จีนรุก'ค้า-ลงทุน'อาเซียน

จีนรุก'ค้า-ลงทุน'อาเซียน

นักธุรกิจเอเชียประเมินการค้าการลงทุนจีนกับอาเซียน5-10ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น ริมาณการค้าพุ่ง1ล้านล้านดอลลาร์ในปี63

วานนี้ ( 22 ส.ค.) มีงานสัมมนาเรื่อง "จีน: การเชื่อมโยงกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" จัดโดยธนาคารกรุงเทพ หนังสือพิมพ์ THE NATION และไชน่าเดลี่ ที่โรงแรมดุสิตธานี

นายสารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้ จีนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญของอาเซียนที่กำลังรวมตัวสู่ประชาคมเศรษฐกิจ (เออีซี) และจีนกำลังกลายเป็นผู้เล่นสำคัญของโลกในเชิงการค้า การลงทุน และทางด้านเศรษฐกิจ

"จีนลงทุนในอาเซียนตอนนี้น้อยกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ยังมีช่องว่างอีกมากที่จีนเข้ามาลงทุนได้อีกในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการคมนาคมทั้งทางน้ำและทางบกเชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อไทย"

นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า หากมองจีนว่าสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้นจากนี้ไป และจะต้องมองจีนในแง่การค้าและการลงทุนที่ไหลเข้ามาในอาเซียนมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

ยอดค้าจีน-อาเซียนพุ่ง1ล้านล้านดอลล์ปี63

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาจีนเข้ามาในตลาดอาเซียนเชิงรุกภายใต้นโยบายของจีน 3 ด้าน คือ ด้านแรกรุกเข้าฝั่งตะวันตก (GO OUT WEST) ถัดมากระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ (GO OUT ABOARD) และสุดท้ายรุกเข้าไปยังตอนใต้ (GO OUT SOUTH)

จากนโยบายเชิงรุกเข้าสู่ตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้การค้าของจีนและประเทศต่างๆในอาเซียนมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งชาติอาเซียนมีสัดส่วนการค้ากับจีนอยู่ระหว่าง 19-20% เป็นมูลค่ารวมประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ตอนนี้ จะเพิ่ม 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563

สำหรับตัวเลขการค้าเพิ่มขึ้นข้างต้น เป็นผลจากการปรับปรุงโลจิสติกส์ ระบบการขนส่ง ช่วยให้การขนส่งสินค้าออกไปขายทางบก สะดวกช่วยให้ปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ได้

"ภาครัฐของจีนกระตือรือร้นที่จะสนับสนุนบริษัทเอกชนของจีนรุกเข้าไปในตลาดต่างประเทศ และออกไปยังฝั่งตะวันตกและที่สำคัญมีโครงการต่างๆสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการค้า การลงทุนในพื้นที่ตอนใต้ของจีน เป็นการตอกย้ำว่าบริษัทจีนมีแต่จะลงทุนมากขึ้นในอาเซียน"

ในด้านการลงทุนจีนกระตือรือร้นลงทุนในภูมิภาคนี้ โดยเอฟดีไอจีนที่เคยไหลเข้าอาเซียนประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ในปี 2546 ตอนนี้ไหลเข้า กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี หรือกัมพูชา-ลาว-พม่า-เวียดนาม รวมถึงตลาดสำคัญมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อย่างอินโดนีเซียกับไทยตกปีละ 3 พันล้านดอลลาร์ ในอนาคตเอฟดีไอจะเพิ่มเป็น 40 เท่า หรือราว 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ได้

หนุนอาเซียนดึงเอฟดีไอจีน

นายตันศรี ไมเคิล โย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ดิ อาเซียน สตราเตจี แอนด์ ลีดเดอร์ชิพ อินสทิทิว หรือ เอเอสแอลไอ จากมาเลเซีย กล่าวว่า อาเซียนกำลังขึ้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 7 มีจีดีพีรวมกันไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้จีนและอาเซียนยังคงเติบโตไปพร้อมๆ กัน ทั้งด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการค้า ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยมูลค่าการค้าจาก 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2543 เป็น 3.58 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2556

ขณะเดียวกันตอนนี้จีนเข้าไปลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้น จาก 1.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2551 มาเป็น 7.85 พันล้านดอลลาร์ในปี 2556 หรือมีอัตราการขยายตัวของเอฟดีไอจีนที่ไหลเข้าอาเซียนช่วงปี 2546-2555 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 54% เขาย้ำว่าตอนนี้เอฟดีไอของจีนที่ไหลเข้าอาเซียนยังน้อยไม่ถึง 10% ของเอฟดีจีนที่เข้าไปลงทุนทั่วโลก

"การเชื่อมโยงจีนกับอาเซียน สิ่งสำคัญคือการไว้ใจเชื่อใจกัน ส่งเสริมเพิ่มความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย จีนสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ช่วยพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานก่อเกิดผลิตภาพที่สำคัญในอาเซียนได้"

แนะไทยปรับรับทุนจีน

นายชาญศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทจีนเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในชาติอาเซียนอย่างสนามบินในกรุงเนปิดอร์ของพม่า หรือโรงงานผลิตไฟฟ้าในอินโดนีเซีย เป็นต้น

"เราเชื่อว่าในระยะยาวบริษัท จีนจะเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนได้อีกมาก ในโครงการสาธารูปโภคต่างๆมากมาย ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้าโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคการขนส่งประเภทต่างๆ ในอาเซียน คาดว่ามีมากถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์"

เขากล่าวว่า จากคาดการณ์แนวโน้มการค้า และการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียนจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย รัฐบาลไทยและบริษัทไทยน่าจะใช้โอกาสนี้ ปรับตัวร่วมมือกันทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้น เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินด้านการค้าการลงทุนมีมากมายมหาศาลนี้

"เพื่อทำให้ประเทศไทยและบริษัทไทยเป็นตัวเลือกอันดับแรก สำหรับรัฐบาลจีนและบริษัทจีนที่จะเข้ามาใช้ไทยเป็นจุดหมายปลายทาง เพื่อการลงทุน หรือเข้ามาตั้งฐานและสำนักงานใหญ่ ใช้ไทยเป็นซัพพลายเชนสำคัญเชื่อมโยงสมาชิกเออีซี คิดว่า ไทยกับกลุ่มประเทศอินโดจีนเป็นเหมือนประตูทางเข้าสู่อาเซียนของจีนได้ ทั้งหมดนี้บริษัทไทยเข้าไปมีส่วนร่วมได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย"

นายชาญศักดิ์ยังเสนอแนะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรสนับสนุนและช่วยสร้างกรอบงานให้มีการเกิดความต้องการ ใช้หยวนแลกเปลี่ยนทำการค้าและการลงทุนให้มากขึ้นในตลาดไทยและอาเซียน เช่น การให้มีการฝากเงินเป็นสกุลหยวนได้ และผ่อนคลายให้ใช้เงินหยวนแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ใช้เงินบาทในการค้าลงทุนระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีให้มากขึ้น

เร่งเอสเอ็มอีปรับรับทัวร์จีน

ด้านนายรัสตอม วิคเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดุลิต อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้ข้อมูลเป็นตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 29 ล้านล้านคน และเฉพาะปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศถึง 100 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไปต่างประเทศ จะขยับเป็นปีละ 200 ล้านคนภายในปี 2563

ตัวเลขข้างต้น ช่วยสนับสนุนข้อเสนอแนะของนายโยจากเอสเอสแอลไอ ที่ต้องการให้ธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอีในกลุ่มประเทศอาเซียนรวมไทยปรับตัว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากมายมหาศาลจากจีน จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคมากมายของจีน จะส่งผลดีเป็นประโยชน์ด้านการค้าให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีในอาเซียน

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวและลูกค้าจากจีนเป็นแหล่งทำเงินที่สำคัญ แต่เอสเอ็มอีอาเซียนจำเป็นต้องปรับตัวหาจุดแข็งการทำธุรกิจพัฒนาการผลิตสินค้าบริการของตัวเอง ติดต่อทำการค้าร่วมกับเอสเอ็มอีจีน เพื่อสร้างและพัฒนาตลาดอาเซียนบวกจีนที่มีศักยภาพ

"ต้องปรับตัวปรับธุรกิจ เพื่อสนองความต้องการนักท่องเที่ยวหรือลูกค้าชาวจีนอย่างไรบ้าง ต้องพัฒนาหาจุดแข็งของตัวเอง ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าในมาเลเซีย แทนที่จะผลิตแข่งกับผู้ผลิตรองเท้าจากจีนก็หันมาสร้างสัมพันธ์กับผู้ส่งออกรองเท้าจีน เพื่อนำเข้าสินค้าจากจีนมาขาย และส่งออกสินค้ารองเท้ามาเลเซียไปขายที่จีน เป็นต้น"