เฟดยันเป้าหมายเดิม ยกเลิกนโยบายผ่อนคลาย

เฟดยันเป้าหมายเดิม ยกเลิกนโยบายผ่อนคลาย

"..การผ่อนคลายนโยบายในระดับที่เหมาะสม จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราปานกลาง.."

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เอฟโอเอ็มซี) ออกแถลงการณ์หลังการประชุมในวันที่ 28-29 ต.ค. โดยยุติคิวอีตามตลาดคาดการณ์ แต่ยังไม่ระบุชัดเจนถึงกำหนดเวลาการขึ้นดอกเบี้ย เพียงแต่ใช้คำว่า"เป็นเวลานานระยะหนึ่ง" มีรายละเอียดดังนี้

ข้อมูลที่ได้รับมานับตั้งแต่เอฟโอเอ็มซีจัดการประชุมในเดือนก.ย. บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังขยายตัวในอัตราปานกลาง ขณะที่สถานการณ์ในตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อไป โดยการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานลดน้อยลง ทั้งนี้ โดยรวมแล้ว สัญญาณหลายตัวในตลาดแรงงานบ่งชี้ว่าการใช้งานทรัพยากรแรงงานในระดับที่ต่ำเกินไปกำลังบรรเทาลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้นปานกลาง และการลงทุนทางธุรกิจในสินทรัพย์คงที่เพิ่มขึ้น ส่วนการฟื้นตัวในภาคที่อยู่อาศัยยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และอัตราเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนตัวอยู่ใต้เป้าหมายระยะยาวของเอฟโอเอ็มซี ในช่วงที่ผ่านมา โดยมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อด้านค่าตอบแทนในตลาดปรับลดลงมาบ้าง ส่วนมาตรวัดการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวตามผลสำรวจยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ

เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบตามกฎหมายนั้น เอฟโอเอ็มซี มีความต้องการที่จะส่งเสริมภาวะการจ้างงานสูงสุด และเสถียรภาพด้านราคา

เอฟโอเอ็มซี คาดการณ์ว่าการผ่อนคลายนโยบายในระดับที่เหมาะสม จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราปานกลาง ในขณะที่สัญญาณบ่งชี้ในตลาดแรงงานและภาวะเงินเฟ้อปรับตัวเข้าใกล้ระดับที่เอฟโอเอ็มซี มองว่าสอดคล้องกับเป้าหมายทั้งสองประการดังกล่าว

ขณะที่ เอฟโอเอ็มซี พิจารณาว่าความเสี่ยงที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอยู่ในภาวะใกล้ถึงจุดสมดุลในขณะนี้ และลงความเห็นว่า แนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 2 % อย่างต่อเนื่องนั้น ได้ลดลงไปบ้างแล้วนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อในระยะใกล้ มีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันในทางลบจากการร่วงลงของราคาพลังงานและจากปัจจัยอื่นๆ

เอฟโอเอ็มซี มองว่าแนวโน้มของตลาดแรงงานได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ เอฟโอเอ็มซี เริ่มต้นดำเนินโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์รอบปัจจุบัน

นอกจากนี้ เอฟโอเอ็มซี ยังคงมองว่าเศรษฐกิจในวงกว้างมีความแข็งแกร่งด้านพื้นฐานในระดับที่มากพอที่จะสนับสนุนให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการเข้าใกล้ภาวะการจ้างงานเต็มที่ในบริบทของเสถียรภาพด้านราคา และด้วยเหตุนี้ เอฟโอเอ็มซี จึงตัดสินใจยุติโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนนี้

ขณะที่ เอฟโอเอ็มซี จะดำเนินนโยบายเดิมต่อไปในการนำเงินต้นที่ได้รับจากตราสารหนี้ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ (agency) และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง มาลงทุนใหม่ในหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง และจะต่ออายุพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ครบกำหนดไถ่ถอนในการประมูล โดยเอฟโอเอ็มซี ยังคงถือครองหลักทรัพย์ระยะยาวจำนวนมากต่อไป น่าจะช่วยให้สถานการณ์ทางการเงินอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อไป

เพื่อเป็นการสนับสนุนความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องที่จะนำไปสู่ภาวะการจ้างงานสูงสุดและเสถียรภาพด้านราคา เอฟโอเอ็มซี จึงได้ยืนยันความเห็นที่ว่ากรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0-0.25% ในปัจจุบัน จะยังคงเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่อไป และในการตัดสินว่า เอฟโอเอ็มซี จะตรึงกรอบเป้าหมายนี้เป็นเวลานานเพียงใดนั้น เอฟโอเอ็มซี จะพิจารณาความคืบหน้าทั้งที่เกิดขึ้นจริง และที่คาดการณ์ในการเข้าใกล้เป้าหมายการจ้างงานสูงสุดและอัตราเงินเฟ้อที่ 2 %

การประเมินนี้จะพิจารณาจากข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงมาตรวัดสำหรับสถานการณ์ในตลาดแรงงาน, สัญญาณบ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางการเงิน

เอฟโอเอ็มซี คาดการณ์ตามการประเมินในปัจจุบันว่ามีแนวโน้มว่าสิ่งที่จะมีความเหมาะสมคือการตรึงกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0-0.25% ต่อไปเป็นเวลานานระยะหนึ่ง หลังจากโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์สิ้นสุดลงในเดือนนี้ โดยเฉพาะถ้าหากตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวที่เอฟโอเอ็มซี กำหนดไว้ที่ 2 % และตราบใดที่การคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ถ้าหากข้อมูลในอนาคตบ่งชี้ว่า ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงานและภาวะเงินเฟ้อของ เอฟโอเอ็มซี ดำเนินไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ เอฟโอเอ็มซี คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน เมื่อนั้นกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการปรับขึ้นในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ในปัจจุบัน แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากความคืบหน้าดำเนินไปอย่างล่าช้าเกินคาด เมื่อนั้นกรอบเป้าหมายก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการปรับขึ้นในเวลาที่ช้ากว่าที่คาดการณ์กันไว้ในปัจจุบัน

เมื่อใดก็ตามที่ เอฟโอเอ็มซี ตัดสินใจเริ่มต้นยกเลิกนโยบายแบบผ่อนคลาย ทางเอฟโอเอ็มซี ก็จะใช้วิธีการที่มีความสมดุลและสอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาวในการส่งเสริมภาวะการจ้างงานสูงสุด และทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2 %

ปัจจุบันนี้ เอฟโอเอ็มซี คาดการณ์ว่า ถึงแม้การจ้างงานและภาวะเงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมาย แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็อาจจะสนับสนุนให้มีการตรึงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเวลาระยะหนึ่งไว้ในระดับที่ต่ำกว่าที่ เอฟโอเอ็มซี มองว่าเป็นระดับปกติในระยะยาว

................................................

วิเคราะห์"คำใหม่"ของเฟดชี้ความเสี่ยงศก.ฟื้นตัว'ลด'

นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนต่างมองว่าถ้อยคำใหม่ที่เฟดใช้ในแถลงการณ์ครั้งนี้ บ่งชี้ถึงแนวโน้มคุมเข้มนโยบายเล็กน้อย โดยแถลงการณ์เฟดในครั้งนี้มองข้ามความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอการฟื้นตัว และยังคงคาดการณ์ตามเดิมว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวในอัตราปานกลาง ในขณะที่ตลาดการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) ระบุในแถลงการณ์ว่า "โดยรวมแล้ว สัญญาณหลายตัวในตลาดแรงงานบ่งชี้ว่า 'การใช้งานทรัพยากรแรงงานในระดับต่ำเกินไป 'กำลังบรรเทาลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป' โดยถ้อยแถลงนี้มีความแตกต่างจากถ้อยแถลงครั้งก่อนๆของเฟดที่ระบุว่า ทรัพยากรแรงงานยังคงมีการใช้งานต่ำเกินไป 'เป็นอย่างมาก'

นายแอนดรูว์ วิลคินสัน หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัทอินเทอร์แอคทีฟ โบรกเกอร์ส กล่าวว่า "ตลาดมองว่าเฟดใกล้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเป็นผลจากตลาดแรงงาน"

เฟดเพิ่มถ้อยคำที่มีความยืดหยุ่นเพื่อเชื่อมโยงกำหนดเวลาและจังหวะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตเข้ากับตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งการทำเช่นนี้สอดคล้องกับถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดก่อนหน้านี้

เฟดยังคงส่งสัญญาณชี้นำพื้นฐานตามเดิมว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังคงอยู่ใกล้ 0 % ต่อไป "เป็นเวลานานระยะหนึ่ง" หลังจากเฟดยุติโครงการเข้าซื้อตราสารหนี้ในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี ถ้อยคำใหม่ที่เฟดใส่เข้าไปในแถลงการณ์ครั้งนี้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนไปใช้แนวทางใหม่ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย

แถลงการณ์เฟดระบุว่า "ถ้าหากข้อมูลที่ออกมาในอนาคตบ่งชี้ว่า ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงานและด้านเงินเฟ้อ ดำเนินไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ เอฟโอเอ็มซีคาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน เมื่อนั้นกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นก็มีแนวโน้มที่จะถูกปรับขึ้นในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ในปัจจุบัน"

การปรับเปลี่ยนถ้อยคำในแถลงการณ์ครั้งนี้อาจช่วยลดความกังวลของเจ้าหน้าที่เฟดในเรื่องที่ว่า เฟดกำลังทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี เฟดระบุถึง "ปัจจัยลบเหล่านี้เพียงเล็กน้อย" เท่านั้น โดยเฟดยอมรับว่า การร่วงลงของราคาพลังงาน "และปัจจัยอื่นๆ" กำลังกดดันอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และเฟดยังคงมองว่า "ความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายได้ลดน้อยลงนับตั้งแต่ต้นปีนี้"