สะพานเหล็ก STAGE สุดท้าย?

สะพานเหล็ก STAGE สุดท้าย?

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของแหล่งขายเกมอันดับหนึ่งในดวงใจของใครหลายคน จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือนี่จะเป็น “ด่านสุดท้าย” ของ “สะพานเหล็ก”

การเดินหน้าจัดระเบียบคืนพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานครโดยเจ้าหน้าที่เขตพระนครและสัมพันธวงศ์ บริเวณคลองโอ่งอ่าง ติดประกาศราชการที่ระบุให้ผู้ค้าย่านสะพานเหล็กต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปภายใน 15 วัน หรือภายในวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เพื่อปรับปรุงพื้นที่ระบายน้ำได้กลายเป็นความประหวั่นพรั่นพรึงของผู้ค้า ทั้งตกใจ และคาใจ

ตกใจ...กับความเปลี่ยนแปลงที่หลายคนต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า แทบไม่ทันได้ตั้งตัว

คาใจ...กับแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งสิ่งที่ซ่อนเอาไว้ใต้พรมสำหรับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

โดยตามประกาศนั้นให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หากภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ทางกรุงเทพมหานครจะยืดเวลาให้อีก 7 วัน ไปจนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2558 จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดทันที โดยไม่มีข้อยกเว้น

15 วันนี้ จึงถือเป็น 15 วันที่มีความหมายกับชาวสะพานเหล็ก อย่างแท้จริง

 

ถามคน เล่น

ภาพทรงสี่เหลี่ยมหลากสีสันในจอโทรทัศน์ ประกอบเสียงดนตรีสนุกสนาน แน่นอน ยังมีเสียงเอฟเฟคทุกครั้งที่นิ้วสัมผัสปุ่มบังคับ และเมื่อกดสตาร์ทเกม การผจญภัยในโลกอีกใบก็เริ่มขึ้น

ตั้งแต่...

ภารกิจการช่วยเหลือเจ้าหญิงพีชของคู่พี่น้อง มาริโอ้และ ลุยจิให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของ คุปปะ

กดสูตร บนบน ล่างล่าง ซ้ายขวา ซ้ายขวา เอบี เอบี ซีเล็คท์ สตาร์ท เพื่อเป็นตัวช่วยในการบุกตะลุยของเหล่านักรบเดนตายอย่าง คอนทร้า

หรือจะเป็นวิธีหาถังพลังงาน (ถังE) เก็บสะสมไว้ให้ ร็อคแมนปราบ ดร.ไวลีย์และหุ่นของเขา

นอกจากนั้น ยังมี คณะละครสัตว์ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รถแข่ง มอเตอร์ไซด์วิบาก คิงคอง และอีกสารพัดเกมเท่าที่จะหามาเล่นกันได้

สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นความทรงจำที่ยังอวลอบอยู่ในความรู้สึกของคอเกมส่วนใหญ่ 

ถ้าถาม เบลล์-ธนาธิวรรธน์ พิมานสุทธิ์ ก็อยู่ในข่ายนี้ ไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ ทั่วไป

“มารวมตัวกันระหว่างญาติพี่น้อง สนุก ผ่านด่าน หัวเราะไปด้วยกัน คิดว่าหลายๆ คนก็มีช่วงเวลาแบบนี้นะครับ นึกย้อนกลับไปก็แอบอมยิ้มได้ทุกครั้ง” เขาพูดถึงเครื่องแฟมิคอมขนาดกะทัดรัดท่ามกลางรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะจากเกม 8 บิท เมื่อวันวาน

พอๆ กับแหล่งขายเกมอันดับต้นๆ ของเมืองไทยอย่าง “สะพานเหล็ก”

ด้วยความที่เป็นเด็กที่เติบโตในย่านนี้ เวลามีเกมอะไรออกใหม่ เบลล์มักจะเดินสำรวจตลาดก่อน ถ้าไม่ได้เกมสำหรับตัวเองมาเล่น ก็ได้เกมที่เพื่อนๆ ฝากซื้อ ตั้งแต่ยุคเครื่องแฟมิคอม หรือเกมตลับ ที่ต้องเป่าช่องเสียบ ไม่ก็ตัวเกมทุกครั้งที่จะเล่น เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมใส่หัวโปรเพื่อโหลดเกมจาก “โฟลบี้ ดิสก์” ก่อนจะเข้ามาสู่ยุคเพลย์สเตชั่น

“ต้องบอกว่าเป็นแหล่งที่คนเล่นเกมส่วนใหญ่จะรู้จัก เป็นเหมือนแหล่งรวมเรื่องเกี่ยวกับเกม มาไว้คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน”

ไม่ต่างจากหนุ่มออฟฟิศอย่าง สุนทร วิริยะเชษฐกุล ก็มักจะหาเวลามาเลือกเกมที่ชอบอยู่เสมอ

“ประมาณ 1-2 เดือนต่อครั้ง หรือไม่ก็ทุกทีที่มีเกมออกใหม่ครับ” เขาถือว่าเป็นคอเกมอีกคนหนึ่ง ที่เริ่มเล่นเรื่อยมาจนถึงเครื่องเพลย์สเตชั่น 4 ในปัจจุบัน

แต่ถึงอย่างนั้น เกมตลับ ก็ถือเป็นอีก “ไอเท็มลับ” สำหรับเจ้าตัวที่มักจะซื้อหาเอาไว้ทุกครั้งที่มีโอกาส คล้ายๆ อารมณ์คิดถึงอดีต

“สมัยก่อนแอบพ่อแม่ไปเล่น เขาคิดชั่วโมงละ 5 บาทไปเล่นกับพี่ชาย พอกลับมาก็จะโดนทำโทษ แต่ก็แอบไปเล่นอยู่เรื่อยๆ นะ” เขาเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ

สำหรับสะพานเหล็ก สุนทรบอกว่า ถ้าจะหาซื้อเกมถูก อย่างไรก็ต้องมาที่นี่

แน่นอนว่า ชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งสำหรับคอเกมนอกจากความเป็นอาณาจักรเกมตั้งแต่ยุค 8 บิท มาจนถึง PSP “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” ยังถือเป็นอีกสีสันหนึ่งของคนเดินสะพานเหล็กอีกด้วย

การศึกษาข้อมูลให้รอบด้านเสียก่อนที่จะเลือกหยิบเกมที่ชอบ หรือข้าวของที่ถูกใจ เพราะความเป็นย่านค้าขาย ไม่นับลูกล่อลูกชนของบรรดาพ่อค้า ยังมีออปชั่นนำเสนอเพื่อปิดดีลการขายให้เลือกมากมาย จึงกลายเป็นบทเรียนแรกๆ ที่คนมาเดินจะต้องพึงระลึกไว้เสมอ

แต่นั่น ก็ถือเป็นมนต์ขลังที่อยู่คู่กับอาณาจักรแห่งเกมอย่างสะพานเหล็กตลอดมา อย่างปฏิเสธไม่ได้

 

ย้อนวันวาน

แหล่งค้าขายที่ทั้งครบครัน และครบเครื่องเรื่องเกม ทำให้สะพานเหล็กขึ้นแท่น แหล่งขายเกมอันดับ1 ของประเทศไทย และถูกบอกเล่าจากคอเกมตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับคนค้าขายในย่านสะพานเหล็กแล้ว นั่นเป็นเพียงประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่เกิดขึ้นในย่านนี้เท่านั้น

“เมื่อก่อนตลาดที่นี่ก็เป็นตลาดขายของทั่วไปนั่นแหละ” ผู้ค้าเก่าแก่รายหนึ่งออกตัว

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 35 ปีก่อน ภาพความเป็นล็อคขายของที่แตกแขนงออกไปกว่า 20 สะพาน เพื่อรองรับผู้ค้ากว่าครึ่งพันที่มาจับจองทำกินกันอย่างทุกวันนี้ คงเป็นอะไรที่คนเก่าแก่ของสะพานเหล็กเองแทบนึกไม่ออก

“เมื่อก่อนที่นี่เป็นตลาดขายปลา ขายเสื้อผ้า ก็ตลาดสดนั่นแหละ มีอยู่แค่ 3 สะพาน สะพาน 1 สะพาน 8 และสะพาน 20 เท่านั้นแหละ” เธอย้อนภาพสะพานเหล็กเมื่อวันวาน

เหมือนอย่างที่ บุญศรี จีนนาชาติ เจ้าของร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาที่อาจจะดูแปลกตาสำหรับคอเกมที่เดินผ่านไปผ่านมา และอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาถึงมาตั้งอยู่กลางดงเกม ดงของเล่นอย่างนี้ คำตอบของเธอก็คือ เพราะปีนี้ ร้านเปิดมาได้กว่า 30 ปีแล้ว

“พี่สาวเขาชวนมาขายจากสมุทรปราการ เราก็ตามมาด้วย ตอนนั้นตรงนี้เป็นร้านขายปลาเรียงติดกันเลย 10 ร้าน” ก่อนจะทยอยหายหน้าไปจนเหลือร้านบุญศรีอยู่เพียงร้านเดียว

อันที่จริง ตัวตลาดสะพานเหล็กถือเป็นตลาดที่มีผู้ค้าวางแผงตั้งของค้าขายกันมาอยู่แล้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2526 ทางการได้มีการ “จัดระเบียบ” ผู้ค้าย่านคลองถม โดยมีการย้ายผู้ค้าเหล่านั้นมาอยู่ที่นี่ จึงทำให้สะพานเหล็กเริ่มคึกคักขึ้น และพื้นที่บริเวณนี้ก็ถูกพัฒนาเรื่อยมา จาก 3 สะพานก็ขยับขยายเป็น 20 สะพาน แผงค้าปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 300 แผง

“คนค้าขายเปลี่ยนตามยุคสมัยนะ” เจ้าของร้านคนเดิมตั้งข้อสังเกต

เธอมองว่า ถือเป็นธรรมดาของคนค้าขาย อะไรซื้อง่ายขายคล่อง พ่อค้าแม่ค้าก็มักจะไปหามาไว้กับร้านของตัวเองเพื่อเรียกลูกค้า จากแผงปลา ตลาดผัก ก็เริ่มมีไลน์สินค้าชนิดอื่นๆ เพิ่มเข้ามา นานวันเข้าเมื่อเจ้าของแผงเปลี่ยนมือ คาแร็กเตอร์ของตลาดก็เปลี่ยนไปจนกลายสภาพมาเป็นแหล่งขายเกมเหมือนอย่างในปัจจุบัน

“ตามหลักการตลาดนั่นแหละ อะไรขายดีเขาก็ซื้อหามาขายกัน ช่วงหลังๆ เกมเป็นที่นิยม พ่อค้าแม่ค้าก็ไปเอามาขายกัน จนกลายเป็นที่รู้กันว่า ถ้าอยากซื้อเกมต้องมาที่นี่” เธอบอก

ถึงวันนี้ เกมจะเปลี่ยนมาเป็นของเล่น รูปแบบตลาดก็ไม่ได้เปลี่ยนไป คาแร็กเตอร์ความเป็นตลาดก็ยังคงเป็นตลาดอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่อาจจะเกิดคำถามกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่มาเดินที่นี่ว่า ทำไมถึงเจอร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลา ร้านเสื้อผ้า มาอยู่ท่ามกลางร้านขายเกม และร้านขายของเล่นอย่างนี้ได้

 

สุดทาง สะพานเหล็ก?

“ทำอะไรครับ” เสียงใครบางคนตะโกนถามขึ้น หลังได้ยินเสียงลั่นชัตเตอร์

ไม่แปลก เพราะนี่ยังไม่ใช่เวลาเปิดร้านของที่นี่ ที่สำคัญ ห้วงยามของข่าวลือกำลังแพร่สะพัดไปต่างๆ นานา พฤติกรรมของคนแปลกหน้า จึงมักสร้างความเคลือบแคลงให้กับชาวสะพานเหล็กได้ง่าย

ครั้งนี้ก็เหมือนกัน

“ที่นี่มีแต่คนค้าขายนะคะ” เสียงแรกๆ บนโต๊ะแถลงข่าวในนามตัวแทนผู้ค้าสะพานเหล็กถูกส่งให้บรรดาสื่อมวลชนที่มารอทำข่าว

ข้อแก้ต่างนี้จำเป็นต้องถูกเอ่ยขึ้นบนโต๊ะเพราะตั้งแต่ติดป้ายประกาศของกรุงเทพมหานคร ที่นี่ก็เต็มไปด้วย “ข่าว” หลากกระแส หลายประเด็น ตั้งแต่เหง้ารากชีวิตของผู้ค้า ไปจนถึงปมผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล

เวลา 15 วันดูเหมือนจะเป็นอะไรที่คาใจ ไชยวัฒน์ พุฒพนาทรัพย์ และธัญญา สุรวุฒินาค ในฐานะ “ตัวแทนผู้ค้าสะพานเหล็ก” พอสมควรทั้งในแง่ของการให้ขอบเขตเวลา หรือกระทั่งกระบวนการเจรจาทำความเข้าใจ

“มูลค่าการค้าของที่นี่มีความสำคัญ และได้รับผลกระทบมากนะครับ” ไชยวัฒน์เล่าถึงระลอกคลื่นไล่หลังจากป้ายประกาศของกรุงเทพมหานคร

“เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครไม่เคยลงพื้นที่มาพูดคุยหรือสอบถามความคิดเห็น แต่กลับนำป้ายคำสั่งรื้อถอนมาติดที่หน้าร้านและด้านนอก ทำให้สินค้าที่สั่งเข้ามาขายออกไม่ทัน” ผู้ค้าหลายๆ คนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน

ประเด็นที่ทางกรุงเทพมหานครหยิบขึ้นมาคัดง้างเรื่องความชอบธรรมในการยื่นมือเข้ามานั้น อยู่ตรงการแก้ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ที่สะสมมาหลาย 10 ปี ซึ่งคูเมืองเดิมอย่างคลองโอ่งอ่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2519 นั้นถูกสิ่งปลูกสร้าง “รุกล้ำ” และ “บดบัง” จนเต็มพื้นที่

โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2540 ได้มีแนวคิดการอนุรักษ์และพัฒนาคลองโอ่งอ่างเป็นมติคณะรัฐมนตรีขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง จนเวลาล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ ที่หลายคนยอมรับว่า น่าจะเดินมาสุดทางแล้วจริงๆ

“ถึงเวลาจริงๆ ก็คงต้องย้ายน่ะค่ะ” พนักงานร้านเกมแห่งหนึ่งในสะพานเหล็กยอมรับ พอๆ กับยังไม่รู้ว่า การทำมาหากินหลังจากนี้จะทำอย่างไร

เพราะสะพานเหล็กไม่ได้กระทบแค่คนในย่านเท่านั้น แต่ยังหมายถึงชีวิตของผู้คนที่อยู่รอบนอกด้วย ถึงทางกรุงเทพมหานครจะเตรียมที่ทางเอาไว้ให้บางส่วนแล้วก็ตาม

“มันก็ต้องดูว่า เทียบกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ใหม่มันหักลบกันแล้วเหลือเท่าไหร่ ถ้าค่าใช้จ่ายเพิ่มเราก็กระทบเหมือนกัน” ยี่ปั๊วอย่าง พลบชาย มุ่งดี ที่ผูกปิ่นโตกับร้านค้าของเล่นที่นี่มองความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่ อารุณี วุฒิสันเทียะ เจ้าของร้านซ่อมอุปกรณ์เกมยืนยันว่า ไม่ว่าอย่างไรก็กระทบ เพราะร้านซ่อมเกมก็อาศัยร้านขายเกมถึงจะอยู่ได้ ซึ่งภายในย่านนี้มีไม่ต่ำกว่า 20 เจ้า

“มันก็เป็นของคู่กันน่ะค่ะ ยังไงก็ต้องอยู่ด้วยกัน” เธอยิ้มเจือนๆ

แม้ว่าช่องทางตามกฎหมายจะเปิดช่องเอาไว้ให้ผู้ค้าสะพานเหล็กสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีมหาดไทย หรือฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ ซึ่งทางกลุ่มผู้ค้าจะรวมตัวกันดำเนินการอุธรณ์ตามกรบวนการทางกฎหมาย แต่หากพูดกันตามตรง หากเป็นไปได้พวกเขาก็อยากจะให้กระบวนการยุติธรรมเป็นกุญแจดอกสุดท้ายที่จะใช้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพราะโดยส่วนใหญ่ยังมองว่า พอจะมีช่องทางพูดคุยกันได้อยู่ เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการดำเนินการทางนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเท่านั้น

“เป็นไปได้ก็อยากจะขอความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ด้วยนะคะ” ธัญญายอมรับตามตรงระหว่างตั้งโต๊ะแถลงข่าว

ถ้าเป็นเกม...

ป้ายประกาศของกรุงเทพมหานครที่ติดอยู่บริเวณเชิงสะพานดำรงสถิตคงเป็นเหมือน ด่านสุดท้ายที่คนดูก็ลุ้นว่า ตอนจบของเกมนี้ จะได้เห็นฉากจบที่สวยงามเป็น “The End” หรือ “Game Over” กันแน่