'ซิโน-ไทยฯ'รุกพัฒนาอสังหาฯ

'ซิโน-ไทยฯ'รุกพัฒนาอสังหาฯ

ซิโน-ไทยฯรุกพัฒนาอสังหาฯ ระบุ"ถึงจุดหนึ่งอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมารองานประมูลก่อสร้างล่วงหน้า 1-2 ปีไม่ได้แล้ว"

ปัญหาการเมืองลากยาวมากว่าครึ่งปี ฉุดภาพรวมธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง "ชะงัก" ธุรกิจยังต้องเผชิญ "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญ จากการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผลให้การลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐถูก "รื้อ" และชำแหละถึงความ "โปร่งใส" โดยเฉพาะการเบรกการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 2 ล้านล้านบาท ทำให้การเคาะประมูลโครงการล่าช้าจากแผนเดิม

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งใน "เสือก่อสร้าง" ต้องปรับแผนธุรกิจหารายได้จากธุรกิจอื่นมาเสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน

ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประมูลโครงการขนาดใหญ่ที่ล่าช้าจากปัญหาการเมืองช่วงครึ่งปีแรก เมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลัง การขับเคลื่อนประเทศภายใต้ คสช.แม้ประกาศเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่การดำเนินโครงการที่พิถีพิถัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดภาวะ "ชะงักงัน" ของการลงทุน กระทบต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

ล่าสุด คสช.เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ชัดเจนแล้วว่าจะไม่สามารถจัดประมูลโครงการได้ทันปีนี้

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทที่คาดว่าปี2557 จะได้งานก่อสร้างใหม่วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นยอดรอรับรู้รายได้ (แบ็คล็อก) ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า แต่สถานการณ์กลับพลิกผัน

ภาพรวมครึ่งปีแรกกลับไม่มีโครงการใหม่เข้ามาเพิ่ม ทำให้เหลือแบ็คล็อกอยู่ในมือวงเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท ที่จะรอรับรู้รายได้ในอีก 2 ปีเท่านั้น หลังจากนั้น หากไม่มีโครงการใหม่เข้ามาเสริม นั่นหมายถึงการ "ถดถอย" ของผลการดำเนินงาน

"ตอนปี2556 ทุกอย่างยังดีอยู่เลย ไม่คิดว่าม็อบจะอยู่ยาวตอนนั้นก็คิดว่าปีนี้เราน่าจะมีงานเพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท และมีรายได้แตะ 2.5 หมื่นล้านบาท แต่พอม็อบไม่จบทุกอย่างก็เริ่มลดลง"

สำหรับแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจจากนี้ไป บริษัทได้ปรับตัวด้วยการขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจพัฒนา "อสังหาริมทรัพย์" พร้อมปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้สั้นลงเหลือ 2-3 ปี จากเดิมวางไว้ที่ 5 ปี

ที่ผ่านมาได้กว้านซื้อที่ดินจากผู้เจ้าของที่ดินทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวสำคัญ พิจารณาแล้วพบว่าที่ดินแต่ละแปลงเป็นทำเลทอง สามารถนำมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆได้ โดยสนใจทั้งคอนโดมิเนียม โรงแรม และค้าปลีก คอมมูนิตี้มอลล์ คาดโครงการแรกจะเกิดปี2558

แม้บริษัทจะขยายธุรกิจใหม่แต่ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก

"ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนซิโน-ไทยฯ จากนี้คงเห็นแผนระยะสั้น 2-3 ปี ในการขยายธุรกิจใหม่ของบริษัท ตอนนี้มีที่ดินในมือ 3 แปลง อยู่ที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 14 ไร่ ใกล้กับโครงการของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ส่วนกรุงเทพฯ มีที่ดินบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านพระราม 3 และบางนาตราด กม.4 คาดว่าในอนาคตจะมีมูลค่าเพิ่มจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง" เขากล่าว

ที่สำคัญการขยายธุรกิจครั้งนี้มองถึงการกระตุ้นการเติบโตในอนาคต เพราะถึงระดับหนึ่งอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมารองานประมูลก่อสร้างล่วงหน้า 1-2 ปีไม่ได้อีกแล้ว

ขณะเดียวกันยังต้องวิ่งหางานประมูลในส่วนของเอกชนมากขึ้น เพื่อทดแทนงานภาครัฐ โดยโครงการที่ให้ความสนใจ ได้แก่ ค้าปลีก โรงแรม คอนโดมิเนียม

ล่าสุด เตรียมเข้าประมูลงาน อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.) และโครงการ "ไอคอนสยาม"

นอกจากนี้ ยังเข้าไปรับงานก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติให้ลูกค้าชาวต่างชาติ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐ เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูงถึง 15%

บริษัทยังพร้อมประมูลในต่างประเทศหลังจากหยุดไปนาน 5 ปี เน้นประเทศอาเซียนมากขึ้น ทั้งรูปแบบร่วมทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่นประมูลงานในพม่า และร่วมมือกับทุนไทยเพื่อประมูลงานก่อสร้างในเวียดนาม เช่น เอสซีจี ที่เข้าไปลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์เวียดนาม เป็นต้น

การขับเคลื่อนธุรกิจของซิโน-ไทยฯ เป็นไปตามแนวทางอนุรักษนิยม เพราะหากเทียบอุตสาหกรรมก่อสร้างรายใหญ่มีงานในมือรอรับรู้รายได้เป็นอันดับ 3 รองจากอิตัลไทย และ ช.การช่าง ขณะที่ ซิโน-ไทยฯ มีกำไรสูงสุดในอุตสาหกรรมก่อสร้าง