‘มาตาลดา’ ละครที่ดีต่อใจ และมีส่วนผสม LGBTQ+ ไม่มากไป

‘มาตาลดา’ ละครที่ดีต่อใจ และมีส่วนผสม LGBTQ+ ไม่มากไป

มาตาลดา ละครช่อง 3 ที่กำลังมาแรง แม้เรตติ้งจะสู้ "ฤทัยบดี" ละครพีเรียด ช่อง 7 ไม่ได้ แต่มีหลายประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศ และการมองโลกบวกๆ 

มาตาลดา ละครช่อง 3 ที่เพิ่งออกอากาศไปได้ไม่กี่ตอน ละครเรื่องนี้เลือกเปิดตัวในช่วง Pride Month (มิถุนายน 2023) และไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่ความหลากหลายทางเพศอย่างเดียว 

แม้ประเด็นหลักจะเป็นเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดจากพ่อแม่ไม่ปลื้มที่มีลูกเป็น LGBTQ+ แล้วรับไม่ได้ที่ลูก(พ่อเกรซ)เลือกเพศสภาพแบบนั้น จึงขับไล่ออกจากบ้าน จนมาตาต้องมาประสานรอยร้าว พาพ่อเกรซกลับมาหาอาก๋งอาม่า โดยเส้นเรื่องหลัก เป็นเรื่องความรัก ความเข้าใจ ความสุขที่เลือกได้และน่าจะเลือกได้  

ละครเรื่องนี้เป็นของผู้จัดละคร จ๋า-ยศสินี ลูกสาวมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช ผลิตในนามบริษัท เมคเกอร์ วาย จำกัด หลายปีที่แล้วเธอเคยทำละครพีเรียดเรื่องแรกสร้างความฮือฮาไปแล้วในซีรีส์ชุด“สุภาพบุรุษจุฑาเทพ”เรื่อง “คุณชายธราธร” 

มาตาลดาเป็นบทประพันธ์ของ“ณัฐณรา” เขียนบทโทรทัศน์โดย “สคริปต์ เมคเกอร์” กำกับการแสดงโดยนักแสดงมากฝีมือ“ปวันรัตน์ นาคสุริยะ”

‘มาตาลดา’ ละครที่ดีต่อใจ และมีส่วนผสม LGBTQ+ ไม่มากไป

มาตาลดา เรื่องบวกๆ เบาๆ 

เรื่องย่อมีอยู่ว่า “มาตาลดา” ถูกเลี้ยงดูด้วยความรักและความเอาใจใส่จากพ่อเกรซ (ชาย ชาตโยดม) เจ้าของ The Cage บาร์ชื่อดังในพัทยา ที่พาลูกสาวหนีมาอยู่ที่พัทยาตั้งแต่ยังเล็ก เพราะโดนพ่อและแม่ “เปา” และ “เฟิน” ไล่ออกจากบ้าน ตัดขาดจากความเป็นพ่อลูก

เพียงเพราะเขาไม่ใช่ผู้ชาย และเพื่อนๆ กลุ่มLGBTQ+ วีนัส (โกโก้ กกกร อดีตนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องสตรีเหล็ก ปี 2543 ) คิตตี้ (ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร) และอีกหลายคนในคณะโชว์ ช่วยกันเลี้ยงมาตา( เต้ย จรินทร์พร) มาด้วยความรักและความเอาใจใส่

และการย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ของมาตาทำให้เธอได้พบกับ ‘ปุริม’ หรือ ‘เป็นหนึ่ง’ (เจมส์ จิรายุ) ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก แต่ดูท่าทางคุณหมอคนเก่งจะเป็นชายไร้หัวใจ เก็บกดและติดอยู่ในโลกของความอ้างว้าง เพราะครอบครัวไม่ใช่เซฟโซนและบ้านก็ไม่เคยเป็นสถานที่ที่ให้ความสุขกับเขาได้

‘มาตาลดา’ ละครที่ดีต่อใจ และมีส่วนผสม LGBTQ+ ไม่มากไป

 

‘มาตาลดา’ ละครที่ดีต่อใจ และมีส่วนผสม LGBTQ+ ไม่มากไป

มาตาลดา ละครที่ดีต่อใจคนดู
สิ่งที่น่าสนใจของละครเรื่องนี้คือ พ่อเกรซ (ชาย ชาตโยดม)เลือกเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้ลูกเห็น แม้ไม่ได้เป็นชายแท้ ก็เลือกเป็นคนดีได้ จึงเลี้ยงลูกแบบไม่สปอย ให้ความรักและความเข้าใจ ทำให้เห็นว่า เพศสภาพที่เลือกไม่ใช่อุปสรรคในการเลี้ยงลูก

หลังจากที่ละครเรื่องนี้ออกอากาศไปได้ไม่นาน มีหลายคนพูดถึง ฉากที่ต้นน้ำ เพื่อนมาตาในวัยเด็กล้อเลียนว่า "มีพ่อเป็นตุ๊ด" มาตาไม่ชอบ จนเกิดเหตุทะเลาะกัน ครูจึงเรียก ทั้งสองคน รวมถึงพ่อของมาตาและพ่อของต้นน้ำมาไกล่เกลี่ย ในตอนหนึ่งพ่อเกรซพูดกับลูกว่า

“ในโลกเราเนี่ยนะลูก มีคนหลากหลายเพศเต็มไปหมดเลย ไม่ใช่แค่ผู้ชายกับผู้หญิงนะลูก แต่ทุกคนเป็นคนธรรมดาเหมือนๆ กันหมดเลย บางวันก็หงุดหงิด บางวันก็ใจดี แต่เพศเนี่ยไม่ได้เกี่ยวกับการที่ใครคนใดคนนึงจะเป็นคนดี หรือไม่ดีเลยนะลูก"

"คำว่าตุ๊ดไม่ใช่คำหยาบ ถ้าใจเราไม่ได้เหยียด”

‘มาตาลดา’ ละครที่ดีต่อใจ และมีส่วนผสม LGBTQ+ ไม่มากไป

นอกจากนี้ยังอีกฉากหนึ่ง ตอนที่พ่อเกรซสอนเด็กหญิงมาตาว่า ให้ลูกจำ 3 ข้อนี้ไว้ ซึ่งเป็นอีกไฮไลท์ของเรื่อง.. 

  • 1. มาตาต้องฝึกอดทนเอาไว้ก่อน ถ้าทนไหวก็ปล่อยมันไปได้ไหม
  • 2. ถ้าทนไม่ไหว มาตาห้ามทำอะไรที่ทำให้เสียใจทีหลัง หรือทำอะไรที่รุนแรงและผิดกฎหมาย
  • 3. ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มาตาจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง

แม้จะเป็นเรื่องยากที่เด็กจะเข้าใจ แต่ก็เอาเถอะ อย่างน้อยๆ ละครคงต้องการสื่อสารกับคนดูและขอย้ำว่า เรื่องนี้เป็นละครที่มีส่วนผสมที่ลงตัว ไม่มากไปกับเรื่องราว  LGBTQ+ ดูเหมือนน้องหมาจะเป็นตัวเด่นของเรื่องซะด้วย และไม่ใช่แค่นั้นยังมีฉากน่ารักๆ อีกหลายฉาก ตอนที่คุณหมอสอนมาตาทำเค้ก หรือกินบะหมี่ข้างทาง ฯลฯ 

‘มาตาลดา’ ละครที่ดีต่อใจ และมีส่วนผสม LGBTQ+ ไม่มากไป

ในเรื่องนี้'ชาย ชาตโยดม'ที่รับบทพ่อเกรซ ได้รับคำชมเชยอย่างมากว่า แสดงได้ดี หรือเต้ย นางเอกที่รับบทมาตา แสดงได้เป็นธรรมชาติ มีความสวยในแบบของเธอ ซุ่มซ่ามในหลายครั้ง ขี้เล่นในบางจังหวะ

ละครเรื่องนี้จึงดีต่อความรู้สึก ไม่ยัดเยียดเรื่องราวกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือเรียกร้องสิทธิอะไรมากมาย เลือกที่จะเดินเรื่องในแบบบวกๆ 

เพราะโลกนี้ไม่ได้มีแค่ผู้หญิงและผู้ชาย ยังมีคนหลากหลายทางเพศที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยกรอบความเชื่อบางอย่าง

............... 

ชมละคร “มาตาลดา” ได้ทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.30 น. ทางช่อง 3

‘มาตาลดา’ ละครที่ดีต่อใจ และมีส่วนผสม LGBTQ+ ไม่มากไป