ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย.

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย.

ตามตำนานยุทธหัตถีและพระราชประวัติ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ไปกับผลงานจิตรกรรมภายในวิหาร วัดสุวรรณดาราราม ผลงานของพระเสวกตรีพระอนุศาสน์จิตรกร ต้นแบบภาพคุ้นตาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทย

วัดสุวรรณดาราราม อาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ถ้าใครได้เข้ามาแล้วจะรับรู้ได้ถึงความน่าตื่นตาของภาพจิตรกรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกภายในวิหาร ผลงานของ พระมหาเสวกตรีพระอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ที่หลายคนคุ้นตาแต่อาจไม่รู้เลยว่า ภาพวาดตำนานยุทธหัตถีที่เราเห็นในตำราเรียนนั้นอยู่ภายในวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา นี่เอง

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย. ภายในวิหาร วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา

วัดสุวรรณดาราราม เดิมชื่อว่า “วัดทอง” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยพระชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  หลังสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้วเสร็จ

ทรงรวบรวมช่างฝีมือจากกรุงเก่ามาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดที่ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งเสียกรุงขึ้นมาใหม่ พระราชทานนามว่า วัดสุวรรณดาราราม เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระชนก (ทองดี) และพระชนนี (ดาวเรือง) นับเป็นอารามชั้นเอกของต้นราชวงศ์จักรีที่ได้รับการบูรณะและสร้างเพิ่มเติมจากพระมหากษัตริย์ตลอดมา

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย. ภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา บริเวณเหนือขอบประตูด้านหน้าของพระประธาน

สำหรับภาพจิตรกรรมภายในวิหารที่กลายมาเป็นต้นแบบของตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยนั้น เป็นผลงานของ พระมหาเสวกตรีพระอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ผู้มีฝีมือในศิลปะทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ (ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการร้านถ่ายรูปฉายานรสิงห์ ร้านถ่ายรูปหลวง) นักออกแบบฉาก เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงช่างแต่งหน้าละคร

หากงานที่เชี่ยวชาญมาก คือ การเป็นช่างเขียนภาพ  มีผลงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลให้ว่า “จิตรกร”

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย. จิตรกรรมด้านบนแสดงภาพเทพชุมนุม ระหว่างช่องหน้าต่างแสดงภาพพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ตามประวัติพระอนุศาสน์จิตรกรที่ปรากฏในหนังสือ “เที่ยวนครวัด นครธม เมื่อพ.ศ.2467” กล่าวถึงผลงานจิตรกรรมภายในวิหารวัดสุวรรณดารารามว่า เป็นงานที่สร้างขึ้นระหว่างปีพ.ศ. 2473- 2474 ขณะอายุ 59 ปี ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ไปเขียนภาพประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ การกู้อิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช งานนี้ต้องใช้ความอุตสาหะในการค้นคว้าหาหลักฐาน เขียนตามความนึกคิดของท่านเองที่ได้เค้ามาจากประวัติศาสตร์

เมื่อร่างแบบเขียนตอนใดก็นำไปถวายหารือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อทรงพิจารณาก่อนนำไปเขียนทุกครั้ง

ดังนั้นงานชิ้นนี้จึงนับได้ว่ามีความสมบูรณ์และใกล้เคียงประวัติศาสตร์มากที่สุด และเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานซองบุหรี่ทองคำลงพระปรมาภิไธยเป็นรางวัล”

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย. ภาพเทพชุมนุมแบบดั้งเดิมภายในโบสถ์ วัดสุวรรณดาราราม

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย. ภาพเทพชุมนุมภายในวิหารวัดสุวรรณดารารามมีลักษณะผสมผสานระหว่างบุคคลจริงกับอุดมคติ

นอกจากเนื้อหาของภาพจิตรกรรมในวิหารที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก มาเป็นพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์แล้ว

เทคนิคในการเขียนภาพก็มีความแตกต่างไปจากขนบเดิม เช่น การใช้สีน้ำมันแทนสีฝุ่น การนำเทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตกที่มีระยะใกล้ไกล ภาพบุคคลมีกล้ามเนื้อแบบกายวิภาค

ดังจะเห็นได้จากภาพเทพชุมนุมที่อยู่ทางด้านบน ที่มีรูปลักษณ์ผสมผสานระหว่างบุคคลจริงกับอุดมคติได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกราวกับกำลังล่องลอยเคลื่อนไหวอยู่บนก้อนเมฆและท้องฟ้า

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย. พระสยามเทวาธิราชทูลอัญเชิญพระอิศวรแบ่งภาคลงมาอุบัติลงบนโลกมนุษย์

ในขณะที่ภาพพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่อยู่ทางตอนล่างมีการแบ่งเนื้อหารวม 20 ตอน แต่ละตอนมีอักษรเขียนอธิบายเหตุการณ์สั้นๆไว้ที่ใต้ภาพ

เริ่มตั้งแต่ภาพที่ 1 (มุมด้านซ้ายมือของพระประธาน) พระสยามเทวาธิราชทูลอัญเชิญพระอิศวรแบ่งภาคลงมาอุบัติลงบนโลกมนุษย์ หมายถึงการจุติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ไล่เรียงเหตุการณ์ ไปจนเสด็จสวรรคต

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย. สมเด็จพระนเรศวรชนไก่กับมังสามเกียด

โดยมีเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ภาพสมเด็จพระนเรศวรชนไก่กับมังสามเกียด (พระมหาอุปราชา) ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง พ.ศ.2127 พิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อหน้าพระอจนะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิภายในวัดศรีชุม จ.สุโขทัย ภาพทรงคาบพระแสงดาบปีนค่ายพม่าอันเป็นที่มาของพระแสงดาบคาบค่าย เป็นต้น

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย. ภาพจิตรกรรมสงครามยุทธหัตถี วาดด้วยสีน้ำมัน ผลงานพระเสวกตรีพระอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) คุณตาของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช

สำหรับภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ซึ่งถือได้ว่ามีความสำคัญที่สุด จะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับพระประธาน ในภาพนี้เราจะได้เห็นเหตุการณ์ขณะเท้าหลังของเจ้าพระยาไชยานุภาพช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยันตอต้นพุทราไว้ทำให้มีหลักมั่นคง มีกำลังแรงเสยพลายพัทกอช้างทรงของพระมหาอุปราชาถนัด

ทำให้สมเด็จพระนเรศวรได้จังหวะจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาที่ไหล่ขวาขาดจนสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ตรงตามตำราที่ได้ร่ำเรียนมาไม่ผิดเพี้ยน

ชวนชมจิตรกรรมยุทธหัตถี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรฯ 25 เม.ย. ภาพทรงคาบพระแสงดาบปีนค่ายพม่าอันเป็นที่มาของพระแสงดาบคาบค่าย

พระเสวกตรีพระยาอนุศาสน์จิตรกรใช้เวลา 2 ปีเต็มในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมที่แสดงให้เห็นพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจสำคัญของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในเทคนิคแบบตะวันตกที่ทำให้เราได้เห็นภาพเหตุการณ์ในอดีตได้อย่างแจ่มชัด มีลักษณะเหมือนจริง มีระยะใกล้ไกล มีต้นไม้และท้องฟ้าที่ดูเหมือนธรรมชาติ บุคคลมีกล้ามเนื้อเหมือนคนจริงๆ  และนำสีน้ำมันมาใช้แทนสีฝุ่นแบบดั้งเดิม

กล่าวได้ว่าเป็นงานที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้น และยังคงสืบทอดความงดงามอลังการมาจนถึงยุคนี้

ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของไทย เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 25 เมษายน 2567

ภาพ : สุธี - ลักขณา คุณาวิชยานนท์

 

  • อ้างอิง : “เที่ยวนครวัด นครธม เมื่อพ.ศ.2467” โดย พระยาอนุศาสน์จิตรกร , ภริยาและบุตร จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระเสวกตรีพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม พ.ศ.2493
  • “จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม” โดย วาสนา พบลาภ,สารนิพนธ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย ม.ศิลปากร
  • “แนวคิดการออกแบบจิตรกรรมเทพชุมนุม ฝีมือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ในพระวิหารหลวงวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร” โดย ธนากร เพ็ญพาด ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย ม.ศิลปากร