'ไพบูลย์'แจง'วิษณุ' ทำหน้า่ที่ดูแลสิทธิผู้ต้องขัง

'ไพบูลย์'แจง'วิษณุ' ทำหน้า่ที่ดูแลสิทธิผู้ต้องขัง

"ไพบูลย์"แจงจดหมายน้อยจาก"วิษณุ" เป็นเรื่องปกติทำหน้าที่ดูแลสิทธิผู้ต้องขังในฐานะรองนายกฯกำกับยุติธรรม

ตามที่มีการเผยแพร่จดหมายร่างด้วยลายมือลงชื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีลงวันที่17ก.พ. 2559 ระบุข้อความถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่มีเนื้อหาขอให้พิจารณาพักการลงโทษนายเจตน์ มีญาณเยี่ยม อายุ52ปี ผู้ต้องขังคดีแจ้งความเท็จและฟ้องเท็จ อดีตนายกสมาคมกล้วยไม้ดอกประเทศไทย ซึ่งต้องโทษจำคุก4ปีแต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือ2ปีและรับโทษมาแล้ว1ปีโดยมีการลงท้ายข้อความว่าให้พิจารณาหากระเบียบราชทัณฑ์เปิดช่องให้ทำได้ 

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การเขียนจดหมายน้อยของนายวิษณุ สามารถทำได้เป็นเรื่องปกติคนทั่วไปก็ทำกัน แต่อย่านำไปเปรียบเทียบกับจดหมายน้อยของการวิ่งเต้นขอตำแหน่งให้กับข้าราชการตำรวจของศาลปกครองเพราะกรณีนี้เป็นการร้องขอตามสิทธิของผู้ต้องขังซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังร้องขอเองหรือญาติร้องขอก็ได้โดยเรื่องนี้นายกสมาคมกล้วยไม้ฯคนปัจจุบัน ร้องขอไปยังนายวิษณุซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรมโดยตรง จึงเป็นเหตุให้รองนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือปะหน้าส่งถึงกรมราชทัณฑ์พร้อมระบุว่า“กรุณาพิจารณาด้วยหากระเบียบเปิดช่องให้ทำได้“สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นสิทธิโดยชอบขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เมื่อได้รับหนังสือจากผู้ร้องก็ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ 

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า ตามปกติเมื่อผู้ต้องขังจะร้องขอให้มีการพักการลงโทษมักจะอ้างเรื่องคุณงามความดีโดยแบ่งออกเป็น2ช่วง คือ ช่วงที่อยู่ในเรือนจำเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ประเมินจากความประพฤติผู้ต้องขังส่วนช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่นอกเรือนจำก็ต้องอ้างบุคคลอื่นมาให้การรับรอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีการอ้างถึงบุคคลที่น่าเชื่อถือต่างๆส่วนกรณีที่มีการยืนยันถึงตำแหน่งอดีตนายกสมาคมกล้วยไม้ฯก็เพื่อให้มีการรับรู้ถึงอาชีพและรายได้ที่แน่นอนหากได้รับการพักการลงโทษจะไม่หลบหนีหรือกระทำผิดเงื่อนไข ดังนั้นสิ่งที่นายวิษณุกระทำเป็นการทำหน้าที่ดูแลสิทธิของผู้ต้องขังไม่ใช่การละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น แต่กลับถูกโยงไปเป็นประเด็นใส่ร้ายกันในทางการเมือง วัตถุประสงค์เพื่อให้คนทำงานหมดกำลังใจ 

สำหรับผู้ต้องขังรายดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษหรือไม่ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติคือจะต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน1ใน3และจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพักการลงโทษที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือรองปลัดกระทรวงยุติธรรมนั่งเป็นประธาน