ร้านขนมของคนพิเศษ

ร้านขนมของคนพิเศษ

ร้านขายขนมที่มีเหล่า “คนพิเศษ” บริหารจัดการ ความอร่อยอาจไม่ใช่ประเด็นเท่ากับการพิสูจน์ให้เห็นว่า “ความไม่พร้อม” ไม่ใช่ปัญหาในการทำงาน

“มาเรียนภาษามือกัน!” เสียงภาษาไทยสำเนียงญี่ปุ่นดังขึ้นกลางร้านเบเกอรี่น้องใหม่ติดถนนราชวิถี ขณะเจ้าของเสียงกำลังเรียกพนักงานในร้านที่ง่วนอยู่หน้าเตาอบบ้าง ที่เก็บล้างอุปกรณ์อยู่บ้าง มารวมตัวกันเพื่อทบทวนบทเรียนที่เคยสอนมา

  “แดง เหลือง ส้ม ขาว เขียว 

  “เอ บี ซี ดี อี เอฟ ...

  “หนึ่ง สอง สาม สี่ ...

  “คอนนิจิวะ คมบังวะ 

  “ช็อคโกแลต สับปะรด ชาเขียว ...

คำศัพท์ที่จำเป็นในร้านเบเกอรี่ถูกไล่เรียงขึ้นมาเพื่อให้พนักงานทำภาษามือให้ถูกต้อง เมื่อทวนจบในแต่ละชุดแล้ว คุณครูญี่ปุ่นก็เอ่ยชม “โอเค เก่งมาก” อย่างเสียงดังฟังชัด ก่อนจะเริ่มบทต่อๆ ไป

ด้านนักเรียนหลากหลายวัยก็ตั้งใจเต็มที่ แม้จะจำได้บ้าง.. ไม่ได้บ้าง

 

ทักษะพิเศษ

“พวกเขาต้องเรียนภาษามือ ทั้งไทย อเมริกัน และญี่ปุ่น” ดวงนฤมล ดอกรัก ผู้จัดการการจัดการข้อมูลและความรู้ มูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) เอ่ย ก่อนจะอธิบายว่า เพราะ “ความพิเศษ” ของร้านเบเกอรี่ 60 plus bakery by Yamazaki & APCD ที่มีผู้ที่เป็นออทิสติก รวมถึงผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการทางด้านร่างกาย เป็นพนักงานทั้งฝ่ายผลิต และฝ่ายขาย ทำให้ทุกคนที่นี่ต้องฝึกเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านภาษามือ และเพื่อประโยชน์ในด้านการบริการที่อาจจะมีผู้ใช้ภาษามือเข้ามาเป็นลูกค้าด้วย

"เราต้องการให้เห็นถึงทั้งสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อคนพิการ เราต้องการให้เป็นโชว์เคสให้กับสังคม และภาคธุรกิจให้เห็นว่า คนพิการก็ทำได้ ไม่ได้มุ่งเฉพาะแค่ด้านใดด้านหนึ่ง มีหลายด้านอยู่ร่วมกัน” ดวงนฤมลเสริม

ร้านเบเกอรี่แห่งนี้เกิดขึ้นจากไอเดียของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย บริษัทไทยยามาซากิ จำกัด มูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ที่ช่วยกันตั้งไข่ร้านเพื่อการประกอบอาชีพของคนพิการจริงๆ ขึ้นมา

ในร้านมีพนักงานที่หลายบริษัทไม่ต้อนรับ เพราะคิดว่าจะทำงานไม่ได้อย่างผู้ที่เป็นออทิสติกจำนวน 4 คน ช่วยงานทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขาย ซึ่งได้ค่าตอบแทนเท่ากับพนักงานทั่วไปของบริษัท ถึงแม้ลักษณะการทำงานก็จะพิเศษกว่าที่อื่น แต่ก็ “ลงตัว” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะที่นี่ดึงเอาทักษะเด่นของแต่ละคนมาใช้ให้เต็มที่ และในขณะเดียวกัน ถ้าทำไม่ได้ ก็จะมีคนที่ทำได้คอยช่วยเสริม

"ใช้เวลาฝึก 3-4 เดือน เราต้องดูว่า เขาถนัดด้านไหน เราจะไม่โฟกัสสิ่งที่เขาทำไม่ได้ แต่เราพยายามจะส่งเสริมสิ่งที่เขาทำได้ เช่น จุ๊บแจง เป็นออทิสติก เราให้เขาทำครัวซองต์ เวลาทำจะพับ 4 พับ คือ เขามีความเชี่ยวชาญด้านการทำซ้ำ ถ้าทำเป็นแพทเทิร์น เขาจะทำเป๊ะๆ เลย พับตามที่บอก 1 2 3 4 จบ เขาทำได้ดี แล้วถ้าเกิดเราจะสอนให้เขาเช็ดถาด เราก็ต้องทำให้เป็นแพทเทิร์น เช่น จากซ้ายไปขวา กี่ครั้งก็ว่าไป พลิก แล้วก็วาง ถ้าเราทำทุกอย่างให้เป็นระบบ เขาก็จะทำตามได้” ดวงนฤมลเล่าถึงฝ่ายผลิตที่มี จุ๊บแจง-ธนัญญา วรรณประเสริฐ วัย 31 ปี คอยประจำอยู่ข้างเตาอบ

“ชอบทำขนมปังไส้กรอก กับแฮม เพิ่งมาเริ่มทำที่นี่” จุ๊บแจง พนักงานพาร์ทไทม์ประจำร้านเอ่ยเสียงดังฟังชัด ก่อนจะบอกอย่างตื่นเต้นว่า ร้านใกล้จะเปิดแล้วในเดือนหน้า และเมื่อถึงวันนั้น เธอเองก็จะได้พูดต้อนรับทุกคนแบบที่เตรียมไว้

"ขนมปังร้อนๆ มาแล้วจ้า!!" จุ๊บแจงลองเสียงพร้อมรอยยิ้ม

เมื่อพนักงานมีใจเต็มร้อย บรรยากาศการทำงานจึงอบอุ่น ประกอบกับความลงตัวของงานในร้านที่ใครถนัดอะไร ก็จะทำอย่างนั้น งานทั้งหมดจึงเดินอย่างเป็นลำดับ อย่าง แคท-ศรีโสภา มีรอด พนักงานฝ่ายขายผู้พิการทางด้านร่างกายที่เคยถูกปฏิเสธการทำงานจากที่อื่นก็จะรับหน้าที่กดแคชเชียร์ที่หน้าเคาน์เตอร์ และปล่อยให้คนที่มือคล่องๆ อย่าง ป๊อป-ชนาภา ธเนศมรีกุล เป็นคนหยิบขนมปังใส่ถุง โดยที่ทั้งสองคนสามารถพูดคุยกับลูกค้าที่พิการทางการได้ยินได้ด้วย

“นี่หมูหยอง นี่ชาเขียว” แคทบอกพลางทำภาษามือให้ดู

"หลังจากที่เขาทำจนชำนาญแล้ว เขาก็จะทำได้ดี ในช่วงแรกๆ เขาอาจจะลืมบ้าง บางครั้ง อาจต้องทำซ้ำให้ดู หลังจากที่เขาเชี่ยวชาญหรือมั่นใจแล้ว เขาจะทำได้ดี” ดวงนฤมลบอกถึงการสอนงานให้กับผู้ที่เป็นออทิสติกร่วมกับผู้พิการด้านอื่น

 

พิเศษที่ใส่ใจ

นอกจากความลงตัวในการแบ่งหน้าที่กัน และ “ความเป๊ะ” ของผู้ที่เป็นออทิสติก ร้านนี้ยังมีความพิเศษเรื่องการดูแลเอาใจใส่สิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานด้วยกันหรือลูกค้า ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็จะช่วยทำหมด โดยเฉพาะพนักงานออทิสติกที่ทุกคนเห็นตรงกันว่า เพราะความใสซื่อของพวกเขา ทำให้บรรยากาศในร้านมีแต่ความสุข โดยที่พวกเขาแค่ “เป็นอย่างที่ตัวเองเป็น”

“อยู่ฝ่ายขายครับ ดูแลเรื่องขาย เรื่องการตลาดครับ ก็จะกวาดหน้าร้าน บริการลูกค้า แล้วก็เช็ดถาด เช็ดเชลฟ์ ถ้าลูกค้าทำอะไรไม่ได้ ผมก็บริการช่วย ภาษามือผมก็ใช้ได้ ไทย อเมริกัน ญี่ปุ่น (ทำภาษามือ) อิรัชไชมาเซะ (ยินดีต้อนรับ)” อานิก เมฆพัฒนกิจ หรือ ซาโต้ หนุ่มวัย 21 ปี ที่เป็นออทิสติก เล่าถึงหน้าที่ “ฝ่ายขาย” ของตัวเองอย่างอารมณ์ดี

ทักษะเด่นบวกกับลักษณะนิสัยที่น่ารักของพนักงานพิเศษช่วยทำให้การทำงานกับคนหลายกลุ่มในร้านเบเกอรี่ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และยังเกินความคาดหมาย แม้กระทั่งตัวพนักงานที่เป็นออทิสติกเองก็ไม่เคยคิดว่า ตัวเองจะทำได้

"มาทำที่นี่เพราะที่นี่เขาเห็นความสำคัญของเด็กพิเศษมากกว่า ที่เก่าเป็นตัวใครตัวมัน ไม่มีคนช่วย ตอนแรกก็กลัวอยู่นะคะ แต่พอทำไปทำมา หนูก็เริ่มไม่กลัวแล้วค่ะ เริ่มมั่นใจในตัวเอง” ป๊อป ฝ่ายขายวัย 22 เล่า โดยก่อนหน้านี้เธอเคยไปทำงานที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในแผนกเสื้อผ้า แต่ไม่มีความสุขเท่ากับอยู่ที่นี่ เวลานี้เธอเป็นพนักงานฟูลไทม์ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานเท่ากับพนักงานร้านสาขาอื่น โดยความสามารถหนึ่งที่ทุกคนเห็นในตัวป๊อปก็คือเรื่องทักษะการจดจำที่ทำได้ดีเยี่ยมและการขันอาสาช่วยเพื่อนด้วยกัน

“น้องป๊อป เขาความจำดี เขาก็ทำได้ปกตินะ รับเงิน จำราคาสินค้าได้ จำชื่อสินค้าได้ จัดหมวดหมู่ เรียงขนม แต่ก็อาจจะต้องฝึกอีกนิด เช่น 106 บาท ให้แบงค์พันกับ 6 บาท เขาก็จะไม่เข้าใจว่า เอามาทำอะไร เราก็ต้องอธิบาย เขาก็เข้าใจแล้ว แล้วเขาก็จะช่วยแคท (พนักงานผู้พิการทางร่างกาย)” สุภาภรณ์ เอื้อวัฒนานุกูล เทรนเนอร์ฝ่ายขายประจำร้านเล่า

ต่างคนต่างก็มีความพิเศษต่างกันไป ในขณะที่ป๊อปจำชื่อขนม และโค้ดสำหรับกดแคชเชียร์ได้อย่างดี แต่หนุ่มอารมณ์ดีอย่างซาโต้ก็อาจจะมีลืมบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาจะยอมรับในความผิดพลาดของตัวเองเสมอ

“โต้ เขาจะแตกต่าง เขาจำป้ายราคาสินค้าได้ แต่ไม่แม่น ถ้าลืม เขาก็จะพูดว่า ลืม ไม่เฉไฉ ไม่ดื้อ เขาก็บอกตรงๆ โต้ลืมแล้ว โค้ดสี่อะไร แต่เขาจะใจดี เวลาที่มีคนวีลแชร์มา เขาจะช่วย เข็นให้นุ่มมาก” สุภาภรณ์เล่า

ความเร็วในการทำขนม หรือความเนี้ยบในการทำความสะอาดของพนักงานพิเศษอาจจะไม่เท่ากับพนักงานคนอื่น แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ทั้งพนักงานด้วยกัน หรือเทรนเนอร์จะต้องตำหนิ เพราะการทำงานที่นี่ใช้ “ความเข้าใจ” ในสิ่งที่ทุกคนเป็นมาเป็นอันดับแรก

“อย่างซาโต้เขามา 11 โมง เขาก็มาช่วย เราไม่ได้บังคับอะไร เขาก็มาช่วยเอง เขาก็ไม่ช้านะ เขาทำได้ บางทีคนอื่นไปพัก ก็ให้น้องทำ แจงก็ทำขนมได้พอสมควร พัฒนาขึ้นเยอะ น้องเขาจะอยู่ช่วยทั่วไปเลย อาจจะช่วยเช็ดถาด ล้างอุปกรณ์ด้วย แต่จะไม่ให้น้องจับพวกมีด เรื่องทำขนมเขาก็จะเป็นมาอยู่ก่อน เพราะเคยฝึกงานแล้ว แต่มานี่ เขาก็ทำเพิ่มขึ้น เราก็คอยสอนเขาอีกที” ณัฐวัฒน์ จำปาแดง พนักงานฝ่ายผลิตวัย 28 ที่พิการทางด้านการเคลื่อนไหวเล่า

 

ขอเพียงโอกาส

“คิดว่าทำได้ แต่ไม่มีโอกาส พอมีโอกาสตรงนี้ก็ต้องรีบฉวย” วาณี วรรณประเสริฐ แม่ของจุ๊บแจงเอ่ย และเสริมถึงเหตุผลที่ให้จุ๊บแจงมาทำงานที่ร้านเบเกอรี่ว่า อยากจะให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะที่พัฒนาตัวเอง และในขณะเดียวกันก็มีรายได้ไปด้วย

แม้ที่ผ่านมา จะมีการสนับสนุนให้ผู้พิการในด้านต่างๆ ได้มีงานทำในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง ส่วนเด็กที่เป็นออทิสติกก็ยังไม่ค่อยมีการสนับสนุนให้เกิดการประกอบอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ปกครองอย่างวาณีจึงต้องอาศัยเครือข่ายของชมรมเด็กพิเศษในการมองหาโอกาสให้กับลูกตัวเองเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รู้จักโครงการตั้งร้านเบเกอรี่แห่งนี้ เธอก็ไม่ลังเลที่จะให้ลูกได้โชว์ฝีมือ

“เดือนที่แล้วเข้ากะสองโมง เดือนนี้เริ่ม 11 โมง ทำงาน 4 ชั่วโมง น้องก็ทำบางอย่างเป็น บางอย่างก็ไม่เป็น ตอนนี้ยังไม่เปิดร้าน ก็เลยทำไม่บ่อย แต่เคยไปฝึกแล้ว 3 เดือน ฝึกฝ่ายผลิต ที่สาขารามอินทรามาแล้ว อยู่ที่นั่นก็มีลูกค้าชอบเขาเยอะ” วาณีเล่า และบอกว่า ถ้าร้านเปิดแล้วในเดือนหน้า จุ๊บแจงน่าจะได้ฝึกทักษะมากขึ้นไปอีก

การเกิดขึ้นของเบเกอรี่กลางเมืองแห่งนี้อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยพูดแทนได้ว่า เด็กพิเศษ (รวมไปถึงคนพิการด้านอื่นๆ) ไม่ได้ด้อยเรื่องความสามารถในการทำงานเลย แถมยังสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้อีกด้วย

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) บอกไว้ว่า หากสร้างทักษะการทำงานที่เหมาะสมให้แก่เด็กที่มีความต้องการทางการเรียนรู้พิเศษได้อย่างน้อย 3 ปี เด็กพิเศษจะหาเลี้ยงตนเองได้ตลอดวัยทำงานนานถึง 45 ปี คิดเป็นรายได้รวมประมาณ 6 ล้านบาทต่อคน ปัจจุบันจึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้เด็กพิเศษประกอบอาชีพมากขึ้น เช่น มีหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเด็กพิเศษในวิทยาลัยสารพัดช่าง อย่างการฝึกทำพวงกุญแจ ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ทำเทียนหอม ซึ่งหากได้ประกอบอาชีพจริง เชื่อว่า ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มการมีส่วนร่วมในแรงงานของคนกลุ่มนี้จะสูงถึงเกือบ 60,000 ล้านบาท

ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์ประจำสาขาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการวิจัยแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ในสายอาชีพเพื่อการมีงานทำ อธิบายว่า จริงๆ แล้วเด็กกลุ่มออทิสซึ่ม (Autism) นั้นมีศักยภาพในการทำงานได้เหมือนปกติขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้นถนัดอะไร เช่น ถ้ารักทำอาหารก็จะเก่งไปเลย หรือชอบซ่อมนาฬิกาก็จะเก็บรายละเอียดได้ดีมาก เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้ทำงานที่เป็นอันตราย

"พวกเขาทำงานได้ ผู้ปกครองต้องพยายามให้เด็กรู้จักอดทน และฝึกใช้ชีวิตในสังคม เด็กออทิสติกมีระดับที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่เก่งไปเลย หรือาจต้องค้นหาอะไรที่เขาถนัด หากเด็กค้นพบตัวเองได้แล้ว ก็จะเอาดีทางด้านนั้นไปเลย และหากจะประกอบอาชีพ แค่เขาเก่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ต้องมีปัจจัยเรื่องสถานประกอบการมารองรับด้วย” ดร.ชนิศาบอก

จากบรรยากาศการเตรียมเปิดร้าน 60 PLUS BAKERY ที่มีแต่ความสุขและเสียงหัวเราะเคล้ากันไป ก็คงบอกได้ดีว่า ถ้าผู้ปกครอง สถานประกอบการ และสังคมมองเห็นและยอมรับในสิ่งที่ “คนพิเศษ” เป็น ก็ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน อย่างที่ดวงนฤมลบอกไว้ว่า

ในการทำงาน บางทีเราก็ไม่ได้ต้องการคนที่เก่งเสมอไป แต่เรายังต้องการคนที่เข้าใจเพื่อนร่วมงาน แล้วก็เอื้อเฟื้อกันด้วย

-หมายเหตุ ร้าน 60 PLUS BAKERY ตั้งอยู่บนถนนราชวิถี ใกล้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จะเริมเปิดให้บริการ วันที่ 11 ธันวาคม 2558