‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม

‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม

“คิ้วคือมงกุฎของใบหน้า” เป็นวลีที่สายบิวตี้ได้ยินกันมาทุกยุคทุกสมัย แต่ปัจจุบัน “คิ้ว” เป็นได้มากกว่านั้น เพราะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้อุตสาหกรรมความงาม และแวดวงธุรกิจเสริมสวย

Key Points:

  • ธุรกิจร้านเสริมสวยในปัจจุบันไม่ได้มีแค่แต่งหน้าทำผมเท่านั้น แต่การดูแลและตกแต่ง “คิ้ว” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทำรายได้ดี เพราะได้รับความสนใจจากสายบิวตี้เสมอมา
  • “คิ้ว” กลายเป็นอวัยวะที่ทรงอิทธิพลด้านความงาม ก่อกำเนิดธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งยังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมความงามได้ทั้งระบบผ่าน “แบรนด์เครื่องสำอาง” ต่างๆ
  • “Anastasia Beverly Hills” และ “Benefit Cosmetics” เป็นแบรนด์ลำดับต้นๆ ที่มีชื่อเสียงในด้านผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคิ้วโดยเฉพาะ ซึ่งสร้างเม็ดเงินให้แบรนด์ได้อย่างมหาศาล

ย้อนไปไม่กี่ปีก่อนหน้านี้สาวๆ มักเข้า “ร้านเสริมสวย” เพื่อไปทำผม แต่งหน้า หรือทำเล็บ แต่ในตอนนี้การเสริมสวยให้ “คิ้ว” ก็กำลังมาแรงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น บริการสัก, แว็กซ์คิ้ว, ตกแต่งทรงคิ้ว ฯลฯ ทำให้อุปกรณ์และเครื่องสำอางสำหรับตกแต่งคิ้วได้รับความนิยมไปด้วย เช่น ดินสอเขียนคิ้ว (เนื้อครีม เนื้อเจล เนื้อฝุ่น), มาสคาร่าแต่งทรงคิ้ว, กรรไกรตัดแต่งคิ้ว และมีดกันคิ้ว เป็นต้น

จึงไม่แปลกที่เรามักได้ยินวลีที่ว่า “คิ้วคือมงกฎของใบหน้า” เพราะถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การแต่งหน้าออกมาดูดี หรือแม้แต่คนที่แต่งหน้าไม่เก่ง แต่ถ้าคิ้วสวยได้รูปก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ถึงหน้าสดก็ยังรอด ดังนั้นธุรกิจเกี่ยวกับการดูแล “คิ้ว” จึงผุดขึ้นมาทุกหย่อมหญ้า และปัจจุบันความนิยมในการดูแลคิ้วก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น

  • เมื่อ “คิ้ว” สร้างความยิ่งใหญ่ ให้อุตสาหกรรมความงาม

ปัจจุบันนี้ ธุรกิจความงามเกี่ยวกับ “คิ้ว” ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจาก CNN ระบุว่า ขนาดของตลาด “เจลเขียนคิ้ว” เพียงอย่างเดียวมีมูลค่ามากถึง 264.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 431.7 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2031 นอกจากนี้ในการวิจัยตลาดของ Allied ซึ่งสำรวจโดย The Benchmarking Companyในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 73% ของผู้บริโภคในสหรัฐซื้อทั้งผลิตภัณฑ์แต่งหน้าสำหรับขนตา และผลิตภัณฑ์หรือเครื่องมือเขียนคิ้ว เพิ่มขึ้น 66% จากปี 2018

บางคนอาจสงสัยว่า แล้วธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับคิ้วมีจุดเริ่มต้นมาจากไหน? กรุงเทพธุรกิจจะพาย้อนไปดูว่าเรื่องของ คิ้ว มีประวัติความเป็นมา และพัฒนาการอย่างไรบ้าง

  • เป็นไปได้ไง.. ทำไมวงการธุรกิจเกี่ยวกับ “คิ้ว” ถึงไปไกลสุดๆ?

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันหน่อย ทำไม “คิ้ว” จึงมีความสำคัญ? เรื่องนี้ Jared Bailey (จาเร็ด เบลีย์) ผู้อำนวยการอาวุโส ด้านการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ของ Benefit อธิบายว่า “คิ้ว สามารถสร้างความสมดุลและสัดส่วนให้กับใบหน้าและดวงตาได้” กล่าวคือ คิ้วสามารถช่วยให้ดั้งจมูกชัดขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ใบหน้าดูเต็มหรือกลมขึ้นได้ด้วย เรียกได้ว่าการวาดหรือเขียนคิ้วช่วยสร้างมิติบนใบหน้าได้เช่นเดียวกับการคอนทัวร์ใบหน้า

เมื่อย้อนกลับในยุค “อียิปต์โบราณ” ก็พบว่าเริ่มมีการเขียนคิ้วกันแล้ว! ซึ่งคิ้วในสมัยนั้นจะใช้คาร์บอนสีดำเพื่อทำให้คิ้วดูหนาและมีความโดดเด่น โดยมีต้นแบบมาจากเทพเจ้าฮอรัส ต่อมาเมื่อถึงช่วงยุค “เรอเนซองส์” เทรนด์ก็เปลี่ยนมาเป็นการเขียนคิ้วทรงโค้ง หลังจากนั้นในปี 1920 การเขียนคิ้วจะเน้นให้มีรูปร่างบางและเป็นเส้นตรง เพราะได้แรงบันดาลใจมาจาก Clara Bow (คลารา โบว์) นักแสดงชื่อดังในสมัยนั้น

‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม Clara Bow (VOUGE)

ด้านช่างแต่งหน้าและเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางชื่อดัง Bobbi Brown (บ็อบบี บราวน์) เล่าถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของคิ้วว่า ในช่วงยุค 60 คิ้วยังมีรูปร่างบางและค่อนข้างเล็ก แต่ต่อมาในยุค 70 ด้วยอิทธิพลแฟชั่นแนวฮิปปี้ทำให้คนเริ่มเขียนคิ้วให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น และเมื่อมาถึงยุค 80 ก็เปลี่ยนมานิยมทรงคิ้วที่เน้นหัวคิ้วให้ดูเข้มและเต็มมากขึ้น โดยมีต้นแบบมาจากดาราดัง Brooke Shields (บรูก ชีลด์ส) ก่อนจะเปลี่ยนไปอีกครั้งในช่วงปี 1990 โดยช่างแต่งหน้า Francois Nars (ฟรองซัวส์ นาร์) ที่เน้นให้คิ้วมีเส้นเล็กลง

‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม

Brooke Shields (Allure)

หลังจากนั้นเทรนด์ของคิ้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย แต่หนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เรื่องราวของคิ้วได้รับความสนใจมากขึ้นก็คือ เหล่าเซเลบริตี้ด้านความงามผู้ทรงอิทธิพลที่มีทรงคิ้วโดดเด่นเป็นเอกลัษณ์ และทำให้หลายคนอยากทำตาม ไม่ว่าจะเป็น คิ้วทรงเรขาคณิตแบบหนาๆ ของ Kim Kardashian (คิม คาร์แดเชียน) หรือ คิ้วแบบขนนกของ Cara Delevigne (คารา เดเลวีน) จึงเป็นที่มาว่าทำไมสมัยนี้ผู้คนจึงเลือกใช้บริการร้านเสริมสวยให้คิ้วโดยเฉพาะ จนกลายเป็นที่มาของรายได้สุดอู้ฟุ่ของอุตสาหกรรมความงามเกี่ยวกับคิ้วในภาพรวม

จากปรากฏการณ์ “คิ้วคือมงกุฎของใบหน้า” ส่งผลให้เครื่องสำอางหลายแบรนด์ต่างพากันออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคิ้วอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าพูดถึงแบรนด์ที่โดดเด่นในเรื่องของ “คิ้ว” แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง Anastasia Beverly Hills และ Benefit Cosmetics ซึ่งเป็นเจ้าแรกๆ ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคิ้วที่มีรูปแบบเฉพาะตัว

‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม Kim Kardashian (NBC News)

‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม Cara Delevigne (Allure)

  • ยักษ์ใหญ่วงการคิ้ว “Anastasia Beverly Hills” และ “Benefit Cosmetics”

หนึ่งในตัวตั้งตัวตีของธุรกิจแบบคิ้วๆ เริ่มต้นจากนักธุรกิจหญิง “Anastasia Soare” หรือ อนาสตาเซีย โซอาเร ที่เปิดตัวแบรนด์ “Anastasia Beverly Hills” โดยเธอมองว่าการเขียนคิ้วที่สมบูรณ์แบบมีหลายปัจจัย เพราะต้องอาศัย “สัดส่วนทองคำ” ที่ประกอบไปด้วย มุม กราฟ และเศษส่วน ซึ่งเป็นรูปทรงคิ้วที่เธอใช้เวลาพัฒนาขึ้นเองมานานหลายปี และมีการจดสิทธิบัตรไปแล้วเรียบร้อย

แม้ว่า Anastasia จะไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจความงามตั้งแต่แรก เพราะเธอเกิดที่โรมาเนีย ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่ ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งในตอนนั้นเธอยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และไม่มีเงินทุน ก่อนไปทำงานที่ร้านเสริมสวย และเริ่มมีชื่อเสียงด้านการแว็กซ์ขนที่ตอนนั้นดาราดังหลายคนกำลังนิยม “บิกินีแว็กซ์”

จากนั้นเธอจึงมองว่าการจัดการขนคิ้วให้สวยได้รูป คือ การโฆษณาแบบเดินได้ และหลังจากนั้น ก็เกิดการพูดถึง “ปากต่อปาก” ในหมู่คนดัง ทำให้เธอมีชื่อเสียงในเรื่องการเสกคิ้วให้สวยเป๊ะ

ด้วยความที่มีคนต้องการใช้บริการตกแต่งทรงคิ้วเป็นจำนวนมาก ทำให้ในปี 1992 Anastasia เปิดร้านให้บริการเสริมสวยคิ้วขึ้นมา โดยตั้งอยู่ตรงข้าม Neiman Marcus ใน Beverly Hills ต่อมาเธอได้ขยายช่องทางธุรกิจด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ความงามที่เน้น “คิ้ว” เป็นหลัก จนห้างสรรพสินค้า Nordstrom ติอต่อมาเพื่อขอนำสินค้าไปวางขาย หลังจากนั้น Anastasia Beverly Hills ก็ได้เปิดตัวสินค้าของเธอในร้านค้าถึง 20 แห่ง โดยเธอเดินทางไปแต่ละสาขาด้วยตัวเองเพื่อฝึกอบรมพนักงานประจำสาขาด้วย

‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม Anastasia Soare ที่ Anastasia Beverly Hills สาขาแรก (Harpers Bazaar)

หลังจากนั้นในปี 1997 Anastasia Beverly Hills ขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้บริการดูแลคิ้ว แว็กซ์ขน และแต่งหน้า รวมถึงขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจอย่างเป็นทางการ

ปัจจุบัน “Anastasia Beverly Hills” ออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคิ้วหลากหลายรูปแบบ ให้ทุกคนสามารถเลือกวาดคิ้วได้ตามความเหมาะสมของสัดส่วนใบหน้า และความถนัดได้เองที่บ้าน

‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม เครื่องสำอางสำหรับคิ้วของ Anastasia Beverly Hills (Anastasia Beverly Hills)

ความอลังการงานคิ้วของ Anastasia Beverly Hills ทำให้แบรนด์นี้สามารถสร้างรายได้มากถึง 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 และปัจจุบันเป็นแบรนด์เครื่องสำอางที่มียอดขายสูงที่สุดในร้านมัลติแบรนด์ชื่อดัง Sephora และ Ulta Beauty โดยผลิตภัณฑ์ขายดีที่สุดคือ “ดินสอเขียนคิ้ว” ที่มีถึง 12 เฉดสี จนมีการประเมินว่าสินค้าชนิดนี้ขายได้ประมาณ 1 แท่ง ในทุกๆ 10 วินาที

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ฐานข้อมูลผู้บริโภคระบุว่า ในสหรัฐอเมริกาผลิตภัณฑ์เขียนคิ้ว Anastasia Beverly Hills มียอดขายมากที่สุดในเครื่องสำอางประเภทเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากการประเมินของ Forbes รายงานด้วยว่า มูลค่าของ Anastasia Beverly Hills ในเดือน พ.ค. 2023 มีมากถึง 500 ล้านดอลลาร์

อีกแบรนด์หนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะมีไลน์เครื่องสำอางเกี่ยวกับคิ้วเป็นจำนวนมาก ก็คือ “Benefit Cosmetics” ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกไม่แพ้กัน

แบรนด์ Benefit Cosmetics เปิดตัวในฐานะร้านค้าเครื่องสำอางพร้อมบริการตัดแต่งทรงคิ้ว ตั้งแต่ปี 1976 โดยฝาแฝด Jean & Jane Ford ในซานฟรานซิสโก หลังจากนั้นแบรนด์ก็ให้ความสำคัญกับ “คิ้ว” มาโดยตลอด ซึ่งในปี 2016 มีการเปิดตัวคอลเลกชันเกี่ยวกับคิ้วมากถึง 45 รายการ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจากคิ้ว

‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม

เครื่องสำอางสำหรับคิ้วของ Benefit Cosmetics (Benefit Cosmetics)

ภายในปี 2022 Benefit Cosmetics ทำยอดขายทั่วโลกได้ถึง 23.9 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว แบรนด์มีรายได้จากช่อง YouTube มากถึง 6,000 ดอลลาร์ ในปัจจุบันแบรนด์มีมากกว่า 3,000 สาขา ใน 59 ประเทศทั่วโลก และทุกสาขามีผู้ให้บริการด้านความงามโดยเฉพาะเรื่อง “คิ้ว” ที่ได้รับการอบรมเฉพาะด้านมาแล้วเพื่อคอยดูแลลูกค้า

นอกจากนี้ “Benefit Cosmetics” ยังการันตีว่าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคิ้วของตนเอง เป็นอันดับหนึ่งในโลก (แบรนด์อ้างอิงจากประมาณการยอดขายปลีกผลิตภัณฑ์คิ้วทั่วโลก ณ เดือน ม.ค. 2019-ธ.ค.2020) และยังเป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องสำอางภายใต้เครือ Moët Hennessy Louis Vuitton (LVMH) ที่เรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรแฟชั่นและความงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็ว่าได้

สำหรับเครื่องสำอางจากหมวด “สินค้าขายดี” ทั้งหมด 23 รายการ เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคิ้วไปแล้ว 5 รายการ ได้แก่ Precisely , My Brow Pencil ดินสอเขียนคิ้ว 12 เฉดสี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดของแบรนด์, 24-Hour Brow Setter Clear Brow Gel มาสคาร่าใสจัดทรงคิ้ว, Gimme Brow+ Volumizing Eyebrow Gel ที่ปัดคิ้ว 12 เฉดสี, Brow Microfilling Pen ที่เขียนคิ้วที่เน้นความเรียวเล็ก 4 เฉดสี และ Goof Proof Eyebrow Pencil ดินสอเขียนคิ้ว 12 เฉดสี โดยสินค้าทั้ง 5 รายการ มีราคาอยู่ที่ชิ้นละ 31 ดอลลาร์

‘คิ้ว’ ไม่ใช่แค่มงกุฎใบหน้า แต่เป็นที่มา ‘รายได้’ มหาศาลของธุรกิจความงาม บริการจัดแต่งทรงคิ้ว (Benefit Cosmetics)

นอกจากนี้การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคิ้วของ Benefit Cosmetics ก็ไม่จำเป็นต้องไปถึงร้านแล้ว เพราะสามารถทดลองสีของเครื่องสำอางผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้แล้ว เพียงแค่ถ่ายรูปและอัปโหลดผ่านระบบ ก็สามารถเลือกเครื่องสำอางได้จากที่บ้าน

เรียกได้ว่ามาแรงสุดๆ สำหรับธุรกิจความงามเกี่ยวกับ “คิ้ว” ในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยเองก็มีร้านเสริมสวยที่ให้บริการด้านคิ้วโดยเฉพาะเป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในท้องตลาด แต่ก็ต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้ธุรกิจเหล่านี้จะมีความยั่งยืน หรือพัฒนาต่อไปได้มากแค่ไหน

อ้างอิงข้อมูล : CNNForbesHarpers BazaarAnastasia Beverly Hills, Rocker Reach, Stat Smash และ Benefit Cosmetics