สรุปประเด็น 'ดอกหญ้า อีบุ๊ก' พักกิจการ! แถมโดนแบนจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

สรุปประเด็น 'ดอกหญ้า อีบุ๊ก' พักกิจการ! แถมโดนแบนจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

สรุปประเด็นดราม่าวงการน้ำหมึก "ดอกหญ้า อีบุ๊ก" แจ้งหยุดพักกิจการ และถูกแบนไม่ให้จัดกิจกรรมในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กรุงเทพธุรกิจ สรุปมาให้

กรณี "ดอกหญ้า อีบุ๊ก" แจ้งหยุดพักกิจการ ลามมาสู่ดราม่าวงการน้ำหมึกต้อนรับ "งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นจัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้ โดยสร้างความสับสนให้แก่นักอ่านรวมถึงสาธารณะอยู่ไม่น้อย ว่าเกิดอะไรขึ้น?

เมื่อสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ออกประกาศ "ไม่ให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22"

โดยระบุข้อความดังนี้

แถลงการณ์สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

"ตามที่ บริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด และผู้เกี่ยวข้อง ได้กระทำผิดระเบียบสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในการออกบูทและจองเวทีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ซึ่งได้นำไปสู่การสร้างความเสียหายให้แก่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และสมาชิก รวมถึงสร้างข้อมูลที่สับสนเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ  ของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปรากฏผู้รับผิดชอบของบริษัทอย่างแท้จริง

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีมติตัดสิทธิ์การออกบูทและทำกิจกรรมทั้งหมด แต่ทางบริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด และผู้เกี่ยวข้องยังปิดบังอำพราง ใช้วิธีหลบเลี่ยงโดยอ้างชื่อให้สมาชิกสำนักพิมพ์อื่นจองเวทีกลางในการจัดกิจกรรมแทน อันสะท้อนความไม่โปร่งใสและไม่ตรงไปตรงมา

ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จึงขอประกาศว่า ไม่ให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52ฯ และขอสงวนสิทธิ์การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นในทุกกรณี ทั้งกับบริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด และผู้แสดงตัวว่าเป็นตัวแทนดำเนินกิจการไม่ว่าผู้ใด

ทั้งนี้ หากมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลดังกล่าวข้างต้น ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
วันที่ 25 มีนาคม 2567"

"เกิดอะไรขึ้นกับ ดอกหญ้า อีบุ๊ก" ?

คำถามนี้ อาจผุดขึ้นในใจของหลายคน กรุงเทพธุรกิจ พาย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น โดยต้องเข้าใจเสียก่อนว่า "ดอกหญ้า อีบุ๊ก" ไม่ใช่ "ร้านหนังสือดอกหญ้า" ในความทรงจำของนักอ่านเจน X , เจน Y ทั้งหลาย ที่น่าจะคุ้นกับสโลแกน ​"เพียงแวะเข้ามาชม​ เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ" กันได้อย่างดี ซึ่งปัจจุบัน ร้านหนังสือดอกหญ้าเหลือเพียงตำนาน หลังจากสาขาสยามสแควร์ปิดตัวลงในปี 2560 จนเป็นไวรัลในหมู่นักอ่านที่ใจหายกับการจากไป

กระทั่ง ผ่านมา 6 ปี “ดอกหญ้า” กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งในชื่อของ "ดอกหญ้า อีบุ๊ก" เมื่อ 13 พ.ย. 66 โดย อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ได้โพสต์ในกลุ่ม "นักเขียนนิยาย" บอกเล่าถึงแผนการปัดฝุ่นดอกหญ้ากลับมาใหม่อีกครั้ง โดยทำการ "ซื้อแบรนด์ดอกหญ้า" มาพัฒนาต่อในชื่อของ "ดอกหญ้า อีบุ๊ก"

ส่วนหนึ่งของข้อความที่โพสต์ระบุว่า 

"...ผมกำลังพัฒนา​ e-Book​ Platform​ ให้เป็นมากกว่าการขายหนังสือบนออนไลน์​ Beyond​ The​ Bookstore​ โดยมีนักลงทุนที่ต้องการสร้างสรรค์สังคมเข้ามาสนับสนุนร่วมลงทุน ผมได้ขอซื้อแบรนด์ร้านหนังสือดอกหญ้าที่เคยได้รับความนิยมในอดีต​ มาใช้ในชื่อ Dokya​ eBook​ วางไทม์ไลน์จะเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติช่วง​ 29มี.ค.-8เม.ย.2567..."

  • 25 พฤศจิกายน 2566 : Dokya​ eBook​ Open​ House

กระทั่ง "ดอกหญ้า อีบุ๊ก" (Dokya​ eBook) ได้ฤกษ์เปิดตัวโดยจัดงาน "Dokya​ eBook​ Open​ House" เปิดบ้านต้อนรับนักเขียน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ณ Jim Thompson Art Center ซึ่งมีนักเขียนหลากรุ่นหลายแนวเดินทางมาร่วมงาน

ในครั้งนั้น อดิศักดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด ได้กล่าวแนะนำความเป็นมา Dokya eBook และแรงบันดาลใจในการพัฒนาแพลตฟอร์มร้านหนังสือออนไลน์ ให้เป็นมากกว่าร้านขายหนังสือออนไลน์ เพื่อกระตุ้นการอ่านการเขียน และสร้างชุมชนนักเขียนรุ่นใหม่ เพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์

"เป็นงานท้าทาย การฟื้นแบรนด์ร้านหนังสือดอกหญ้าที่ปิดตัวไปกว่า 20 ปี แต่ชื่อดอกหญ้ายังอยู่ในใจทุกคน​ หลายคนยังจดจำสโลแกนเดิมได้​ เพียงแวะเข้ามาชม​ เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ" อดิศักดิ์ กล่าว

พร้อมเปิดเผยถึงแผนการปั้นแพลตฟอร์มดังกล่าวว่า จะเปิดลงทะเบียนในช่วงต้นเดือน​ มีนาคม 2567 และในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (29 มีนาคม-8 เมษายน 2567) จะมีการเปิดบูธเพื่อเปิดตัว​อย่างเป็นทางการ​ พร้อมประกาศรางวัลการประกวด 3 กิจกรรม และเปิดตัวหนังสือใหม่จากบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายวงการอีกประมาณ 20 เล่ม

  • 17 กุมภาพันธ์ 2567 : อดิศักดิ์ ประกาศลาออก จาก ดอกหญ้า อีบุ๊ก

หลังจากกิจกรรมต่างๆ ของ ดอกหญ้า อีบุ๊ก ดำเนินไป อาทิ โครงการประกวดนวนิยาย เมื่อวันที่ 20 ก.พ.67 อดิศักดิ์ ได้ประกาศว่า ตนได้ลาออกจากบริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด โดยมีผลตั้งแต่ 17 ก.พ.66 โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ส่วนหนึ่งของข้อความระบุว่า 

"...ผมได้ยื่นใบลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการบริษัทและพนักงาน ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยเหตุผลแนวทางธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกันกับผู้บริหารระดับสูงและผู้ถือหุ้นใหญ่..."

สรุปประเด็น \'ดอกหญ้า อีบุ๊ก\' พักกิจการ! แถมโดนแบนจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

  • 29 กุมภาพันธ์ 2567 : Dokya Ebook เปลี่ยนเพจใหม่ 

หลังจากการลาออกของซีอีโอบริษัทฯ ดอกหญ้าอีบุ๊ก ได้เปลี่ยน URL เพจใหม่ โดยยังคงใช้ชื่อเดิม ขณะที่เพจ Dokya Ebook เดิม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักพิมพ์อะแดป ครีเอชั่น AdapCreation เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2024 

  • 21 มีนาคม 2567 : ดอกหญ้า อีบุ๊ก แจ้งหยุดพักกิจการชั่วคราว

ทั้งนี้ ที่นำมาซึ่งความสับสนและพูดถึงในแวดวงหนังสืออย่างมาก ก็คือ การประกาศหยุดพักกิจการชั่วคราว เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร ของบริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด รวมถึงยืนยันว่า จะเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม Dokya eBook ที่ยังไม่แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด ซึ่งทั้งหมดจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด

ในข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า

"บริษัท ดอกหญ้าอีบุ๊ก จำกัด ขอเรียนชี้แจงถึง การหยุดพักกิจการชั่วคราว เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร พร้อมดำเนินแผนงานต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และ จะเปิดใหม่ทันที หลังจากแก้ปัญหาเสร็จสิ้นลง

ทั้งนี้ ภารกิจที่เร่งดำเนินการ ได้แก่ การปรับรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีกรรมการบริษัทลาออก การเปลี่ยนแปลงหนังสือจดทะเบียนสำคัญของบริษัท พร้อมรายชื่อผู้มีอำนาจบริหารชุดใหม่ รวมทั้งเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม Dokya eBook ที่ยังไม่แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด ซึ่งทั้งหมดจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด......."

ดอกหญ้า อีบุ๊ก หยุดพักกิจการ

ดราม่า "ดอกหญ้า อีบุ๊ก" เกี่ยวกับ งานสัปดาห์หนังสือฯ อย่างไร?

จุดเริ่มต้นความเกี่ยวพันของดราม่า ระหว่าง ดอกหญ้า อีบุ๊ก , อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ และ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ นั้น เป็นเรื่องของการจองบูธออกร้านในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 ซึ่งอยู่ในโพสต์เดียวกันกับที่ ดอกหญ้า อีบุ๊ก แจ้งหยุดพักกิจการชั่วคราว

โดยส่วนหนึ่งระบุว่า.. 

"สำหรับกรณีที่ “ดอกหญ้าอีบุ๊ก” ไม่สามารถร่วมออกบูธในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 ได้ เนื่องจากอดีตซีอีโอ ได้ทำจดหมายขอยกเลิกการจองพื้นที่ จำนวน 17 บูธ ไปถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายแห่งประเทศไทย ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ลงมติยกเลิกบูธและคืนเงินให้ผู้จ่ายเต็มจำนวน 

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการประกาศและมอบรางวัลการประกวดของดอกหญ้าอีบุ๊กบางโครงการ ยังจะมีขึ้นบนเวทีกลางต่อไป..." 

  • 23 มีนาคม 2567 : อดิศักดิ์ ชี้แจง ปมดราม่า จองบูธงานสัปดาห์หนังสือ

เมื่อถูกพาดพิง อดิศักดิ์ จึงได้โพสต์ชี้แจงอีกครั้ง ในวันที่ 23 มี.ค.67 เนื่องจากโพสต์ดังกล่าวของดอกหญ้า อีบุ๊ก เกี่ยวกับการจองบูธงานสัปดาห์หนังสือฯ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดจากบุคคลอื่นๆ​ จนทำให้ตนเองเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยสรุปไทม์ไลน์ ดังนี้

- 2 ก.พ.67​ : อดิศักดิ์ถูกขอให้โอนเงิน 760,240 บาท จากบริษัทที่เป็นเพื่อนของตน "แทน" ดอกหญ้า​ อีบุ๊ก เพื่อจ่ายค่าบูธ​ 17​ บูธในงานสัปดาห์หนังสือฯ ในวันสุดท้ายของกำหนดการจ่ายเงิน

- 16 ก.พ.67 : อดิศักดิ์ ได้ทำหนังสือถึงสมาคมฯ ขอยกเลิกการจองบูธ หลังจากทราบว่า ผู้บริหารบางคนในบริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด ได้แจ้งกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยว่า ไม่ประสงค์จะออกบูธฯ เพราะความไม่พร้อมหลายประการ ตนเองจึงทำหนังสือไปเพื่อจะขอเงินค่าบูธคืนให้ตัวแทนที่จ่ายเงินไปก่อนหน้า

- 17 ก.พ.67 : อดิศักดิ์ ทำหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการจากทุกตำแหน่งใน ดอกหญ้าอีบุ๊ก

- 28 ก.พ.67 : สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ออกเช็คคืนเงินค่าบูธเต็มจำนวน ให้บริษัทฯที่ชำระเงินแทน ดอกหญ้า อีบุ๊ก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

- 15 มี.ค.67 : อดิศักดิ์ ทำหนังสือถึงกรรมการและทนายผู้ทำการแทน บริษัท ดอกหญ้าอีบุ๊ก จำกัด ให้ดำเนินการนำชื่อของตนเองออกจาก "กรรมการ" ในเอกสารจดทะเบียนบริษัทฯ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเร็ว

.. และทั้งหมด คือ ไทม์ไลน์เหตุการณ์ ก่อนที่ สมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จะออกประกาศ "ไม่ให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22" ตามที่เล่าไว้ข้างต้นในวันนี้