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ซึ่งเป็นผู้นำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ออกมายอมรับว่า ยอดขายปรับตัวลดลงแรง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า" กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจปีนี้ว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบยอดขายของมาม่าปีนี้ได้รับผลกระทบ โดยมีอัตราเติบโตเพียง 0.2% ต่ำที่สุดในรอบ 42 ปี

"ปีนี้ยอมรับว่าเศรษฐกิจไม่ดี ราคาพืชผลการเกษตรไม่ดี ยอดขายมาม่าที่โตลดลง ก็เป็นเพราะตลาดรากหญ้า สังเกตว่าขนาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองยังไม่โตเลย ถือเป็นปรากฏการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" นายพิพัฒ เผย

ประกอบกับ การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยเฉพาะรูปแบบซองในไทย ยังเริ่มอิ่มตัวอยู่ที่ระดับ 45 ซองต่อคนต่อปี สอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ที่บริโภค 43.4 ซองต่อคนต่อปี โดยพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปบริโภคแบบถ้วย(คัพ) มากขึ้น

10 เดือนบะหมี่ฯโตต่ำ 1.2%

ด้านนายสุชัย รัตนเจียเจริญ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มีอัตราเติบโต 1.2% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เติบโตสูงถึง 8.3% เนื่องจากเผชิญปัจจัยลบทางการเมืองมาตั้งแต่ต้นปี และกลางปีเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดี

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งปีจะเติบโต 1.4% มีมูลค่าตลาดรวม 15,400 ล้านบาท แบ่งเป็น สัดส่วนแบบซอง 70% ปีนี้จะเติบโตติดลบ 0.5% ใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนแบบถ้วย (คัพ) สัดส่วน 30% จะเติบโต 7.95% จากปีก่อนเติบโตกว่า 20.3% โดยมาม่า ยังคงเป็นผู้นำครองส่วนแบ่งตลาด 50.25% และสิ้นปีคาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาด 50.87%

ศก.ทรุด "มาม่า" กำไรลด

ในส่วนยอดขายของมาม่าในปีนี้ คาดว่าจะปิดยอดขายรวมที่ 10,186 ล้านบาท เติบโต 0.2% ต่ำสุดในรอบ 42 ปี แต่มีอัตรากำไร 1,417 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนมีกำไร 1,468 ล้านบาท โดยสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีสัดส่วนรายได้หลัก 89% เติบโต 2% ลูกอมและขนมหวาน (คอนเฟคชั่นเนอรี) ติดลบ 13% แม้ยอดขายในประเทศจะไม่เติบโต แต่ยอดส่งออกมีสัดส่วน 19% เติบโตถึง 7%

"กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ดูแล้วบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งเป็นสินค้าราคาถูกน่าจะดี แต่ปีนี้แปลกที่ไม่โตเลย ปีนี้เป็นปีแรกที่เป็นแบบนี้"

ทุ่ม 400 ล.เพิ่มประสิทธิภาพผลิต

นายสุชัย กล่าวอีกว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทปรับตัวด้วยการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆให้รัดกุมมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของโรงงานเน้นควบคุมประสิทธิภาพการทำงาน จัดสรรจำนวนบุคลากรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ลดการสูญเสียจากกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิต (ยีลด์) หาวัตถุดิบป้อนบริษัท โดยเน้นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพดี ราคาเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างวางแผนจัดสรรงบประมาณหลักสิบล้านบาท ผลิตบรรจุภัณฑ์ถ้วยพลาสติกสำหรับบะหมี่ฯแบบคัพในเดือนก.พ. 2558 เพื่อยืดอายุสินค้า(เชลฟ์ไลฟ์) ในตลาดส่งออกให้ยาวมากขึ้น จากเดิมบรรจุภัณฑ์กระดาษเชลฟ์ไลฟ์จะสั้น รวมถึงจะใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องใหม่ 4 เครื่อง ให้โรงงาน 2 แห่งในจ.ลำพูนและระยอง แนวทางดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าได้มากขึ้น ก่อนหน้านี้บริษัทเข้าไปร่วมทุนผลิตแป้งสาลี ภายใต้บริษัท เคอรี่ ฟลาวมิลล์ จำกัด ช่วยให้มีอัตรากำไรของธุรกิจขยายตัวดี

ประเมิน "ปีหน้า" ตลาดฟื้น

นายพิพัฒ ยังกล่าวว่า หลังจากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เชื่อว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ประกอบกับ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา น่าจะพยุงภาพรวมเศรษฐกิจโลกได้ เป็นอานิสงส์หนุนให้เศรษฐกิจปีหน้าน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ แม้จะไม่เห็นเป็นวีเชฟ (V shape) แต่จะไม่เป็นแอลเชฟ (L shape) แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ที่ต้องจับตาคือ ราคาพลังงานที่ลดลงต่ำมาก แต่ก็น่ากังวลว่าหากราคาพลังงานพุ่งทะยานกลับไปทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอีกครั้ง อาจทำให้ภาคธุรกิจตั้งรับไม่ทัน

บุกตปท.ดันเป้า 2 หมื่นล้าน

นายพิพัฒ กล่าวว่า จากการเติบโตในประเทศที่ชะลอตัว ทำให้มาม่ามองหาโอกาสเติบโตของยอดขาย โดยวางกลยุทธ์ 1. ปรับการบุกตลาดบะหมี่ฯแบบซอง 6 บาท เป็นแบบคัพ 12-13 บาทมากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายในเชิงมูลค่า แม้ว่าเชิงปริมาณจะไม่เติบโต 2.พึ่งพาการส่งออกมากขึ้น จากการส่งออกไปยัง 60 ประเทศ โดยประเทศใดที่มีศักยภาพ และความต้องการตลาดสูง (ดีมานด์) ก็วางแผนจะเข้าไปตั้งโรงงานผลิตบะหมี่ฯ ที่นั่น

ทั้งนี้ เป้าหมายระยะยาวใน 10 ปี บริษัทต้องการเพิ่มยอดขาย "เท่าตัว" จาก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 2 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนนี้แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 1 หมื่นล้านบาท และต่างประเทศ 1 หมื่นล้านบาท หรือราว 50 เท่ากัน จากปัจจุบันยอดขายในประเทศ 81% และส่งออก 19%

นายสุชัย กล่าวว่า การลงทุนในต่างประเทศเบื้องต้นจะใช้งบลงทุน 200-300 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตบะหมี่ฯในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เป็นแห่งที่ 2 และยังศึกษาการลงทุนในประเทศซาอุดีอาระเบีย และประเทศในตะวันออกกลางเพิ่มเติม อาจอยู่ในรูปแบบแฟรนไชส์ และการเข้าไปถือหุ้น ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตบะหมี่ฯใน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมาร์ บังกลาเทศ และประเทศฮังการี

ขณะเดียวกัน ยังเตรียมกลับเข้าไปทำตลาดบะหมี่ฯในบราซิล และเม็กซิโกอีกครั้ง ปัจจุบันตลาดการส่งออกหลักของมาม่า แบ่งเป็นเอเชีย สัดส่วน 34% ยุโรป 32% สหรัฐฯ 23% และอื่น 21% โดยตลาดส่งออกยังเติบโตดี เช่น ยุโรปเติบโตถึง 17%