"Cup of Excellence" มาแล้ว ปักหมุด! ประกวดสุดยอด "กาแฟไทย"
"Cup of Excellence" หนึ่งในมหกรรมการแข่งขันประเมินคุณภาพกาแฟพิเศษที่มีชื่อเสียงที่สุดรายการหนึ่งของโลก จนเรียกได้ว่านี่คือออสการ์ของวงการกาแฟ กำลังจะมีการแข่งขันขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เรียกว่าเป็น "Best of Thailand 2022" ถือเป็นการยกระดับ "กาแฟไทย"
Cup of Excellence เป็นหนึ่งในมหกรรมการแข่งขันประเมินคุณภาพ กาแฟพิเศษ ที่มีชื่อเสียงที่สุดรายการหนึ่งของโลก เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1999 ที่ประเทศบราซิล จนถึงบัดนี้ก็ 23 ปีเข้าไปแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นเวทีคัดสรรสุดยอดกาแฟของแต่ละแหล่งปลูก ผ่านทางการชิมเพื่อทดสอบคุณภาพของกาแฟหรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆในวงการว่า คัปปิ้ง (cupping) ในระดับที่เข้มข้นและเข้มงวดจากคณะผู้เชี่ยวชาญระดับโปรเฟสชั่นแนลทั้งจากประเทศผู้ผลิตและจากต่างประเทศ ที่จัดว่าโหดหินแต่โปร่งใสและแม่นยำมากที่สุดเวทีหนึ่ง
การจัดแข่งขันเพื่อเฟ้นหาสุดยอดกาแฟตามมาตรฐาน "Cup of Excellence (CoE)" ที่เน้นความสำคัญสูงสุดกับมาตรฐานกลิ่นรสกาแฟ ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ออสการ์โลกกาแฟ" ถือเป็นรางวัลใหญ่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกที่ส่งกาแฟเข้าแข่งขันเพื่อประเมินวัดคุณภาพในแต่ละปี
การประเมินคุณภาพกาแฟของเวที Cup of Excellence ถือว่าโหดและหินมากๆ / ภาพ : Battlecreek Coffee Roasters on Unsplash
แต่ไม่ใช่งานง่ายๆ เลย เพราะกาแฟ 30 ล็อตแรกที่มีคะแนนคัปปิ้งสกอร์ 87+ ขึ้นไปเท่านั้น จึงจะได้รับการันตีว่าได้ติดสัญลักษณ์ CoE บนถุงกาแฟล็อตนั้นๆ มีการจัดอันดับ Rank ตามคะแนนที่ได้ ก่อนถูกนำออกประมูลทางออนไลน์ในฐานะสุดยอดกาแฟของประเทศนั้นๆ เช่น Best of Colombia, Best of Ethiopia, Best of Costa Rica และ Best of Thailand ...!
ใช่ครับ Best of Thailand ไม่ได้เขียนผิดแต่ประการใด เพราะกำลังจะมีการแข่งขันขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เรียกว่าเป็น "Best of Thailand 2022" ตามเจตนารมณ์ของทีมงาน ACE & CoE ที่แถลงผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางขององค์กรไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปีแรกจะอยู่ในรูปของการประกวดแบบโปรเจกต์พิเศษไปก่อน เป็นการปูทางไปสู่การจัดแบบเต็มตัวในปีต่อๆ ไป
ทีมงาน ACE & CoE แถลงเปิดการแข่งขันโปรเจกต์พิเศษ Best of Thailand 2022 / ภาพ : www.instagram.com/cupofexcellence
ทีมงาน ACE & CoE ระบุเหตุผลไว้ใน www.facebook.com/bestofthailandcoe ว่า อุตสาหกรรมกาแฟของไทยเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นของราคาสารกาแฟและราคาเมล็ดกาแฟขายปลีกที่สูงขึ้น แต่เกษตรกรที่ปลูกกาแฟก็ยังลำบากและรายได้ไม่สูงมากแม้ว่าราคากาแฟจะสูงขึ้นก็ตาม เป้าหมายของเราคือคอยผลักดันช่วยเหลือให้เกษตรกรผ่านการแข่งขัน Cup of Excellence เพื่อทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการพัฒนากาแฟ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดสำหรับกาแฟของเกษตรกรเหล่านั้น
ท้ายที่สุดเป้าหมายของเราคือ การสร้างแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในการผลิตกาแฟสำหรับเกษตรกรที่กำลังพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขา "คุณภาพกาแฟต้องเท่ากับคุณภาพชีวิต"
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทีมงาน ACE & CoE ได้เตรียมโครงการพิเศษในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการ Pilot Cup of Excellence Best of Thailand เป็นโครงการนำทางสู่โปรแกรม Cup of Excellence Thailand เต็มรูปแบบในอนาคต เราหวังว่าด้วยโครงการดีๆ แบบนี้ จะสามารถช่วยเกษตรกรในประเทศไทยและนำกาแฟที่ตื่นตาตื่นใจมาสู่ผู้ซื้อทั่วโลก
ทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นเสมอ...คำประกาศนี้สร้างความ "ฮือฮา" ไปทั่ววงการกาแฟพิเศษของไทย ทำเอาหลายๆ คนตื่นเต้นกันยกใหญ่ รวมไปถึงตัวผู้เขียนเองด้วย หลังจากพัฒนาคุณภาพอย่างพิถีพิถันและประคบประหงมมาหลายปีดีดัก ในที่สุด การรอคอยก็สิ้นสุดลง...กาแฟไทยมีโอกาสได้รับการประเมินคุณภาพจากองค์กรระดับโลก จากนี้ไปไม่แน่ว่ากาแฟไทยอาจถูกนำไปใช้บนเวทีการประกวดชงกาแฟในระดับสากลก็เป็นได้ เช่น รายการบาริสต้าชิงแชมป์โลก เป็นต้น
ธุรกิจกาแฟพิเศษเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดกาแฟระหว่างประเทศ / ภาพ : Photo by Michael Burrows on pexels
การแข่งขันประเมินคุณภาพกาแฟพิเศษของ "Cup of Excellence" เป็นโปรแกรมที่กำหนดมาตรฐานต่างๆ โดยองค์เอกชนไม่หวังผลกำไรที่ชื่อว่า "Alliance For Coffee Excellence" แปลตรงตัวได้ความว่า พันธมิตรเพื่อความเป็นเลิศของกาแฟ เนื่องจากชื่อยาวและจำยากสักหน่อย จึงมักเรียกกันสั้นๆว่า ACE องค์กรนี้มีฐานที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา นอกจากคอยเฟ้นหาความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมกาแฟแล้ว ยังสร้างแฟล็ตฟอร์มขึ้นมาเพื่อประมูลกาแฟทางออนไลน์พร้อมกันทั่วโลกอีกด้วย
ACE จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาในปีค.ศ. 2002 หลังการประมูลกาแฟบราซิลในรูปแบบ CoE ผ่านไปแล้ว 3 ปี เนื่องจากความสำเร็จในบราซิล จึงต้องการให้มีองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดการแข่งขันให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น และขยายการรับรู้ออกสู่ต่างประเทศ มีสมาคมกาแฟพิเศษบราซิลเป็นผู้ให้การสนับสนุน หลังจากผู้ผลิตกาแฟในประเทศถูกสบประมาทว่าทำกันแต่กาแฟเกรดคอมเมอร์เชียล
สำหรับขั้นตอนการแข่งขันแบบสรุปคร่าวๆ นั้น เริ่มต้นด้วยการเปิดรับสารกาแฟจากเกษตรกรผู้ปลูกทั่วประเทศ จากนั้นก็ตรวจกายภาพสารกาแฟเป็นการคัดเลือกเบื้องต้น แล้วจึงเข้าสู่การประเมินคุณภาพอย่างเข้มข้น ด้วยการคัปปิ้งหลายครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อความชัวร์ โดยช่วงแรกเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิเศษภายในประเทศนั้นๆ เรียกว่า National Jury โดยกาแฟล็อตไหนได้คัปปิ้งสกอร์ 86+ ก็ได้เข้ารอบต่อไป
ช่วงสองเป็นหน้าที่การประเมินของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ (International Jury) เพื่อคัดเลือกกาแฟที่มีคะแนนคัปปิ้งสกอร์ 87+ เพียง 30 ล็อตเท่านั้น ให้เข้าสู่รอบ Cup Of Excellence บางปีไม่ครบ 30 ก็มีขึ้นอยู่กับคะแนน ส่วนกาแฟล็อตที่หลุดจากรอบนี้ไป จะได้รับตำแหน่ง National Winner ในรอบต่อไปก็จะเป็นการคัดเลือกให้เหลือ 10 อันดับ มีการจัด Rank กันตรงรอบนี้แหละ กาแฟที่ได้คะแนนสกอร์ 90+ จะได้รับรางวัล President’s Award ซึ่งเป็นงานหินมากๆ แต่หากมีไร่ไหนได้ไปครอบครอง รับรองเหมือนถูก “แจ๊คพอต” ราคากาแฟพุ่งขึ้นปรู๊ดปร๊าด
เพื่อสร้าง "ความโปร่งใส" ในการตัดสินแต่ละรอบ จะมีคณะบุคคลที่มิได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแข่งขันเข้าร่วมสังเกตุการณ์ด้วย และในรอบ International Jury ผู้ทำหน้าที่ประเมินจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังคัปปิ้งกาแฟตัวไหนหรือเป็นกาแฟของใครเลย ผู้เขียนเคยอ่านเจอแล้วก็ชื่นชอบคำสรุปนี้มากๆ นั่นคือ แม้การประมูลกาแฟ CoE เป็นแบบเปิดกว้าง แต่การประเมินคุณภาพกาแฟที่ร่วมประกวดเป็นแบบปิด
ข้อมูลของ CoE ระบุว่า ในการประเมินคุณภาพกาแฟของบางประเทศ มีการส่งกาแฟเข้าประกวดถึง 150 ล็อต นั่นหมายความว่า จะต้องมีการคิปปิ้งกันถึง 8,720 ครั้งทีเดียว กว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นสุดยอดกาแฟท็อปสกอร์สูงสุด
เมื่อได้ผู้ชนะเลิศรอบสุดท้ายแล้ว ก็จะประกาศผล และกำหนดวันออกประมูลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต
พูดง่ายๆ ก็คือ หน้าที่ของ CoE ช่วยคัดสรรกาแฟท้องถิ่น ประทับตราคุณภาพจากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ สร้างช่องทางไปถึงมือผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดโลก แล้วราคากาแฟแต่ละล็อตที่ประมูลกันส่วนใหญ่ก็สูงทีเดียว สูงกว่าวิธีขายแบบเดิมๆ หลายเท่า เรียกว่าทุบสถิติสูงสุดกันแทบทุกปี
ยกตัวอย่างการประมูลกาแฟ CoE เป็นครั้งแรกของเอกวาดอร์ จำนวน 23 ไมโครล็อต ทำเงินจากการประมูล 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาเฉลี่ย 33.55 ดอลลาร์ต่อปอนด์ (0.45 กิโลกรัม) กาแฟท็อปสกอร์ของการประกวด มีบริษัทไต้หวันบิดซื้อไปในราคา 97.10 ดอลลาร์ต่อปอนด์
จำนวน 25 ล็อต ปรากฎว่าได้เงินกว่า 540,000 ดอลลาร์ ราคากาแฟตกเฉลี่ย 30.79 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ทุบสถิติเดิมของกาแฟเอธิโอเปียที่ทำไว้ 28.44 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นอกจากนั้น กาแฟติดท็อปสกอร์สูงสุดได้คะแนนถึง 90.61 เป็นสายพันธุ์เกชา/เกอิชา จากฟาร์ม Obraj มีการประมูลกันไปในราคา 135.10 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ผู้ซื้อได้แก่ บริษัท เค วี เอ็น อิมปอร์ต เอกซ์ปอร์ต (1991) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายกาแฟสดคั่วบด ภายใต้ชื่อ "อโรม่า กรุ๊ป" หนึ่งในแบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ของบ้านเรา
กาแฟ CoE COLOMBIA RANK 1 กับคะแนนคัปปิ้งสกอร์ 90.61 ที่ อโรม่า กรุ๊ป ชนะประมูลไปเมื่อปีที่แล้ว / ภาพ : www.facebook.com/hariocafebkk
ปัจจุบัน เวทีประกวดแข่งขันของ CoE จัดขึ้นในหลายแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียง เริ่มจากบราซิล ในปีค.ศ.1999 ตามมาด้วยกัวเตมาลา, นิการากัว, เอลซัลวาดอร์, ฮอนดูรัส, โบลิเวีย, โคลอมเบีย, คอสตาริก้า, รวันดา, บุรุนดี, เม็กซิโก, เปรู และเอธิโอเปีย จะเห็นว่ามีเพียงสองทวีปเท่านั้น ละตินอเมริกาและแอฟริกา ในปีค.ศ.2021 ก็มีเพิ่มเข้ามา 2 ประเทศคือเอกวาดอร์และอินโดนีเซีย นับรวมแล้วก็ 15 ประเทศพอดี
อินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านไทย กลายเป็น "แหล่งปลูกแรก" ในทวีปเอเชียที่ได้เข้าร่วมมหกรรมการประกวดกาแฟรายการนี้
เคสของอินโดนีเซียก่อนจะเข้าสู่ "Cup of Excellence" ในปีที่แล้วนั้น ก็มีโปรเจกต์พิเศษมาเช่นเดียวกับบ้านเรา โดยจัดขึ้นเมื่อต้นปีค.ศ. 2019 ที่อาเจะห์ มีสมาคมกาแฟพิเศษอินโดนิเซียกับรัฐบาลท้องถิ่นอาเจะห์ เป็นโต้โผจัดงานร่วมกันทีมงาน ACE & CoE หลังจากนั้นก็มีแผนเปิดการแข่งขันแบบเต็มตัวเป็นครั้งแรกในปีค.ศ 2020 แต่บังเอิญ สมาคมกาแฟพิเศษประสบปัญหาด้านการ "ระดมเงินทุน" จำต้องเลื่อนการจัดออกไป มาจัดกันใหม่พร้อมประกาศผลไปแล้วเมื่อช่วงต้นปีนี้เอง
อินโดนีเซีย เป็นแหล่งปลูกกาแฟแห่งแรกในเอเชียที่เข้าร่วม Cup of Excellence / ภาพ : www.instagram.com/cupofexcellence
หากว่าสมาคมกาแฟพิเศษของแต่ละประเทศมีภารกิจหลักในการยกระดับมาตรฐานกาแฟที่ผลิตในแต่ละแหล่งปลูก ACE & CoE ก็คงมีหน้าที่ช่วยเฟ้นหาความเป็นเลิศด้านกาแฟของประเทศนั้นๆ อีกแรง เข้าใจว่าในโปรเจกต์นำร่อง "Best of Thailand" ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด อาจมีสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) เกี่ยวข้องด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในบราซิลเอง นอกจากมีการประกวดสุดยอดกาแฟที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างสมาคมกาแฟพิเศษกับ CoE แล้ว ยังจัดการแข่งขันชิงรางวัล "Coffee of The Year" ในงานเทศกาลสัปดาห์กาแฟสากลที่มีขึ้นเป็นประจำทุกปีอีกด้วย ไม่มีกฎหมายบังคับให้แต่ละประเทศจัดการประกวดกาแฟได้เพียงรายการเดียว
ในปานามา มีสุดยอดกาแฟ "Best of Panama" เหมือนกัน ไม่ได้จัดโดยองค์กรต่างประเทศ แต่อยู่ในความรับผิดชอบของสมาคมกาแฟพิเศษปานามาที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ค.ศ.1996 มีระบบประเมินคุณภาพ, คัปปิ้ง และประมูลออนไลน์ เช่นเดียวกับ CoE จนกระทั่งปีค.ศ. 2004 การปรากฎโฉมขึ้นของกาแฟสายพันธุ์"เกชา/เกอิชา ปานามา" จากไร่ฮาเซียนด้า ลา เอสเมอรัลดา ก็ส่งผลให้ทั้งกาแฟ,ฟาร์มกาแฟ และเวทีประกวดโด่งดังเป็นพลุแตกมาจนถึงทุกวันนี้
ในประเทศไทยที่ "Cup of Excellence" กำลังเกิดขึ้น ถามใจผู้เขียนว่าคาดหวังอะไรมากที่สุด
จริงๆ ก็อยากรู้ว่ากาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าที่มีการผสมยีนของสายพันธุ์โรบัสต้าเข้าไปซึ่งปลูกกันมากของบ้านเราอย่าง "คาติมอร์" ในแบบซิงเกิล ออริจิ้น จะมีพื้นที่ให้โชว์ตัวบนเวทีการประกวดโปรเจกต์พิเศษ Best of Thailand 2022 ได้มากน้อยขนาดไหน หรือจะยังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกาแฟไทยต่อไปในอนาคตได้หรือไม่
หมายเหตุ : ติดตามความเคลื่อนไหวของการแข่งขัน Pilot Cup of Excellence Best of Thailand ได้ที่เฟซบุ๊ก www.facebook.com/bestofthailandcoe