ปั้น 'นักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น' คนดูแลใจใกล้ชุมชน
ในยุคที่คนไทยต้องเผชิญมรสุมที่ถาโถมทั้งโรคร้าย ปัญหาปากท้อง แต่กลับพบว่า นักบริการด้านสาธารณสุขในไทยมีอยู่น้อยมาก โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ สร้าง "นักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น" ในฐานะคนดูแลใจใกล้ชุมชน
เวลาที่เผชิญ ภาวะซึมเศร้า ผิดหวังกับการใช้ชีวิต การมีใครสักคนใกล้ตัว เข้ามาดูแล "ใจ" ในวันที่อาจจะ "เผชิญ" กับความรู้สึกซึมเศร้า คอยระวังไม่ให้เกินลิมิต หรือให้คำแนะนำต่างๆ โดยไม่ต้องถึงขั้นพบแพทย์ก็คงจะดีไม่น้อย ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าว จุดประกายการขับเคลื่อนงานป้องกัน ปัญหาสุขภาพจิต เชิงรุกให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่าย จัดสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น เน้นความสามารถเข้าใจจิตใจตนเองและจิตใจบุคคลรอบข้าง
สำหรับเป้าหมายโครงการนี้ มุ่งควบคุมหรือลดปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ โดยให้ความสำคัญการแลกเปลี่ยนการทำงานเพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอสาธารณะให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทดูแลคนในพื้นที่และกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งผลจากการดำเนินงานและความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่น 5 ภูมิภาค 10 พื้นที่ต้นแบบเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสุขภาพจิตเชิงรุก ได้ถูกถ่ายทอดและถอดบทเรียนผ่านการจัด "เวทีสานพลังส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น ครั้งที่ 1" เมื่อเร็วๆ นี้
รู้จัก นสช.
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มมาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยการตั้งต้นว่า ต้องการช่วยคนทั่วไปที่ยังไม่ได้เจ็บป่วยด้วย ปัญหาสุขภาพจิต แต่อาจมีแนวโน้ม ด้วยการเข้าไปเติมวัคซีนใจ เป็นการเติมพลังการใช้ชีวิตท่ามกลางความยากลำบาก โดยมีการทำงานที่แบ่งเป็น 2 กลไกหลัก คือ 1. การมี มสช. เชื่อมโยงและสานพลังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ หน่วยงานด้านสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาสังคมชุมชนท้องถิ่น และอื่นๆ 2. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตคนในพื้นที่ทุกช่วงวัยแบบเชิงรุก แต่อีกหนึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการนี้ยังมีเป้าหมายไปถึงการพัฒนาสร้าง "นักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น" หรือ นสช. ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยด้วย
"ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบริการด้านสาธารณะสุขน้อยมาก โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต ซึ่งหากไม่พึ่งพิงบุคลากรแพทย์หรือที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่มีจำนวนไม่มากนักในไทย แล้วก็แทบมองไม่เห็นใครที่จะรับบทบาทนี้เลย โดยในวันนี้หลายผลสำรวจชี้ชัดว่าคนไทยกำลังมีความสุขน้อยลงกว่าที่ผ่านมา ด้วยมรสุมต่างๆ ที่ถาโถมอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิกฤติภัยธรรมชาติ โรคร้าย ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องไปจนถึงความสัมพันธ์ของที่มีช่องว่างห่างเหินมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องไปสร้างมดงานเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน" ชาติวุฒิ กล่าว
ชาติวุฒิ กล่าวต่อไปว่า บทบาทหน้าที่สำคัญของ นสช. คือ การสอดส่อง สังเกต ส่งต่อ ดูแล เช่น การคอยสังเกตสอดส่องว่าใครมีแนวโน้มมี ปัญหาสุขภาพจิต ก็สามารถช่วยเหลือได้ทัน หรือบางกรณีมีคนที่เคยรับการบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวช รักษาหายแล้ว กลับมาชุมชนหรือบ้านก็ควรจะมี นสช. คอยช่วยดูแลในเรื่องการรับประทานยา และทำงานร่วมกับครอบครัว หรือแม้แต่ประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐ เพื่อรักษาสถานการณ์หรือป้องกันปัญหาต่างๆ เมื่อกรณีมีผู้ป่วยเกิดคุ้มคลั่ง เพื่อรักษาความปลอดภัยชุมชนให้รุนแรงน้อยที่สุด
"สำหรับ นสช. เราไม่ได้ต้องการวุฒิการศึกษาขั้นสูงหรือต้องจบปริญญาตรี แต่เป็นใครก็ตามที่มีแพสชันในการทำงานเรื่องการส่งเสริมสุขภาพจิต แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจเป็น อสม. ที่เขามีความเชี่ยวชาญสุขภาพจิตเรื่องชุมชนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีเราอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่ระบบให้ได้มากขึ้น อาจต้องมีการขึ้นทะเบียนในระยะยาว ซึ่งในสี่ห้าปีข้างหน้าเราหวังว่า นสช. ควรเป็นบุคลากรมีอัตรากำลังจ้างงานได้ แต่สำหรับวันนี้จากการดำเนินโครงการใน 10 พื้นที่นำร่องดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยมี นสช. ร้อยกว่าคนแล้ว แต่ในระยะยาวยังจำเป็นต้องเพิ่ม นสช. ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับการถอดบทเรียนโครงการนี้ เราเลือกกลุ่มที่มีความหลากหลายรูปแบบการทำงาน เพื่อให้เกิดความหลากหลายและนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมกับบริบทได้" ชาติวุฒิ กล่าว
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561 - 2580) มียุทธศาสตร์สำคัญคือ ส่งเสริมคนทั่วไปและเด็กให้มีความฉลาดทางอารมณ์ เสริมสร้างให้คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต มีทัศนคติที่ดีต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช จากการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่า กลุ่มคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป ช่วงวัยเยาวชน (15 - 24 ปี) มีคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าวัยอื่น ขณะที่คะแนนสุขภาพจิต 5 ด้าน พบว่า ด้านปัจจัยสนับสนุนสูง 82.0 % ด้านสภาพจิตใจที่มีความรู้สึกไม่ดี มีคะแนนมากที่สุด คิดเป็น 88.6% ด้านที่อ่อนแอที่สุดคือ ด้านสมรรถภาพของจิตใจ 64.3% ซึ่งองค์ประกอบนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ควรมุ่งพัฒนาสมรรถภาพของจิตใจเป็นหลัก
"ความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่นทั้ง 5 ภูมิภาค 10 พื้นที่ ที่ได้ดำเนินโครงการและสร้างต้นแบบในด้านกลุ่ม อปท. กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มกลไกทางศาสนา และกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพ จะถูกถ่ายทอดเป็นโมเดลขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อให้การสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น" นพ.ศิริศักดิ์ กล่าว
วัยสูงอายุโอเกะโมเดล
พิจิตร เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบการดูแลสุขภาพใจผู้สูงวัย เกิดขึ้นที่ อบต.วังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ที่นี่มี 6 หมู่บ้าน แต่มีสัดส่วนผู้สูงวัยถึง 1 ใน 4 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมให้ส่งเสริมสุขภาวะ ผู้สูงอายุ ในหมู่บ้านต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมใดๆ ก็เหมือนยังไม่โดนใจผู้สูงอายุ ให้ห่างหายจากความซึมเศร้า
วิภา สายทอง ตัวแทนคณะทำงานของสูงวัยโอเกะโมเดล กล่าวว่า ผู้สูงอายุจะเหมือนเด็ก มีความสนใจไม่นาน ไม่ค่อยมีสมาธิ บางครั้งไม่ชอบสิ่งที่เราเสนอให้ เวลาเบื่อก็จะมีบ้างที่จะแกล้งบ่นปวดขา ปวดนู่นนี่ไปเรื่อย จึงลองเอาคาราโอเกะมาเป็นกิจกรรม ซึ่งนอกเหนือจากการร้องรำทำเพลงที่พวกเขาชื่นชอบแล้ว ผู้นำท้องที่ท้องถิ่นเองก็จะทำกับข้าวมาเลี้ยงผู้สูงอายุ โดยประยุกต์เอาข้าวของเครื่องใช้ในวันวาน ทั้งจานข้าวสังกะสี ปิ่นโต แก้วไม้ไผ่ ได้รำลึกดื่มด่ำบรรยากาศย้อนยุคในอดีตอีกครั้ง
"เขาลิสต์เพลงกันมาเองเลย นี่จบโครงการไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์แล้วก็ยังมาถามไถ่อยากให้จัดต่อ แต่ควบคู่ไปกับกิจกรรมความบันเทิง ทางโครงการยังมีกิจกรรมสันทนาการตามหลักสุขภาพดีด้วย 3 อ. สอดแทรกตลอดต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อฟื้นฟูดูแลสุขภาพสูงวัยในชุมชน" วิภา กล่าว
3 ประสานบ้าน วัด รัฐ เพื่อสุขภาพจิต ที่ผักไหม
จันทรา หาญสุทธิชัย ในฐานะแกนนำ กล่าวว่า เราเน้นเรื่องเศรษฐกิจด้วย โดยจะมีการออมบุญทุกเดือน มีการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุโดย นสช. ทุกวัน ก็มีพระเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำกองทุนออมบุญ 50 บาท ซื้อผ้าอ้อมผู้สูงอายุผู้ป่วยติดเตียง และอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุอยากได้มากที่สุด คือการเชิดชูยกย่อง กลายเป็นที่มาหนึ่งชุมชนหนึ่งปัญญาท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบัน อบต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ มีผู้สูงอายุกว่า 2,000 พันคน ทั้งติดบ้าน ติดเตียงและติดสังคม ทาง อบต.ร่วมดำเนินการต่อเนื่อง โดยสนับสนุนงบประมาณ จัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ผู้สูงอายุร่วมกับเยาวชนสร้างบรรยากาศอบอุ่น ห่างไกล ภาวะซึมเศร้า โดยยังให้โรงเรียนจัดทำสุขภาพจิตดีด้วยคีตะมวยไทย และแอโรบิค รวมถึงจัดตั้งโรงเรียนภูมิปัญญาท้องถิ่นนำผู้สูงอายุเป็นผู้สอน เป็นทั้งครูสมุนไพร ครูจักสาน ครูปราชญ์ชาวบ้าน สะท้อนแนวทางบริหารจัดการตนเองของชุมชนแท้จริง
ลิ้นจี่โมเดล สุขภาพจิตดีด้วยพลังบวร
นิพนธ์ เงินคงพันธ์ ตัวแทนหน่วยบริการสุขภาพ รพ.สต. บ้านคลองเหมืองใหม่ สมุทรสงคราม กล่าวเสริมว่า เราทำงานสุขภาพจิตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำงานสุขภาพกายให้แข็งแรงด้วย การที่คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ประชาชนต้องสามารถดูแลตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ และชุมชนดูแลประชากรตัวเองได้ นำมาสู่โครงการ "ลิ้นจี่โมเดล การจัดการคุณภาพชีวิตด้วยพลังบวร." ที่เกิดจากการบูรณาการงบประมาณ งานโครงการต่างๆ สร้างภาคีบวร ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียนขึ้น มีการนำสมาชิกชุมชนมาตรวจสุขภาพทุกช่วงวัย
"คีย์หลักเกิดจากประชาชนไม่ได้เกิดจากหมอ เน้นการใช้ทรัพยากรจำกัดให้สูงสุด เพราะเรารู้ว่าทรัพยากรเราน้อยมาก นำมาสู่การสร้างรูปแบบการดำเนินงานในแต่ละโครงการที่ดำเนินการผ่านกลไกพลังบวรเยียวยาทุกกลุ่มวัย พร้อมหาพลังชุมชนมาปั้นเป็น นสช.ในชุมชนต่อไป" นิพนธ์ กล่าว
นิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจพบกลุ่มวัยเด็กมีภาวะซึมเศร้า 13% โดยพบปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กซึมเศร้าคือ ขาดอาหารเช้า ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ เราจึงใช้วิธีพาเข้าวัดด้วยพลังบวร นำผู้สูงอายุมาเป็นศูนย์กลางจนเกิด "สามวัยเข้าใจวัยใส" เอาพ่อแม่ ผู้สูงอายุ และเด็กมานั่งพูดคุยกัน สร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจ โดยในปี 2566 การดำเนินการยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ชุมชนยังเน้นส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยเพื่อสุขภาพ ยกระดับสู่ชุมชนสุขภาพ และสร้างทีมงาน ตลอดจนวางรากฐานการพัฒนาระบบการดูแล เพื่อให้มี selfcare family care และ community care สุขภาวะดีครบ 3 มิติ
ศรีธัญญา กับ 3 ส โมเดล
"สอดส่อง ใส่ใจ และส่งต่อ" คือคีย์เวิร์ดง่ายๆ สั้นๆ เพียงสามคำ แต่สะท้อนบทบาทหน้าที่การดูแลสุขภาพจิตชุมชนได้อย่างลึกซึ้ง เห็นได้จากการลงชุมชนในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดย วรวิปรียา ภูณรงค์ ในฐานะหัวหน้าทีม Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team จากโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่พบคนไข้เร่ร่อนจำนวนมาก และทาง อสม. เอง ก็ไม่มีความรู้เรื่องสุขภาพจิตมากนัก ประชาชนขาดความรู้เรื่องสุขภาพจิต คนที่ป่วยด้านสุขภาพจิตก็จะไม่ได้รับการดูแล เพราะชาวบ้านไม่รู้ ญาติไม่มีศักยภาพในเรื่องการนำส่ง เนื่องจากฐานะยากจน คนไข้ก็มา รพ.ไม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นทางหน่วยงานท้องที่และท้องถิ่นเองไม่เคยสื่อสารระหว่างกันเลย ทำให้ไม่รู้ว่าจะให้ใครจะช่วยได้ ทำให้ไม่ได้รับการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขทั่วถึง
"เราไม่ได้ลงไปเยี่ยมอย่างเดียว แต่ให้องค์ความรู้ไปด้วย เพราะเขาไม่มีองค์ความรู้เลย ตอนเยี่ยมบ้านเราเอาทุกคนลงไปกับเรา สสจ. ทีม อสม. พมจ. ทุกคนลงไปเยี่ยมบ้านพร้อมกันหมด ก็พบปัญหาจริงตามที่เราได้สำรวจความต้องการมาหนึ่งเดือน และการเยี่ยมทุกอาทิตย์ยิ่งพบปัญหามาก โชคดีที่ทีมงานมีเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า Smart Pulse เป็นนวัตกรรมที่ช่วยประเมินสุขภาพจิตสำหรับประชาชนเบื้องต้น ด้วยเทคนิคทางการแพทย์ที่มีการรับรอง ทำให้ได้รับการยอมรับและได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากยิ่งขึ้น" วรวิปรียา กล่าว
วรวิปรียา กล่าวต่อไปว่า ผลจากการทำงานลงพื้นที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้เคสที่เคยถูกส่งต่อมาที่ โรงพยาบาลศรีธัญญา เดือนละประมาณ 50 ราย ลดลงเหลือเพียง 2 เคสต่อเดือน เนื่องจากผลลัพธ์ของการได้รับประเมินสุขภาพจิตตั้งแต่แรก แล้วให้การช่วยเหลือทันทีตั้งแต่แรก ทำให้เขาไม่เครียด ไม่เศร้า และไม่เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา
"เรามองว่า การทำงานครั้งนี้จะไม่ได้ผลถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชน ทางโรงพยาบาลมีหน้าที่แค่ส่งเสริมสนับสนุนเท่านั้น" วรวิปรียา กล่าว
สุุขภาพจิตดีได้ในโรงเรียน
ชาญวิทย์ โวหาร เล่าถึงโมเดลสุขภาพจิตโรงเรียน : ลดปัญหาการถูกรังแกและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน โดยมูลนิธิบุญยงค์-อรรณพ นิโครธานนท์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเด็กและเยาวชนใน จ.ปทุมธานีว่า จากการให้เด็กเยาวชนทำแบบสอบถามทั้งหมด 489 ชุด ใน 5 โรงเรียนใน จ.ปทุมธานี พบว่า เด็กมีปัญหาความเครียดหรือไม่มีความสุขต่ำกว่าเกณฑ์เด็กที่มีความสุขระดับทั่วไป ทั้งด้วยปัจจัย ปัญหาเศรษฐกิจ ของครอบครัว จากพ่อแม่ ปัญหาความสัมพันธ์เรื่องเพศ และจากการโดนรังแก ไปจนถึงการถูกรังแกในโลกออนไลน์
"สิ่งที่เราพบคือ การมีพื้นที่สร้างสรรค์ในโรงเรียน ให้เด็กกล้าแสดงออก มีการแก้ปัญหาเรื่องการถูกรังแก และลดช่องว่างเด็กกับผู้ปกครองได้มาเจอกัน รวมถึงการพัฒนาครูสร้างครูที่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับเด็ก โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นครูแนะแนวก็ได้ เพียงมีความเข้าใจ รวมถึงควรมีการผลักดัน นสร. หรือนักส่งเสริมสุขภาพจิตโรงเรียน ร่วมกับครู โดยโครงการฯ ผลักดันให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น การทำโครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สร้างคุณค่าหรือช่วยให้เด็กมีความเพิ่มคุณค่าทางจิตใจของตัวเอง อีกทั้งการสร้างรายได้เพิ่ม หนุนเสริมการสร้างรายได้ครัวเรือนของเด็กนักเรียน เป็นต้น" ชาญวิทย์ กล่าว
พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวสรุปถึงความสำเร็จภาพรวมของโครงการฯ ใน 10 พื้นที่ ประกอบด้วย 1. เกิดนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น จำนวน 100 คน 2. เกิดแกนนำส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน จำนวน 400 คน และ 3. การขยายผลสู่แผนพัฒนาท้องถิ่นและโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตในท้องถิ่นจำนวน 4 พื้นที่ เช่น อบต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้บรรจุโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตในแผนพัฒนาตำบล
"นอกจากนี้ ยังมีโมเดลส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น 10 โมเดล ขณะเดียวกัน ผลความสำเร็จของโครงการคือ เวทีสานพลังการส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียนการทำงาน และร่วมพัฒนาข้อเสนอแนะในการยกระดับและขยายผลการดำเนินงานของชุมชนท้องถิ่นในการส่งเสริมสุขภาพจิตคนไทยต่อไป" พงศ์ธร กล่าวทิ้งท้าย