จะดีไหมถ้าเรามีถังหมักทำปุ๋ยจากขยะเศษอาหาร ที่ลดโลกร้อนได้

จะดีไหมถ้าเรามีถังหมักทำปุ๋ยจากขยะเศษอาหาร ที่ลดโลกร้อนได้

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ขยะอินทรีย์ที่รวมเอาเศษอาหารเข้าไว้ด้วยนี้ สามารถก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

 เฉพาะในปี พ.ศ. 2554 เพียงปีเดียวขยะไทยที่เน่าอยู่ตามที่ต่างๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากถึง 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ CO2 equivalent

ดังนั้น ถ้าเรามีอุปกรณ์หรือถังอะไรสักอย่างที่เอามาใช้ย่อยขยะอินทรีย์ให้กลายเป็นปุ๋ยและลดโลกร้อนไปพร้อมกันได้ด้วยก็น่าจะดี  

ในปัจจุบันได้มีการผลิตถังที่ว่านี้ออกมาจำหน่ายกันทั่วโลกแล้ว ถังสำเร็จรูปประเภทนี้ทำงานโดยอัดอากาศเข้าไปในถังและให้จุลินทรีย์ชนิดที่ใช้อากาศในการดำรงชีวิต มาย่อยสลายขยะหรือเศษอาหารนั้น  รวมทั้งมีอุปกรณ์พลิกกลับกองเพื่อให้เกิดการผสมกันให้ทั่ว  ให้ปฏิกิริยาย่อยขยะเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น  

ถังแบบนี้มีของหลายบริษัท ถังซึ่งขนาดใหญ่พอที่เอาไว้ใช้ย่อยเศษอาหารในแต่ละบ้านได้อาจราคาสูงถึงหลายหมื่นบาท และต้องเสียบปลั๊กใช้ไฟฟ้า ทำให้มีค่าเดินเครื่องและบำรุงรักษาแยกออกมาอีกต่างหาก

หากมีคนหลายๆ คนคิดเหมือนบ้านผม คือ ใช้หลักกินไม่ให้เหลือเศษอาหาร ถ้าเหลือก็ต้องให้มีน้อยที่สุด  ส่วนที่เป็นน้ำ เช่น น้ำแกง น้ำมัน ก็แยกทิ้งลงถังดักไขมันไป จึงมีปริมาณขยะเศษอาหารในแต่ละวันไม่มาก

เราก็ควรจะเลือกถังย่อยฯ ที่ขนาดเล็กกว่าและราคาถูกกว่าถังสำเร็จรูปพวกนั้น รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าไฟและค่าซ่อมอุปกรณ์

ถ้าจะเอาสวยด้วยก็เลือกแบบที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาอันเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ฝีมือสูงพอควร (ดูรูป) เมื่อเป็นของสวยงามหากเอาไปตั้งไว้ในสวนดอกไม้ก็จะให้ความรู้สึกกลมกลืนเป็นมิตรกับต้นไม้ในสวน ผมจึงเลือกที่จะใช้ถังแบบนี้ไว้ใช้งานที่บ้าน

ด้วยเหตุผลที่ว่า ขยะอาหารบ้านผมมีไม่มาก รวมทั้งถังนี้มันดีต่อโลกและดีต่อใจมากกว่าที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ คือ การทำงานของถังดินเผาย่อยขยะนี้เป็นแบบใช้อากาศ คือ มีออกซิเจนอยู่ในถัง แบบเดียวกับถังราคาแพงที่พึ่งกล่าวมา  จุลินทรีย์ในถังจะใช้ออกซิเจนในการย่อยเศษอาหาร เปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

จะดีไหมถ้าเรามีถังหมักทำปุ๋ยจากขยะเศษอาหาร ที่ลดโลกร้อนได้

จึงอาจทำให้มีคนสงสัยว่าถ้าเช่นนั้นวิธีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนักเพราะก๊าซ CO2 ก็เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนด้วย มิใช่หรือคงต้องอธิบายต่อ ถ้าไม่มีออกซิเจนในกองขยะ ขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์อื่นๆในกองขยะก็จำต้องถูกย่อยในรูปแบบที่ไร้ออกซิเจน และจุลินทรีย์ต้องเป็นอีกประเภทคือเป็นจุลินทรีย์ชนิดไม่ใช้ออกซิเจน  ปัญหาที่เกิดขึ้นคือขยะจะเน่าและเหม็น   

ปัญหาอีกอย่างที่สำคัญมากในแง่โลกร้อนคือ การย่อยขยะในกองขยะแบบไร้ออกซิเจนเช่นนี้จะไม่ปล่อยก๊าซ CO2 ออกมาเป็นผลผลิตเพียงอย่างเดียว  แต่จะผลิตก๊าซอีกชนิดหนึ่งออกมาด้วย มีชื่อเรียกว่า ก๊าซมีเทน อันมีสูตรทางเคมีว่า CH4  ปกติอัตราส่วน CO2 : CH4 จะเท่ากับประมาณ 50 : 50 หรืออย่างละครึ่ง

 ก๊าซ CH4 นี้เป็นก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกับก๊าซ CO2  แต่ต่างกันตรงที่มันมีอิทธิฤทธิ์ในการทำให้โลกร้อนได้มากกว่า CO2 ถึง 28 เท่าเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์  

ถ้าเราเปลี่ยนจากขยะเน่าเหม็นในหลุมขยะที่ไม่มีอากาศ เป็นถังหมักทำปุ๋ยแบบใช้อากาศ จุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนในถังจะเปลี่ยน CH4 ไปเป็น CO2 ซึ่งมีผลกระทบน้อยกว่า CH4 ถึง  28 เท่าดังที่กล่าวมา ผลผลิตจากระบบนี้นอกจากปุ๋ยที่ต้องการแล้ว ในทางทฤษฎีจึงมีแต่ก๊าซ CO2 ออกมาเพียงอย่างเดียว   

ดังนั้น ในปริมาณ 1 กิโลกรัมของขยะเศษอาหารที่เท่ากัน เราจะลดต้นเหตุของการทำให้โลกร้อนลงไปได้มากถึงประมาณ 14 เท่า   (หมายเหตุ : ในหลุมกองขยะไม่มีออกซิเจน จึงย่อยแบบไร้ออกซิเจนและปล่อยก๊าซ CO2 และ CH4 ออกมาอย่างละครึ่ง แต่ถังหมักฯแบบใช้อากาศจะเปลี่ยน CH4 เป็น CO2  

ถังแบบหลังจึงปล่อยก๊าซ CO2 ออกมาเพียงอย่างเดียว แต่มาจาก 2 ส่วน คือ จากของตัวเองหนึ่งส่วนและจากการเปลี่ยนรูป CH4 ไปเป็น CO2 อีกหนึ่งส่วน รวมเป็น 2 ส่วน  การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือต้นเหตุของโลกร้อนกรณีนี้จึงเท่ากับ 28 หารด้วย 2   ซึ่งเท่ากับประมาณ 14 เท่า)

ข้อดีอีกข้อคือก๊าซออกซิเจนนี้เราได้มาฟรีเพราะมีอยู่แล้วในอากาศ สำหรับกรณีถังดินเผาที่ผมพูดถึง เราก็เพียงทำช่องเปิดไว้ด้านล่าง ให้อากาศไหลเข้ามาได้ ก็จบ  แม้ประสิทธิภาพจะสู้แบบเครื่องราคาหลายหมื่นบาทนั้นไม่ได้  แต่ก็ใช้งานง่าย ไม่มีค่าไฟ ไม่มีค่าบำรุงรักษา

ข้อดีที่สำคัญมากคือข้อดีทางการเงิน เพราะการลดสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนด้วยวิธีนี้สามารถคิดและขายเป็น “คาร์บอนเครดิต” ได้ด้วย

แต่ถ้าผมทำเพียงแค่บ้านเดียวได้ผลก็คงนิดเดียว จะไม่คุ้มที่จะจ้างคนมาวัดว่าลดก๊าซเรือนกระจก CH4 ไปได้มากน้อยเพียงใด ทว่าถ้าทุกบ้านช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ ทำกันทุกหมู่บ้านทุกตำบล ประเทศก็จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นหมื่นเป็นแสนตันต่อปี

แบบนี้ก็จะลดปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมเห็นได้ชัด และคุ้มที่จะจ้างคนมาตรวจสอบอย่างเป็นมาตรฐาน ว่าลดไปได้จริงเท่าไร และคำนวณเป็นมูลค่าคาร์บอนเครดิตได้เท่าไร รวมทั้งประเทศเอาไปอ้างกับนานาชาติได้ว่าไทยเราลดโลกร้อนจากตรงนี้ได้เท่าไร

จึงอยากชักชวนให้มาทำกัน  หรือพวกบริษัทห้างร้านจะทำเป็น CSR ก็ได้นะครับ  เชียร์เลย.