ยอดเงินทดแทนประกันสังคมพุ่ง

ยอดเงินทดแทนประกันสังคมพุ่ง

งานวิจัยเผยลูกจ้างเบิกเงินชดเชยกรณีบาดเจ็บน้อย ส่งผลยอดกองทุนเงินทดแทนฯ ประกันสังคมพุ่ง แตะ 3.3 หมื่นล้าน

น.ส.สุธีนุช ตั้งสถิตย์กุลชัย นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป(HITAP) เปิดเผยว่า จากการศึกษาการใช้เงินกองทุนเงินทดแทนกรณีบาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพจากการทำงาน ของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ซึ่งตามกฎหมายให้ใช้เงิน 22% ที่ได้จากดอกเบี้ยเงินฝากของกองทุนมาใช้เพื่อการชดเชยกรณีบาดเจ็บจากการทำงานของผู้ประกันตน แต่ที่ผ่านมาพบว่าใช้ไปเพียง 15% ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดมาก ทำให้ขณะนี้เงินกองทุนทดแทนมียอดเงินสะสมสูงถึง 33,000 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 20 ปี กองทุนฯ จะมียอดสูงถึงแสนล้านบาท

นักวิจัยไฮแทป กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้มีการใช้เงินกองทุนทดแทนน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดมี 3 ปัจจัย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และตัวระบบ เนื่องจากตามระบบแล้วหากหน่วยงานใดมีการเบิกเงินกองทุนทดแทนสูง ในปีต่อไปนายจ้างจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งบางหน่วยงานนายจ้างไม่ต้องการจ่ายเบี้ยเพิ่มจึงกดดันพนักงานไม่ให้ทำเรื่องเบิกเงินจากกองทุนทดแทน เช่น เลิกจ้างโดยอ้างว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือเหตุผลอื่นๆ เป็นต้น ดังนั้น ลูกจ้างจึงไม่ยอมมาเบิกเงินในกรณีได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน หรือเบิกน้อยมาก เลือกที่จะจ่ายเงินเองมากกว่า

“การขอรับเงินจากกองทุนไม่เพิ่มแถมมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย สวนทางกับรายงานการเข้ารับการรักษาภาวะบาดเจ็บจากการทำงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกองทุนเงินทดแทนมีเงินเข้าประมาณปีละ 3 พันล้านจากนายจ้าง มีการจ่ายให้ลูกจ้างประมาณปีละ 2 พันล้าน ที่เหลือเข้ากองทุนหมด ซึ่งตอนนี้ยอดรวมสูงมาก ตรงนี้ผู้บริหารควรมีความวิตกกังวลมากกว่าจะดีใจที่เห็นกองทุนเงินทดแทนมีเงินสะสมมาก เพราะว่าเงินนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เรื่องช่วยเหลือผู้ประกันตนอย่างเต็มที่ทั้งๆ ที่เป็นเงินของผู้ประกันตนเอง เรื่องนี้ต้องมีการแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกันตนได้รับความเป็นธรรม ต้องออกข้อบังคับให้มีการตรวจโรคที่สอดคล้องกับความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ” น.ส.สุธีนุช กล่าว

น.ส.สุธีนุช กล่าวด้วยว่า ขณะที่เงินกองทุนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ประกันตนกลับได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพน้อยมาก ทั้งสิทธิในการตรวจรักษา สิทธิในการได้รับยารักษาโรค และสิทธิในการตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าให้ผู้ประกันตนสามารถตรวจสุขภาพประจำปีได้ แต่ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถตรวจอะไรได้บ้าง ทำให้พบการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนเพื่อการหาโรคพื้นฐาน หรือโรคที่มีค่าตรวจราคาถูก ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับความเสี่ยงจากงานที่ทำ เช่น ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานที่มีความเสี่ยงได้รับสารเคมีก่อโรคมะเร็งปอด จะไม่ถูกตรวจสุขภาพเพื่อหาความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด แต่ตรวจหาโรคอื่นๆ แทน และพบว่ามีการส่งรายงานผลตรวจสุขภาพให้กับนายจ้างทราบโดยไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อน ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินจากกองทุนทดแทนฯ หลังพบความเสี่ยงว่าอาจจะเกิดโรคจากการทำงานได้

น.ส.สุธีนุช กล่าวอีกด้วยว่า ปัญหาต่างๆ ที่นักวิจัยพบนี้จะมีการนำเสนอให้กับที่ประชุมคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติที่มีดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานได้รับทราบเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ผู้ประกันตนได้รับความเป็นธรรมต่อไป ซึ่งเบื้องต้นได้หารือกับดร.อัมมาร ก็เห็นด้วยว่าต้องมีการปฏิรูปกองทุนเงินทดแทนฯ และสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของผู้ประกันตน ผู้พิการในระบบประกันสังคมอย่างแท้จริง โดยคาดว่าน่าจะมีการนำเข้าไปหารือในที่ประชุมครั้งต่อไป