ชงตั้งสมัชชาพลเมืองติดตามปฏิรูป

ชงตั้งสมัชชาพลเมืองติดตามปฏิรูป

ชงตั้งสมัชชาพลเมืองติดตามปฏิรูป กมธ.ยกร่างฯเร่งถกข้อเสนอทุกส่วน โยนประยุทธ์ตัดสินใจทำประชามติ รธน.

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาการจัดทำกรอบรัฐธรรมนูญ คณะที่ 9 ว่าด้วยการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) ถึงผลการพิจารณารายงานของคณะอนุ กมธ.คณะที่ 9 ซึ่งได้นำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในประเด็นการวางกลไกการปฏิรูประยะยาว ได้นำเสนอแนวคิดตั้งสมัชชาพลเมืองเพื่อการปฏิรูป เพื่อเป็นหน่วยงานและกลไกหลักในการสานต่องานและติดตามแผนการปฏิรูปให้ต่อเนื่องหลังจากพ้นระยะ 1 ปีในการทำงานของ สปช.

สำหรับที่มาของสมาชิกในสมัชชาพลเมืองเพื่อการปฏิรูป ได้ออกแบบไว้เบื้องต้นคือมาจากตัวแทนของสมัชชาพลเมืองระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคประชาชนระดับพื้นที่ และมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมด้วยส่วนหนึ่ง

ส่วนแนวทางการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม นายบัณฑูร กล่าวว่า อยู่ระหว่างการนำข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ อาทิ กลุ่มแรงงาน มาพิจารณาประกอบ ทั้งนี้ ที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอแนะเพิ่มเติมในส่วนสมัชชาพลเมืองเพื่อการปฏิรูปว่าต้องยึดภาคประชาชนระดับพื้นที่ และออกแบบแนวทางการทำงานที่เชื่อมโยงกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

ดังนั้นจึงได้พิจารณาเพื่อทบทวนและเตรียมนำเสนอให้ที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา และสรุปความเห็นในหลักการในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ก่อนเขียนเป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

กมธ.ยกร่างฯเร่งถกข้อเสนอทุกส่วน

วันเดียวกัน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่งมอบรายงานความเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อ กมธ.ว่า สัปดาห์หน้า กมธ.ยกร่าง รธน.จะประชุมเพื่อหารือถึงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ที่ สนช. สปช. ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ เสนอมา

ทั้งนี้ ในวันที่ 22 ธ.ค. จะหารือในประเด็นภาคพลเรือนและประชาชน วันที่ 23 ธ.ค.จะหารือประเด็นภาคการเมือง น่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นในแนวทางปฏิรูปการเมือง อาทิ วิธีการเลือกตั้งจะเป็นแบบใด จะมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรงหรือไม่

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า กมธ.ยกร่าง รธน.หลายคนเห็นตรงกันว่า การไปลองของใหม่โดยใช้วิธีเลือกนายกฯโดยตรง ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะแก้ปัญหาได้จริง อาจจะเกิดปัญหาใหม่ในอนาคตได้ เพราะนอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาซื้อเสียงแล้ว ยังมีจุดอ่อนเพิ่มขึ้น ทำให้คนแพ้ไม่มีที่ยืนทางการเมือง ไม่ได้เป็นทั้ง ส.ส.และรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

โยนประยุทธ์ตัดสินใจทำประชามติ รธน.

ส่วนเรื่องการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่าง รธน.จะไม่ทำความเห็นเสนอเรื่องนี้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นผู้ตัดสินใจเอง แต่ที่ผ่านมานายบวรศักดิ์ ก็เคยแสดงความเห็นไปแล้วว่าควรมีการทำประชามติ และเท่าที่ฟัง กมธ.ยกร่าง รธน.คุยกัน หลายคนก็เห็นด้วย เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อีกทั้งเป็นการแสดงถึงความมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน

ทั้งนี้หากจะมีการทำประชามติก็ต้องไปเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน จากนั้นค่อยเสนอเป็นกฎหมายการทำประชามติต่อ สนช.ต่อไป