หนัง-พา-ไทย-ไป-เที่ยว-ซากะ

หนัง-พา-ไทย-ไป-เที่ยว-ซากะ

เผยเบื้องหลังดึงหนัง-ละครไทยไปถ่ายทำที่“ซากะ” ชักนำคนไทยในยุคที่ใครๆ ก็ไปญี่ปุ่น ทะลุเป้า

ซากะหรือซางะ (Saga) จังหวัดเล็กๆ บนเกาะคิวชู ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นอีกหนึ่งปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่ใครๆ ก็อยากไปไหว้ศาลเจ้าและเดินตลาดสดยามเช้าโยบุโกะ ชิมปลาหมึกแก้ว (เนื้อปลาหมีดใสเหมือนแก้ว) หลังจากที่รัฐบาลท้องถิ่นได้ดำเนินนโยบาย “สื่อบันเทิงชักนำคนมาเที่ยวพื้นที่” พุ่งเป้าที่กลุ่มเป้าหมายชาวไทย เริ่มเมื่อปี 2013 เป็นต้นมา

ฉากใดๆ ที่อยู่ในหนัง-ละคร ก็เป็นปลายทางให้ชาวไทยมุ่งไปเยี่ยมเยือน

ไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้ายูโตะคุ อินาริ ศาลเจ้านิกายชินโต สร้างโดยผู้ปกครองเมืองซากะสมัยเอโดะ เมื่อปีค.ศ. 1688 ตามรอย ละคร กลกิโมโน และฉากแต่งงานสวยงามของเจ้าสาวญี่ปุ่นและเจ้าบ่าวอย่าง ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ในซีรี่ย์ Stay ซากะ..ฉันรักเธอ (นักท่องเที่ยวไทยทำสถิติเข้าศาลเจ้าประจำเมืองซากะแห่งนี้วันเดียว 300 คน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประชากรจังหวัดซากะทั้งหมดมีราว 2 แสนกว่าคน พื้นที่ทั้งหมดแค่ 554 ตารางกิโลเมตร )

หลายคนอยากถ่ายภาพกับรูปปั้นสีขาวรูปหัวใจริมทะเลที่ฮาโดะ ที่มีลานให้ปิ้งย่างอาหารทะเลกันได้ถูกใจกรุ๊ปทัวร์ หรือวัยรุ่นฮิปสเตอร์ที่อยากไปเป็นวูฟเฟอร์ ทำงานในฟาร์มแลกอาหารและที่พัก หรือกระทั่งนอนสไตล์โฮมสเตย์ใน Guza (กูสะ)บ้านแบบญี่ปุ่นอยู่หลังเขา

“คนญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยไปเที่ยวซากะหรอก คนไม่ค่อยรู้จัก การประชาสัมพันธ์ไม่เก่ง แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยุคนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ (Abeconomics) บอกว่า ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ต้องกระตุ้นเมืองเล็กๆให้ได้ จึงให้งบประมาณกับรัฐบาลจังหวัดเล็กๆ แต่ทางซากะคิดโปรเจคนี้ขึ้นมาเอง และตอนนี้ก็เป็นแบบอย่างให้ชุมชนทำตามแล้ว” คอนโนะ เคนจิ (Konno Kenji)เผยผ่านล่ามญี่ปุ่น-ไทย มิวะ ทากามิสึ (Miwa Takamizu) ในระหว่างเดินทางมาเตรียมงานประชาสัมพันธ์จังหวัดซากะในเฟสต่อไป ที่ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

คอนโนะ เคนจิ เป็นเจ้าหน้าที่ของ Saga Film Commission หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลและประสานงาน กองถ่ายภาพยนตร์และละครไทยที่ไปใช้สถานที่ถ่ายทำที่จังหวัดซากะ

เป้าหมายหลักคือ ทำหนังละครไทย ให้คนไทยไปเที่ยวซากะ 

ทำไมเลือกคนไทย

 “เพราะรู้ว่าคนไทยเป็นมิตรกับญี่ปุ่นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ตัวแทนซากะเล่าถึงการจัดทำสื่อบันเทิงเพื่อประชาสัมพันธ์จังหวัด พร้อมเผยว่า ตามข้อมูลเดิม นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหลักคือ เกาหลีและจีน มีเที่ยวบินตรงจากสองประเทศนั้น มาลงที่สนามบินซากะ แต่หลังจากปัญหาการเมืองและประวัติศาสตร์สงคราม จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น ที่เปิดแผลกันมารอบใหม่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ทำให้นักเที่ยวจากสองประเทศลดลง ประกอบกับวันที่ 1 กรฎาคมปี 2013 รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติวีซ่าให้คนไทยเข้าญี่ปุ่นได้ 15 วัน แบบไม่ต้องยื่นวีซ่า แถมมีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ ลงสนามบินฟูกุโอกะ ไม่ไกลจากซากะด้วย

แต่การจัดหาคนมาทำงานสื่อ ต้องมี แนวอะไรเป็นพิเศษหรือไม่?

แนวทางของภาพยนตร์หรือละคร ที่ทางจังหวัด “เลือกเชิญ” ให้เข้ามาถ่ายทำ เพื่อผลในการโปรโมทท่องเที่ยวนั้น 

ตัวแทน Saga Film Commission บอกว่า “ไม่กำหนดแนว”

แต่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องเป็นงานเพื่อตลาด mass สื่อสารกับคนจำนวนมาก เงื่อนไขของการเป็นแมส คือ ผู้กำกับดีมีคุณภาพและมีชื่อเสียง ดาราดังในประเทศไทยและบริษัทผู้สร้างต้องมีเครดิตดี

“เรามองว่าโบรชัวร์หรือหนังสือนำเที่ยวที่มีรูปดาราไทยบนปกท ำให้คนไทยสนใจมากขึ้น” คอนโนะซัง เผย

ทาง Saga Film Commission จึงเลือกโปรดักชั่นใหญ่เอาใจวงกว้าง อย่าง ภาพยนตร์ Timeline..จดหมายความทรงจำ กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร นำแสดงโดย เจมส์ จิรายุ และเต้ย จรินทร์พร ซีรี่ส์ฉายทางทีวีของค่ายจีทีเอชเรื่อง Stay..ซากะฉันรักเธอ สร้างสรรค์โดย ทรงยศ สุขมากอนันต์ นำแสดงโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และ เก้า-สุภัทรา ดาราวัยรุ่นฮ็อตจากซีรี่ส์ฮอร์โมนส์..วัยว้าวุ่น และ ละครหลังข่าวของช่อง 3 เรื่อง กลกิโมโน ของค่ายบรอดคาสซ์ เทเลวิชั่น นำแสดงโดย เบิร์ด ธงไชย แม็คอินไตย์ ชมพู่ อารยา เอ.ฮาร์เก็ตต์ และเคน-ภูภูมิ พงศ์ภาณุ

แต่สามเรื่องนี้ก็ให้เห็นแค่บางส่วนของซากะเท่านั้น ยังมีจุด unseen เราจึงอยากให้กองถ่ายเข้ามาถ่ายทำอย่างต่อเนื่อง

ภารกิจของ Saga Film Commission  คือ การประสานงานในพื้นที่จังหวัดซากะ เมื่อกองถ่ายที่ยกกองเข้าไปถ่ายทำ คอนโนะซังบอกว่า ทางเจ้าหน้าที่ขององค์กรจะเป็นผู้ช่วยหาสถานที่ตามที่ผู้กำกับต้องการ 

“เราเป็นทีมโลเกชั่น และจะมีเจ้าหน้าที่ไปช่วยประจำกองถ่ายตลอดงานหนึ่งคน ถือเป็นทีมงานด้วยเลย”

เมื่อถามถึงข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่ต้อง นำเสนอซากะ ในสื่อ

“ส่วนใหญ่ในละครก็ทำให้สถานที่น่าสนใจและมีวัฒนธรรมแทรกอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเรื่องที่มองต่างกัน เราก็จะคุยกัน และตกลงกันได้”

Saga Film Commission จัดตั้งเมื่อ 10ปีที่แแล้ว เป็นหน่วยงานพัฒนาด้านสื่อและภาพยนตร์ เพื่อช่วยพัฒนาท้องถิ่น เป็นภาคขยายสู่การบริหารระดับท้องถิ่นของ Japan Film Commission จากส่วนกลาง ที่ตั้งเมื่อยี่สิบปีก่อน หน่วยงานนี้จะมีอยู่ทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง ทั้งระดับจังหวัด เทศบาล หรือระดับอำเภอ

“ปีนี้ทาง Japan Film Commission จัดงานรางวัลใช้ชื่อ Japan Film Commission Awards เป็นครั้งแรก และ Saga ก็ได้รางวัล จากผลงานที่กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของชุมชนและมีผลงานประสานงานละครและหนัง(ไทย)ที่ได้คุณภาพ”

อย่างไรก็ตาม การติดต่อให้กองถ่ายไทยหรือต่างประเทศไปใช้สถานที่ถ่ายทำ ไม่ใช่การ “ว่าจ้าง” หรือให้ทุนสนับสนุน แต่เป็นการอำนวยความสะดวก ประสานงานและจัดหาสถานที่ รวมถึงบริการด้านการขนส่งภายในพื้นที่จังหวัดซากะเท่านั้น

“เราแค่นำเสนอว่า มาถ่ายโลเคชั่นที่นี่ไหม เราอยากให้คนทำหนังละครที่ชอบเราจริงๆ เราพร้อมจะปิดถนนให้ถ่ายทำ เพราะเคยมีทีมงานจีนและเกาหลีมาขอทุน ขอค่าจ้างในการทำหนังโปรโมทจังหวัดให้ เราไม่ชอบทัศนคติแบบนั้น ถ้าเขาอยากทำอย่างนั้นไปรับจ้างจังหวัดอื่นได้ เราต้องการ spirit ที่รักซากะ และจะทำงานร่วมกันได้ดี”

งานที่ผ่านมาเป็น mass และให้ผลที่น่าพอใจมาก กองถ่ายภาพยนต์หรือละคร หรือกระทั่งหนังสั้นจะไม่จำกัดแนวหรือเอาใจแมสแล้ว แต่จะเน้นคุณภาพงาน และมองตลาดเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ เพราะเป้าหมายต่อไปของซากะ คือ กระตุ้นการศึกษา

“เราอาจจะเชิญกองถ่ายอีก 2-3 เรื่องมาถ่ายทำอีก เพื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดให้ต่อเนื่อง แต่จะเน้นงานคุณภาพ สำหรับเราหนังไทยที่มีคุณภาพ ก็คือ หนังที่คนต่างชาติดูเข้าใจได้ มาตรฐานงานปกติมีอยู่แล้ว”

คอนโนะซัง หรือชื่อเล่นภาษาไทย ว่า คนเก่ง เพี้ยนเสียงจาก คอนเคน (KonKen) ขยายความเรื่องคุณภาพงานดี ข้ามวัฒนธรรมว่า

“เราเคยฉายหนัง Timeline รอบพิเศษให้ชาวเมืองซากะดู คนดูร้องไห้ตามหนัง ไม่ใช่เพราะมันเป็นหนังที่ถ่ายทำในซากะนะ แต่เพราะเนื้อหาดี อารมณ์ที่รับรู้กันได้มันเป็นเรื่องสากล ไม่จำกัดชาติ”

 

ความสำเร็จ

คอนโนะซังไม่ได้ระบุจำนวนคน และยังไม่ได้อิงตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว แต่เขายืนยันว่า ยอดนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2013 ถึง 400 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2014 และสถิติวันศาลเจ้าแตกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นสิ่งยืนยันผลงานและพิสูจน์ว่า แผนนี้ทะลุเป้า

“หลังจากหนังและละครออกฉาย มีคนมาเที่ยวซากะเพิ่มขึ้นชัดเจน” และแน่นอนในฝั่งไทย “ทัวร์ตามรอยฯ” เป็นหนึ่งในทางเลือกที่บริษัททัวร์ไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเปิดบริการเพิ่มขึ้นมาทันที

นอกจากนั้น ซากะยังถือว่า การได้เห็นการตื่นตัวของคนในชุมชน ก็เป็นความสำเร็จที่เกินคาดหมายของแผนพัฒนา

 จริงๆแล้ว หนังหรือละครเรื่องหนึ่ง สามารถทำให้ชาวเมือง(ซากะ)เปลี่ยนทัศนคติไปมากทีเดียว คือ เขาเปิดใจต้อนรับคนต่างถิ่น ต่างจากเมื่อก่อน และกระตือรือล้นที่จะทำธุรกิจกับคนต่างชาติจากเดิมเน้นขายแต่คนญี่ปุ่นอย่างเดียว และยังช่วยด้านการศึกษา ซึ่งทางจังหวัดพบว่า เป็นผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมาย และเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เลย” คนเก่ง ซัง บอก และเผยว่า ไม่ใช่แค่กระแสไทยเที่ยวซากะ แต่การที่ข่าวออกสื่อญี่ปุ่นว่ามีคนไทยไปเที่ยวก็ช่วยกระตุ้นคนญี่ปุ่นให้ออกไปเยือนซากะ เพิ่มขึ้น

“ตอนนี้ รัฐบาลท้องถิ่นอีก 47 จังหวัดของญี่ปุ่น เริ่มหันมาสนใจนักท่องเที่ยวไทย และเริ่มงานประชาสัมพันธ์คล้ายๆกันแล้ว“

คอนโนะซัง ยังชี้ถึงปัจจัยความสำเร็จของแผนบันเทิงนำเที่ยวนี้ว่า มี 3 ข้อหลัก ได้แก่ (1)จังหวะดี ญี่ปุ่นยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศให้คนไทย (2)ความต่อเนื่อง มีงานภาพยนตร์ละครไทยต่อเนื่องถึง 3 เรื่อง ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ช่วยสร้างกระแสเที่ยวได้จริง และ(3) โชคดี ที่ได้ผู้กำกับทีมงานดี สร้างงานดี

“นอกจากจะได้งานแล้วยังได้มิตรภาพอีกด้วย” คอนโนะซังบอก และสารภาพว่า ตอนนี้เขากลายเป็นแฟนหนังไทยไปแล้ว หลังจากไม่เคยดูหนัง-ละครไทยมาเลย เพิ่งได้สัมผัสเมื่อต้องศึกษางานของผู้กำกับไทยที่จะไปถ่ายทำนี่เอง 

“ผมดู I Fine แท้งกิ้วเลิฟยู้ จบ ทำให้วิ่งไปเรียนภาษาอังกฤษเลย” คอนโนะซัง อ้างอิงถึงหนังไทยสามร้อยล้าน เมื่อปี 2014 จากค่ายจีทีเอช

ก้าวต่อไป-ดันเยาวชน

ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการกระตุ้นท่องเที่ยวในจังหวัด คือ ด้านการศึกษา ทั้งการดึงดูดนักศึกษาให้ไปเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้เริ่มมีนักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่นั่น แผนในอนาคตจึงอยากจะให้มีเพิ่มจำนวนขึ้น เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยซากะเปิดบูธในงานแฟร์การศึกษา และนำผลงานหนังสั้นและวิดีโอของนักศึกษาถ่ายทำในสถานที่แลนด์มาร์คของซากะ มาฉายโชว์โปรโมทสถาบันด้วย

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2016 จังหวัดซากะ ได้เตรียมแผนบุกตลาดไทยอีกครั้ง ด้วยการมาร่วมเปิดบูธในงานเจแปนเอกซ์โปที่เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เป้าหมายคือ แนะนำเส้นทางเที่ยวใหม่ ซึ่งอาจมีแนะนำคอร์สการเรียนในมหาวิทยาลัยของจังหวัดด้วย

“นอกจากธุรกิจท่องเที่ยว ทางจังหวัดต้องการกระตุ้นธุรกิจการศึกษา เพราะไม่นานมานี้ ทางมหาวิทยาลัยซากะ ได้เปิดแผนก multimedia โปรเจคต์ใหม่ที่จะเกิดอยากให้นักศึกษาของเราได้ฝึกงานกับกองถ่ายทั้งภาพยนตร์และละคร ถือเป็นการกระตุ้นให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ และรับรู้วัฒนธรรมของตัวเองไปพร้อมกันด้วย”

ซากะ : “รักนะชาวไทย

หลังจากดำเนินงานสื่อบันเทิงดึงคนไทยท่องเที่ยวจังหวัดที่คนไทยแทบไม่รู้จักได้สำเร็จในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ทางฝ่ายเจ้าบ้านก็ได้เรียนรู้หลายอย่างและมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ 

จำนวนนักท่องเที่ยว

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2013 ไม่มีนักท่องเที่ยวไทยไปซากะเลย แต่หลังจากหนัง Timelineออกฉายปี 2014 มีคนไทยไปเที่ยว 400 เท่า ในปี 2015 นับถึงเดือนมิถุนายนยังมีเท่ากัน คาดว่าครึ่งปีหลังน่าจะเพิ่มเป็นสองเท่า

เส้นทาง ฮิต

นักท่องเที่ยว เดินทางเป็นกลุ่มเพื่อน ส่วนใหญ่ตามรอยซีรี่ส์ Stay ไปเมือง ทางภาคเหนือของจังหวัดซางะ ตามเส้นทางแนะนำตามรอยละคร

จุดฮิตสำหรับถ่ายพรีเวดดิ้ง ที่ศาลเจ้า และ จุดนิยมถ่ายภาพเซลฟี่ หมู่+เดี่ยว ที่แหลมฮาโดะ Hado Cape ที่มีหินสีขาวรูปหัวใจ

ช่วงสงกรานต์เดือนเมษายน 2558 ไทยทุบสถิติ วันเดียวเที่ยวศาลเจ้ายูโตกุอินาริ (Yutokuinari) 300 คน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

หลักฐานอ้างอิงว่าคนไทยไปศาลเจ้าเยอะขึ้นฯ

-ธนบัตรไทย ที่หย่อนลงในกล่องบุญต่างๆ ทั่วศาล ตามประเพณีที่ญี่ปุ่นจะใส่เงินลงกล่องเพื่อขอพรจากเทพเจ้า

-เซียมซีแผ่นไม้ ที่เรียกว่า เอมะ (E-ma) ที่ให้คนเขียนขอพรและผูกไว้ที่ศาล มีข้อความภาษาไทย เขียนทิ้งไว้หลายแผ่น

ชาวซากะปรับตัวรับนักท่องเที่ยวไทย

-บริการ wi-fi ในศาลเจ้าฯ คนไทยชอบเล่น wi-fi ทางศาลเจ้าจึงเปิดบริการ free wi-fi ทุกจุดทั่วศาลฯ และจัดทำแผ่นเซียมซีเป็นภาคภาษาไทยให้อ่านด้วย

-ผู้บริหารศาลเจ้าฯ เริ่มคิดหากิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยว เอกชนขานรับเช่น การจัดรถชัตเติลบัสรับส่งจากสถานีรถไฟไปศาลเจ้า มีร้านขายของเพิ่มขึ้นเป็นร้านเล็กบริเวณใกล้ศาลเจ้า

-จัดทำ free apps เป็นแอพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดฟรี มีข้อมูลเส้นทางเที่ยวตามรอยละครและภาพยนตร์ไทยทั้ง 3 เรื่อง

ธุรกิจเกิดใหม่ตามละคร

-ธุรกิจถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง เป็นกระแสตามซีรี่ส์ Stay ซึ่งในละครมีฉากงานแต่งงานในบริเวณศาลเจ้า (คนญี่ปุ่นนิยมถ่ายพรีเวดดิ้งที่เกาะฮาวาย)

 -ธุรกิจบริการเช่ากิโมโนสำหรับนักท่องเที่ยวไทย ใส่เดินในศาลเจ้า ตามรอยซีรี่ส์ Stay และละคร กลกิโมโน เดิมทีคนญี่ปุ่นสวมกิโมโนไปศาลเจ้าถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในวันเทศกาลต่างๆ อยู่แล้ว เป็นธุรกิจที่เอกชนในท้องถิ่นคิดกันขึ้นมาเอง

ภาษาไทย ในภาษาท่องเที่ยว

-ภาษาไทย เป็นภาษาหลักที่ 4 เพิ่มเติมจากเดิม ภาษาญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ในป้ายบอกสถานที่และจุดบริการท่องเที่ยว รวมถึงเอกสารและสื่อแนะนำท่องเที่ยวทุกรูปแบบ

-แผ่นเซียมซีภาษาไทย ศาลเจ้า Yutokuinari อ้างว่า เป็นศาลเจ้าแห่งแรกในญี่ปุ่นบอกความหมายเป็นภาษาไทย งานนี้รัฐบาลจังหวัดไม่ได้คิด แต่ทางผู้บริหารศาลเจ้าคิดทำกันเอง 

-คำแนะนำวิธีรับประทานขนมญี่ปุ่น ที่มีวางขายใกล้ๆจุดท่องเที่ยวเป็นภาษาไทย

อะไรที่เป็นไทยเท่านั้น

ความแปลกใจของเจ้าบ้านซางะ ที่เห็นความต่างทางพฤติกรรมและวัฒนธรรมของไทยกับญี่ปุ่น มีสองเรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ การทิ้งขยะ และการไหว้พระในศาลเจ้า

-การทิ้งขยะ คนญี่ปุ่นแบ่งประเภทขยะและถังขยะอย่างละเอียด 5-6 ประเภท อาทิ ขวด แก้ว พลาสติก เศษอาหาร กระดาษ ฯลฯ คนไทยเริ่มแรกมักทิ้งไม่ถูกประเภท แต่เมื่อบอกกล่าว “คนไทยก็ทำได้เข้าใจง่าย”

-คนไทยไหว้พระทุกจุดในศาลเจ้า  ต่างจากคนญี่ปุ่นที่จะไหว้แค่โบสถ์ใหญ่ที่เป็นประธานของศาลนั้นจุดเดียว “เห็นคนไทยไหว้พระเล็กๆที่อยู่ทุกมุมของศาล ก็ประทับใจนะ คิดว่าคนไทยคงมีศรัทธาในศาสนามากทีเดียว”  (ศาลเจ้าที่กล่าวถึงคือศาลเจ้าประจำเมืองซางะชื่อ ศาลเจ้ายูโตะคุ อินาริ เป็นศาลเจ้านิกายชินโต ประจำตระกูลนาเบะชิมา ผู้ปกครองเมืองซางะ สมัยเอโดะ สร้างเมื่อปีค.ศ. 1688 ชาวเมืองนิยมขอพรเรื่องความรัก ความปลอดภัยและความสำเร็จทางธุรกิจ)

-การถอดรองเท้า คนญี่ปุ่นถือมากในการถอดรองเท้าวางให้ถูกที่ และใส่รองเท้าในบ้านในสถานที่ รวมถึงจุดที่ต้องถอดรองเท้าในวัด คนไทบมักจะเดินเลย (ต้องอย่าลืมอ่านป้าย)

อะไรที่เป็นชาวซากะ

คนจังหวัดซากะถือเป็นเมืองเล็กๆ ห่างไกลจากเมืองใหญ่ การต้อนรับชาวต่างชาติของพวกเขาจึงไม่ใช่เพราะเห็นเม็ดเงินอย่างเดียว แต่เป็นความรู้สึกตื่นเต้นยินดี  “เขาอุตส่าห์เดินทางมาไกลจากต่างประเทศมาถึงเมืองเล็กๆ ชาวเมืองก็ชื่นชอบ” 

ขณะที่ ซากะ อ้างว่าเที่ยวได้ตลอดปี ยกเว้นวันที่ 1 มกราคม ถ้าจะไปอาจจะอดเที่ยวตลาดเช้า โยบุโกะ ฉากเด่นที่อยู่ในหนัง Timeline และ ซีรี่ส์ Stay เพราะธรรมเนียมคนญี่ปุ่นจะอยู่บ้านในวันสิ้นปี และวันขึ้นปีใหม่ก็ไปไหว้ขอพรที่ศาลเจ้า